ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือตอบแสดงความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐฯ ดังนี้
ที่ TAF. 01/225/62
7 กุมภาพันธ์ 2562
เรื่อง ขอให้ข้อมูลเพื่อพิจารณาศึกษา พ.ร.บ.การประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐฯ
เรียน พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ ประธานคณะกรรมการพิจารณา
ศึกษาร่างพระราชบัญญัติการระเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐฯ
อ้างถึง หนังสือที่ สว.(สนช)(กมธ 1) 0009/ ลว. 6 กุมภาพันธ์ 2562
ตามที่ท่านได้ให้ความกรุณาเชิญกระผมเข้าร่วมประชุมในนามของมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ตามเรื่องข้างต้น กระผมมีความเห็นดังนี้:
1. มาตรา 5 ระบุว่าร่าง พ.ร.บ.นี้เพื่อให้นำไปใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงหรือเป็นฐานในการจัดเก็บภาษีอากรและค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายหรือเพื่อใช้ประโยชน์อย่างอื่นของรัฐ คำว่า "ประโยชน์อย่างอื่นของรัฐ" หมายรวมถึงการเวนคืนที่ดินด้วยหรือไม่ หากใช่ ก็ไม่ควรเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ แต่ควรว่าจ้างบริษัทประเมินค่าทรัพย์สินเป็นผู้ดำเนินการและให้สำนักประเมินราคาทรัพย์สินกรมธนารักษ์ เป็นผู้ตรวจสอบ เพื่อไม่เป็นการเพิ่มภาระแก่สำนักงานฯ
2. การให้มีการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐทั้งในส่วนกลางและในแต่ละจังหวัดเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น ควรให้ท้องถิ่นทั้ง อบต. เทศบาล อบจ.เป็นผู้ประเมินเอง โดยการว่าจ้างบริษัทประเมินไปดำเนินการ และให้ท้องถิ่นตรวจรับ เพื่อเป็นการดำเนินงานในลักษณะจากท้องถิ่น ไม่ใช่จากบนลงล่าง
3. กรณีที่จะมีคณะกรรมการมากำกับใด ๆ ตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่ควรเป็นผู้ที่รัฐมนตรีตั้งไปตามความคุ้นเคยส่วนตัว แต่ควรให้สภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สิน หรือให้ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินเลือกตั้งกันเองให้มาเป็นคนกลาง แทนการแต่งตั้งจากคนใกล้ชิดทางการเมือง
4. การประเมินค่าทรัพย์สินจะง่ายและเชื่อถือได้มากขึ้นเมื่อมีการเปิดเผยข้อมูลความเป็นเจ้าของและการซื้อขายทรัพย์สิน ซึ่งจะยังประโยชน์ในการป้องกันการฟอกเงินอีกด้วย ข้ออ้างที่กลัวจะเป็นข้อมูลส่วนบุคคลนั้น เป็นเพียงข้ออ้างที่ไม่ต้องการความโปร่งใส ในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย
5. ทุกวันนี้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานก็มีราว 300 คน ไม่เพียงพอต่อการดำเนินงานประเมินค่าทรัพย์สินอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็ไม่ควรขยายจนเกินไป ควรให้ท้องถิ่นว่าจ้างและเก็บภาษีทรัพย์สินมาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นเป็นหลัก ซึ่งจะทำให้การประเมินเพื่อจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพมากขึ้น
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ขอแสดงความนับถือ
(ดร.โสภณ พรโชคชัย)
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย