AREA แถลง ฉบับที่ 9/2555: 19 มกราคม 2555
ทิศทางตลาดที่อยู่อาศัย พ.ศ.2555
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน
ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
จากการประมวลภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยทั้งหมดในปี 2554 พบว่า ชะลอตัวกว่าปี 2553 ซึ่งแสดงนัยที่น่าสนใจหลายประการ ผลการสำรวจนี้ยังช่วยทั้งนักพัฒนาที่ดิน สถาบันการเงินตลอดจนหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องสมควร นำข้อค้นพบในผลการสำรวจนี้ไปประกอบการวางนโยบายและแผนที่ยั่งยืนในอนาคต
ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ซึ่งสำรวจข้อมูลการเปิดตัวโครงการใหม่ทุกเดือน รวม 407 หน่วย และสำรวจโครงการที่เปิดขายทั้งหมดเกือบ 1,400 โครงการ ณ สิ้นปี 2554 มาตั้งแต่ปี 2537 ขอนำเสนอผลการศึกษาแบบทันท่วงทีในที่นี้
ในปี 2554 ที่ผ่านมา มีการเปิดตัวโครงการมากถึง 407 โครงการ จะเห็นว่าส่วนใหญ่อยู่ในเขตน้ำไม่ท่วมเป็นสำคัญ การเปิดตัวยังเน้นอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครชั้นในและชั้นกลางที่ไม่ได้ถูกน้ำท่วมโดยตรง จำนวนโครงการที่เปิดตัวไม่น้อยไปกว่าโครงการในปี 2553 แต่จำนวนหน่วยและมูลค่าลดลงไปพอสมควร
ในปี 2554 มีการเปิดตัวโครงการใหม่รวม 85,800 หน่วย รวมมูลค่า 256,042 ล้านบาท นับว่าลดลงกว่าปี 2553 ถึง 27% ของจำนวนหน่วย และ 15% ของมูลค่า ในแง่หนึ่งสะท้อนถึงภาวะที่ถดถอยลง แต่ในแง่ดีก็แสดงให้เห็นว่าภาวะฟองสบู่คงจะไม่เกิดขึ้น
ณ สิ้นปี 2554 ยังมีหน่วยขายที่อยู่อาศัยคงเหลือมาขายในปี 2555 จำนวน 134,266 หน่วย หรือประมาณ 3% ของที่อยู่อาศัยทั้งหมดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งยังไม่น่าเป็นห่วงมากนัก ในปี 2554 เปิดตัวใหม่ 85,800 หน่วย และในปีเดียวกัน ขายได้ (ทั้งเก่าและใหม่) 81,816 หน่วย แสดงให้เห็นว่า อุปทานและอุปสงค์มีความสมดุลกัน
ณ กลางปี 54 มีจำนวน 78 โครงการ 17,750 หน่วย 42,724 ล้านบาท โดย ณ สิ้นปี 54 มีจำนวน 105 โครงการ 24,033 หน่วย 63,620 ล้านบาท แสดงว่า จำนวนโครงการเพิ่ม 27 โครงการ หน่วยขายเพิ่ม 6,283 หน่วย (+35%) และมูลค่าเพิ่ม 20,896 ล้านบาท (+49%)
บมจ.พฤกษาเรียลเอสเตท ยังครองแชมป์บริษัทที่เปิดตัวมากที่สุดถึง 48 โครงการ 15,165 หน่วย มูลค่า 37,530 ล้านบาท รองลงมาคือ บมจ. แลนด์แอนด์เฮาส์ จำนวน 12 โครงการ 4,103 หน่วย แต่มีมูลค่าอันดับสองคือ 18,594 ล้านบาท ส่วนอันดับสามก็คือ บมจ.โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ แม้เปิดแค่ 2 โครงการ จำนวน 1,713 หน่วย แต่มีมูลค่าการขายรวมกันถึง 16,755 ล้านบาท
คาดว่าในปี 2555
1. จำนวนโครงการเปิดใหม่จะใกล้เคียงกับปี 2554 กล่าวคือน่าจะมีจำนวนหน่วยรวมประมาณ 86,000 หน่วย รวมมูลค่า 258,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจของประเทศเฟื่องฟูขึ้น โอกาสที่การเปิดตัวโครงการใหม่ ๆ จะมีมากขึ้น
2. โอกาสที่เกิดฟองสบู่จะมีไม่มากนัก ยกเว้นโครงการบางแห่งอาจประสบปัญหาเนื่องจากการอำนวยสินเชื่อในราคาที่สูงเกินจริง และผู้กู้ไม่สามารถผ่อนต่อได้
3. ราคาที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะกลุ่มห้องชุดมือสองใจกลางเมืองยังคงเพิ่มขึ้นตามการเกิดเพิ่มของห้องชุดริมรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ส่วนห้องชุดราคาถูก ๆ ที่ยังเหลืออยู่มากมายนั้น ราคาคงไม่เพิ่มขึ้น เพราะการบำรุงรักษาไม่ดีนั่นเอง
4. ปัญหาน้ำท่วม ส่งผลต่อการชะลอการตัดสินใจซื้อออกไประยะหนึ่ง เนื่องจากรายได้ลด หรือยังวิตกกังวนกับภัยธรรมชาติ ซึ่งคาดว่ากำลังซื้อจะกลับมาประมาณไตรมาส 3 ของปี 2555 อย่างไรก็ตามปัญหานี้คงไม่ส่งผลกระทบในระยะยาว และโอกาสจะเกิดน้ำท่วมซ้ำ แทบไม่มีในประวัติศาสตร์ น้ำท่วมใหญ่สมัยรัชกาลที่ 1 ยังเคยท่วมสนามหลวงถึง 5 เมตร สิ่งที่พึงพิจารณาในอนาคตอาจเป็นปรากฏการณ์ฝนแล้งได้เช่นกัน
5. ผู้ประกอบการกระจายการลงทุนไปพัฒนาโครงการอาคารชุดแทนที่อยู่อาศัยแนวราบ และในพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม/ได้รับผลกระทบน้อย จะได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากขึ้น
6. ผู้ประกอบการควรมีแนวทางกระจายความเสี่ยงไปพัฒนาพื้นที่ในส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะหัวเมืองใหญ่มากขึ้น เช่น ชลบุรี หัวหิน เชียงใหม่ ภูเก็ต นครราชสีมา และขอนแก่น รวมทั้งการกระจายไปต่างประเทศที่มีโอกาสสูง เช่น อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ตามการเปิดพรมแดนเศรษฐกิจประเทศในอนาคต
7. ราคาที่อยู่อาศัยที่สร้างใหม่คงไม่ลดราคา แต่มีแนวโน้มปรับราคาสูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนวัสดุ และค่าแรงงานที่สูงขึ้น
8. ผู้บริโภคจะมีปัจจัยในการพิจารณาเลือกซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น คิดนานขึ้น โดยเฉพาะด้านกายภาพ ทำเลที่ตั้งของโครงการ รวมถึงระบบป้องกันน้ำท่วม ที่จะสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคมากขึ้น
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน |