หลายคนชอบซื้อห้องชุดติดรถไฟฟ้า ดร.โสภณ ก็ยืนยันว่าสินค้ารถไฟฟ้าเหล่านี้ดีกว่าแน่นอน แต่ไม่ใช่ว่าทุกทำเลรถไฟฟ้าจะดีหมด มาดูบทเรียนสุดชอกช้ำของรถไฟฟ้าสายสีม่วงบางบัวทองเสียก่อน
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะศูนย์ข้อมูลที่สำรวจมาตั้งแต่ปี 2537 และมีฐานข้อมูลที่ละเอียด-ชัดเจนที่สุด แถลงว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 (กรกฎาคม-ธันวาคม) มีการเปิดตัวโครงการใหม่ๆ ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงบริเวณ N4: บางบัวทอง ถึง 4,432 หน่วย แต่เป็นห้องชุดเพียง 74 หน่วย ส่วนใหญ่ที่เปิดขายกลับเป็นทาวน์เฮาส์ 2,279 หน่วย บ้านแฝด 1,357 หน่วย และบ้านเดี่ยว 698 หน่วย
ปรากฏการณ์นี้ชี้ให้เห็นว่าห้องชุดคงไม่เป็นที่ต้องการของตลาดในเวลานี้ เนื่องจากเมื่อ 3-5 ปีก่อน เปิดห้องชุดมากเป็นพิเศษ จนทำให้ล้นตลาด แต่เมื่อเปิดเพียง 74 หน่วย ก็ปรากฏว่าขายได้เกือบหมดแล้ว เป็นการสอดคล้องกับอุปสงค์ในพื้นที่นั่นเอง หากยังเปิดตัวกันมากมายเช่นแต่ก่อน ก็คงทำให้เกิดการล้นตลาดต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2559 ดร.โสภณ เคยเตือนไว้แล้วว่ารถไฟฟ้าสายสีม่วงอาจมีผู้ใช้บริการจำกัด แต่ราคาที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าตลอด 13 ปีที่ผ่านมา (2547-2559) เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 9% เพราะอานิสงส์จากการพยายามสร้างรถไฟฟ้าสายนี (http://bit.ly/29enVGn) ผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินก็อาศัยรถไฟฟ้าสายนี้เป็นจุดขาย แต่ถ้าผู้ซื้อไม่ได้มาอยู่จริงจะทำอย่างไร
โดยนัยนี้การสร้างรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ เช่น สายสีชมพู สายสีส้ม ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาซ้ำรอยได้เช่นกัน ผู้ซื้อจึงพึงสังวร โดยเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2560 ดร.โสภณ ตั้งคำถามว่า "ถ้าสร้างรถไฟสายสีชมพูแล้วไม่มีคนนั่งแบบสายสีม่วง ใครจะรับผิดชอบ" (https://bit.ly/2rx3PC7) นอกจากนั้นในกรณีรถไฟฟ้าในจังหวัดภูมิภาค ยิ่งมีโอกาสจะประสบปัญหาเพราะความหนาแน่นของประชากรยิ่งน้อยกว่าในกรุงเทพมหานครเสียอีก