ผมเดินทางไปราชบุรี ไปประชุมคณะกรรมการสมาคมผู้ซื้อบ้าน ปรากฏว่ากรรมการของเราท่านหนึ่งคือคุณวิญญู วรัญญู พาไปดูการก่อสร้างรถไฟรางคู่ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาขนานใหญ่แก่ชาวบ้านอำเภอโพธาราม และอำเภออื่นๆ เพราะเขตทางของการรถไฟจะถูกปิด ชาวบ้านต้องขึ้น "เกือกมือ" ห่างไปไกลนับกิโล จะทำอย่างไรดี
เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 นายพลยุทธ อังกินันทน์ รองนายกเทศมนตรีเมืองเพชรบุรี เป็นประธานการประชุมการแก้ไขปัญหาทางข้ามทางรถไฟทางคู่สายใต้ช่วงนครปฐม-ชุมพร ในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองเพชรบุรี โดยการประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมครั้งที่ 3 โดยที่ผ่านมา นายพลยุทธได้เสนอแบบให้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบทางข้ามและทางลอดให้ฝ่ายวิศวกรรมโยธาฯการรถไฟ ศึกษาความเป็นไปได้เพื่อให้ส่งผลกระทบต่อชาวจังหวัดเพชรบุรีน้อยที่สุด และครั้งนี้เป็นการสรุปแบบการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา (https://bit.ly/2NdbH4O)
รูปแบบการแก้ไขปัญหาทางข้ามทางรถไฟทางคู่สายใต้ช่วงนครปฐม-ชุมพร ในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองเพชรบุรี ได้ว่าโครงการฯจะมีการทำสะพานยกระดับถนนข้ามทางรถไฟในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรีจำนวน 4 จุด สร้างถนนเลียบทางรถไฟ 1 จุด ทำช่องทางลอดทางรถไฟสำหรับรถขนาดเล็ก 5 จุด ยกระดับทางรถไฟเพื่อให้ข้ามถนน 1 จุด และสร้างอาคารสถานีรถไฟเพชรบุรีใหม่
บริเวณสนามกีฬาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบุรี (ดอนคาน) จะมีการสร้างถนนเลียบทางรถไฟ ตั้งแต่ ถ.รถไฟ บริเวณหน้าโรงพยาบาลพระจอมเกล้าฯ ถึง ถ.คีรีรัฐยา สำหรับรถที่จะเข้าหมู่บ้านใต้สะพานข้ามทางรถไฟ ส่วนของอาคารสถานีรถไฟเพชรบุรี จะมีการก่อสร้างเพิ่มเติมขึ้นที่บริเวณทิศใต้ของอาคารเดิมขึ้นอีก 1 หลังเพื่อทำเป็นสถานีรถไฟแห่งใหม่ ขณะที่สถานีรถไฟหลังเก่า จะเก็บรักษาไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในทางอื่น
บริเวณแยกสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด – จ.ศ. (ถ.สายบ้านแหลมฝั่งตะวันตก) ทำเป็นสะพานยกระดับข้ามทางรถไฟ บริเวณกลางสะพานยะระดับออกแบบเป็นสามแยก รถที่มาจาก อ.บ้านแหลมสามารถวิ่งตรงไปลงที่สี่แยกที่ว่าการอำเภอเมืองเพชรบุรี ถ.ราชดำเนิน หรือ เลี้ยวซ้ายที่ทางแยกยกระดับบริเวณกลางสะพานด้านบนเพื่อลงสะพานเข้า ถ.เลียบทางรถไฟ (ฝั่งตรงข้าม หลังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี )แล้วรอเลี้ยวขวาเพื่อมุ่งหน้าสู่โรงพยาบาลพระจอมเกล้าฯ หรือเลี้ยวซ้ายไปยังตลาดธนสิทธิ์ ซึ่งบริเวณใกล้เคียงสะพานยกระดับข้ามแยกจุดนี้จะมีการสร้างสะพานลอยแบบมีทางลาดให้คน รถจักรยานยนต์ และรถจักรยาน ใช้เป็นเส้นทางข้ามทางรถไฟด้วย
เส้นทางทางลอดใต้สะพานรถไฟไปวัดน้อยไชยสุรินทร์ (ฝั่ง ต.คลองกระแชง) ทางลอดใต้สะพานนามอญ (ฝั่ง ต.ท่าราบ) เพชรบุรี ยังมีคงเดิมโดยจะมีการกดระดับถนนเดิมเพื่อให้มีระดับความสูง 2.5 เมตร บริเวณทางเข้าบ้านนามอญ (ใกล้โรงสีมานะ) มีการกดระดับถนนเดิมแล้วทำบล็อกทางลอดใต้รางรถไฟขนาด กว้าง 3 เมตร สูง 2.5 เมตร จำนวน 2 ช่องเพื่อให้รถยนต์ขนาดเล็กลอดได้
บริเวณวัดไตรโลก – กุ่มสะแก เป็นสะพานยกระดับข้ามทางรถไฟลักษณะโค้งเป็นรูปเกือกม้าทางทิศใต้ แล้ววกกลับคร่อมขวางทางรถไฟลดระดับลงมาบรรจบบริเวณสามแยก กุ่มสะแก ต.ช่องสะแก
บริเวณจุดตัดรถไฟ ซอยวัดนาค ชุมชนวัดนาค ทำบล็อกทางลอดใต้รางรถไฟขนาด กว้าง 3 เมตร สูง 2.5 เมตร จำนวน 2 ช่องเพื่อให้รถยนต์ขนาดเล็กลอดได้
บริเวณจุดตัดรถไฟ ถ.ท่าหิน-อบต.ช่องสะแก ทำบล็อกทางลอดใต้รางรถไฟขนาด กว้าง 3 เมตร สูง 2 เมตร จำนวน 2 ช่องเพื่อให้รถยนต์ขนาดเล็กลอดได้
บริเวณ ถ.เลียบคลองชลประทาน (หลังร้านอินเดียนแดง)เป็นสะพานยกระดับข้ามทางรถไฟลักษณะโค้งเป็นรูปเกือกม้าทางทิศใต้ แล้ววกกลับคร่อมขวางทางรถไฟก่อนลดระดับลงมาแล้วตรงไปบรรจบกับ ถ.ภูมิรักษ์ บริเวณทางโค้งก่อนถึงสี่แยกท่าหิน โดยจุดนี้เมื่อแล้วเสร็จเทศบาลเมืองเพชรบุรีจะติดตั้งไปสัญญาณจราจรให้เหมาะสม
ส่วนบริเวณ ถ.ราชดำริห์ ต.ต้นมะม่วง- ต.โพไร่หวาน (เส้นทางไป มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี) นายพลยุทธ เสนอขอให้เปลี่ยนแบบเนื่องจากเดิมมีการวางแบบกำหนดทำเป็นสะพานข้ามทางรถไฟ ซึ่งรูปแบบดังกล่าวไม่สามารถแก้ปัญหาการจราจรได้เต็มรูปแบบเพราะรถที่มาจาก ถ.ภูมิรักษ์ไม่สามารถเลี้ยวสะพานได้โดยตรงต้องไปกลับรถซึ่งทำให้เกิดปริมาณรถสะสม โดยเสนอแนวทางให้มีการยกระดับพื้นรางรถไฟขึ้นตั้งแต่เลยแยกท่าหินเพื่อให้สูงกว่าระดับเดิม 5 เมตร เพื่อให้ยกทางรถไฟสูงข้าม ถ.ราชดำริห์ ซึ่งจะทำให้รถยนต์ที่มีขนาดใหญ่ และรถที่มาจาก ถ.ภูมิรักษ์สามารถวิ่งลอดผ่านด้านล่างรางรถไฟในลักษณะการใช้ถนนแบบเดิม ซึ่งเบื้องต้นตัวแทนฝ่ายก่อสร้างชี้แจงว่าสามารถทำได้ แต่จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมกว่า 250 ล้านบาท
ต่อมาในวันที่ 15 สิงหาคม 2561 ชาวบ้านในอ.โพธาราม จ.ราชบุรี ได้ขึ้นป้ายคัดค้านการก่อสร้างทางกลับรถแบบยกระดับข้ามทางรถไฟรางคู่ ที่บริเวณใกล้กับทางสถานีรถไฟอ.โพธาราม จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นเส้นทางผ่านของรถไฟรางคู่ โดยป้ายขนาดใหญ่หลายจุด มีข้อความว่า ชาวโพธารามไม่เอาเกือกม้า แต่จะเอาอุโมงค์ลอดใต้ทางรถไฟแทน และขอให้ฟังเสียงประชาชนด้วย. . .ทำให้แบ่งเมืองโพธารามออกเป็นสองฝั่ง ทำให้การสัญจรไปมานั้นลำบาก เพราะทางการรถไฟได้ทำแผนที่จะมีการก่อสร้างทางเกือกม้า (ทางกลับรถยกระดับ) ให้ชาวบ้านได้ใช้สัญจร โดยไม่ได้ถามความต้องการของชาวบ้านเลย (https://bit.ly/2DOKrFf)
นอกจากนั้นชาวบ้านยังกล่าวว่า ทางกลับรถเกือกม้าสูงและแคบ และมีระยะทางที่ค่อนข้างไกล ทำให้ชาวบ้านโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ปั่นจักรยาน ไม่สามารถจะขึ้นไปได้และยังอันตรายด้วย จึงได้อยากให้มีการสร้างเป็นอุโมงค์ทางลอดมากกว่า เพราะสะดวก และไม่ต้องไปไกล ทั้งรถจักรยาน และรถจักรยานยนต์ ก็สามารถข้ามไปมาได้ หรือแม้แต่พ่อค้าแม่ค้า ที่ต้องเข็นรถมาขายของในตลาดโพธาราม ก็สามารถใช้เส้นทางได้ ชาวบ้านจึงอยากให้มีการพิจารณาเรื่องนี้ใหม่" (https://bit.ly/2NdwFjI)
อนึ่งโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม-หัวหิน เป็นการพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมขนส่งทางรถไฟที่ช่วยในการยกระดับโลจิสติกส์ภาคใต้ของไทย โดยก่อสร้างทางรถไฟใหม่ระบบรางเป็นทางกว้าง 1 เมตร เพิ่ม 1 ทาง ขนานไปกับทางรถไฟเดิมตลอดสายทางเส้นทางมีจุดเริ่มต้นที่สถานีรถไฟนครปฐมมุ่งไปทางทิศตะวันตกถึงชุมทางหนองปลาดุก จากนั้นแนวเส้นทางเลี้ยวซ้ายลงสู่ภาคใต้ ผ่านจังหวัดราชบุรี (อ.บ้านโป่ง อ.โพธาราม อ.เมือง อ.ปากท่อ) จ.เพชรบุรี(อ.เขาย้อย อ.เมือง อ.ท่ายาง อ.ชะอำ) และสิ้นสุดที่สถานีรถไฟหนองแก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทางรวมทั้งหมด 169 กิโลเมตร ใช้งบประมาณการก่อสร้างทั้งหมด 17,249.90 ล้านบาท หากสมบูรณ์จะสามารถเพิ่มความจุของทางมากกว่า 200 ขบวนต่อวันโดยไม่ต้องรอสับหลีก เพิ่มประสิทธิภาพลดระยะเวลาการเดินทาง – ขนส่งสั้นลง ประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้ในการขนส่ง ลดปัญหามลพิษที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางมากยิ่งขึ้น ลดจำนวนอุบัติเหตุทางถนน เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและกระจายความเจริญและเชื่อมโยงการค้าสู่ภูมิภาค-ท้องถิ่น (https://bit.ly/2NdbH4O)
ลองช่วยกันคิดเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนครับ