แก้ความจนแบบจีน ที่ไทยทำไม่ได้?
  AREA แถลง ฉบับที่ 78/2562: วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวว่าทางราชการไทยจะพยายามแก้ปัญหาความยากจนในประเทศไทยโดยศึกษาแบบอย่างจากจีน จีนนั้นทำได้สำเร็จจริง แต่ประเทศไทยทำไม่ได้แน่นอน อย่างน้อยก็ทำไม่ได้ในรัฐบาลชุดนี้ ทำไมเป็นเช่นนั้น

            ผมพบคนจีนแผ่นดินใหญ่ตั้งแต่ปี 2529 โดยเพื่อนๆ คนจีนของผมในสมัยนั้นที่เป็นข้าราชการปริญญาตรีได้เงินเดือนๆ ละ 800 บาท (ในขณะที่ไทยประมาณ 3,000 บาท) แต่ตอนนี้ต่างพวกเขารับเงินเดือนละ 22,242 บาท (https://bit.ly/2CBZ4va) ในขณะที่ไทยอยู่ที่ 15,000 บาท นี่แสดงถึงการพัฒนาอย่างยิ่งยวดของจีน ในสมัยที่ตายายของผมหอบครอบครัวมาประเทศไทยเมื่อ 80 ปีก่อน ยิ่งยากจนกระทั่งกินเนื้อสุนัข กินรากไม้ก็มี และเมื่อ 40 ปีก่อน คนไทยไปเยี่ยมญาติที่ประเทศจีนยังแบกจักรยานไปให้คนจีน นับว่าคนจีนสมัยนั้นยากจนข้นแค้นเป็นอย่างมาก แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว

            ธนาคารโลกเคยประเมินไว้ว่า จีนมีคนยากจนอยู่ราว 500 ล้านคนหรือราว 88% ของคนจีนในปี 2524  แต่ ณ ปี 2555 คนจีนที่มีชีวิตด้วยรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนเหลือเพียง 6.5% เท่านั้น  การแก้ไขปัญหาความยากจนเริ่มในราวช่วงปี 2520 และในช่วงปี 2533-2543 ในระยะ 10 ปีนี้รายได้ประชาชาติต่อหัวเพิ่มจาก 6,600 บาทต่อปี เป็น 33,000 บาท  ในช่วงปี 2543-2553 เพิ่มขึ้นเป็น 165,000 บาท อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นปีละมากกว่า 10% จีนมุ่งหวังที่จะขจัดความยากจนลงให้ได้ในปี 2573  ส่วนของไทยก็ยังไม่มีแนวโน้มใดๆ  (https://bit.ly/2RH0Fdt)

            นโยบายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยประการหนึ่งของจีนก็คือ มีการเวนคืนกันขนานใหญ่ ทำให้ประชาชนต้องโยกย้ายที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก คนจนเมืองที่เคยอยู่อาศัยในที่อยู่อาศัยแนวราบ ก็ย้ายขึ้นแฟลตที่มีสภาพการอยู่อาศัยที่มีคุณภาพสูงกว่า  รัฐบาลสร้างให้ (แทบ) ฟรีไปเลย แต่มีระยะเวลาการอยู่อาศัยที่จำกัดเช่น 50 หรือ 70 ปี ไม่ใช่ให้อยู่ชั่วกัลปาวสาน ทั้งนี้เพื่อแลกเปลี่ยนกับที่ตั้งเดิมที่อยู่ในใจกลางเมือง เพื่อนำมาพัฒนาใหม่ในเชิงพาณิชย์เป็นต้น

            สำหรับในชนบทอันไพศาลของจีนนั้น ได้รับการแปลงให้เป็นเมืองมากยิ่งขึ้นผ่านการเชื่อมต่อด้วยรถไฟความเร็วสูง ประชากรในชนบทของจีนเคยมีสูงถึง 84% ในปี 2503 หรือแสดงว่ามีประชากรเมืองเพียง 16% เท่านั้น ปรากฏว่าในปี 2560 ประชากรในชนบทมีสัดส่วนเพียง 42% หรือแสดงว่าประชากรเมืองของประเทศจีนเพิ่มขึ้นเป็นส่วนใหญ่ถึง 58% นั่นเอง (https://bit.ly/2W9oaun)  การดูดคนที่อยู่ในชนบทอันไพศาลมาอยู่ในเมือง มีข้อดีตรงที่:

            1. ทำให้สามารถบริหารจัดการสาธารณูปโภค และสาธารณูปการต่าง ๆ ได้ดี ต่างจากประเทศไทยที่ส่งเสริมการกระจายออกสู่ชนบท จนทำให้เรามีโรงเรียนทุกหมู่บ้าน จนปัจจุบันมีแต่โรงเรียน ต้องยุบรวม เพราะนักเรียนไม่มีหรือร่อยหรอลงมาก

            2. ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนได้มากขึ้น มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ผ่านการจัดหางานและโอกาสทางการค้าและธุรกิจ SMEs อื่นๆ

            สำหรับที่ดินในเขตชนบทห่างไกลแสนกันดารนั้น การย้ายที่อยู่อาศัยเพื่อขจัดความยากจนเป็นหนทางหนึ่ง  โดยในปี 2561 มีประชาชนประมาณ 2.8 ล้านคนได้รับการโยกย้ายที่อยู่อาศัยให้เข้าไปอยู่ในเขตเมืองแทนที่จะเป็นในถิ่นชนบทห่างไกล  ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2556-2560) ประชาชนถึงประมาณ 10 ล้านคนในถิ่นทุรกันดารไม่เหมาะสมกับการอยู่อาศัย ได้รับการโยกย้าย  โดยเฉพาะในปี 2560 มีการโยกย้ายถึงถึง 3.4 ล้านคนในปีเดียว (https://bit.ly/2RGxXcO)

            ในกรณีคนจนเมือง จีนก็สามารถเอาชนะความยากจนได้เป็นอย่างมาก คนจนเมืองส่วนหนึ่งเกิดจากการอพยพมาทำงานในเมือง อีกส่วนหนึ่งเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจที่แปลงเป็นภาคเอกชนแล้ว พวกนี้จึงอาจตกงาน อย่างไรก็ตามรัฐบาลจีนก็สามารถทำให้รายได้ของคนจนเมืองยกระดับสูงขึ้น โดยให้มีรายได้อย่างน้อย 23,100 บาทต่อคน (https://bit.ly/2dJ5F8Z) ซึ่งก็ยังสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำสำหรับคนจบมหาวิทยาลัยในประเทศไทย

            จะสังเกตได้ว่าในกรุงปักกิ่งและในนครอื่นๆ มีที่อยู่อาศัยแบบดั้งเดิมที่ดูสภาพคล้ายสลัมหรือชุมชนแออัดอยู่เป็นจำนวนมาก  แต่ในระยะ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้มีการรื้อถอนเพื่อก่อสร้างอาคารใหม่ๆ ขึ้นมากมาย โดยเฉพาะในนครเซี่ยงไฮ้ ถึงกับมีการพูดเล่นกันว่า หากจากบ้านไปเกิน 3 เดือน อาจจำทางเข้าบ้านตนเองไม่ได้ เพราะโดยรอบบ้านเปลี่ยนแปลงไปหมด การพัฒนาขนานใหญ่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

            เรื่องดีๆ ของประเทศจีนดูเป็นเรื่องน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง แต่สำหรับประเทศไทยคงทำได้ยาก หรือแทบจะทำไม่ได้ เพราะมีมารผจญมากมาย อย่างกรณีการย้ายชุมชนแออัดออกไปเพื่อพัฒนาเมืองนั้น คงได้รับการขัดขวางจากพวก NGOs มากมาย พวกนี้มีจำนวนน้อย แต่เสียงดัง และทางราชการมักฟังเสียงผู้ถ่วงความเจริญของชาติเหล่านี้เสียด้วย อันที่จริงเราควรที่จะเอาชุมชนแออัดที่อยู่ในกลางเมือง ซึ่งถือเป็น Prime Location มาพัฒนาใหม่ เอาพื้นที่ส่วนหนึ่งมาสร้างบ้านแนวสูงให้ประชาชนผู้อยู่ในพื้นที่ได้อยู่ จะได้ไม่เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตของพวกเขามากนัก 

            ทางราชการควรนำพื้นที่ส่วนที่เหลือจากการจัดเป็นที่อยู่อาศัยแนวสูงในเมืองให้ชาวชุมชนแออัด มาพัฒนา เช่น สร้างสวนสาธารณะ พัฒนาในเชิงพาณิชย์ เพื่อนำเงินมาพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาประเทศต่ออีกทีหนึ่ง เราจะสามารถจัดหาที่อยู่อาศัยให้คนจนได้ฟรีๆ แถมยังอาจได้ทุนพัฒนาวิสาหกิจ SMEs ของตนเองอีกต่างหาก เป็นการเพิ่มโอกาสการหารายได้ด้วยซ้ำไป แต่การคิดอย่างมีบูรณาการและทำเพื่อประชาชนจริงๆ มักทำได้ยาก หรือทำไม่ได้ เพราะผู้บริหารในแทบทุกระดับชั้นอาจไม่ได้เห็นแก่ผลประโยชน์ของประชาชน แต่สมคบกับเจ้าหน้าที่ เป็นต้น

            ยิ่งในกรณีชนบท จะเห็นได้ว่า ในบางพื้นที่ของชาวเขา ก็ควรได้รับการโยกย้าย เพื่อไม่ให้เกิดการทำลายป่าต้นน้ำ อย่ามาอ้างส่งเดชว่า ให้ชาวบ้านอยู่คู่กับป่า ซึ่งเป็นการคิดผิดเสมือนการ "ฝากปลาย่างไว้กับแมว" และทำให้เกิดกรณี "มือใครยาว สาวได้สาวเอา" เอาผลประโยชน์ของส่วนรวมไปใช้สอยส่วนตัวอย่างน่าละอาย อย่างไรก็ตามในบางพื้นที่ๆ เป็นแหล่งท่องเที่ยว อาจให้ทำ Home Stay ก็เป็นไปได้เช่นกัน  แต่ในพื้นที่ทุรกันดาร ไม่ควรให้ชาวบ้านฝืนอยู่ตามความเคยชิน เพราะยังจะทำให้การจัดหารบริการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ มีราคาแพงเกินไปอีกด้วย

            ถ้าทางราชการทำงานอย่างมีบูรณาการ และทำเพื่อประชาชนจริงๆ คงสามารถทำได้ในสักวันหนึ่ง

           

 "เด็กชายหิมะ" คนจนจีนในถิ่นทุรกันดารต้องเดินฝ่าหิมะไปเรียนระยะทาง 4.5 กิโลเมตร

ที่มาภาพ: https://static.posttoday.com/media/content/2018/01/10/ABAA2162232C4E8DB15580A616D2A25A.jpg

 

อ่าน 2,880 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved