จำได้ว่าในสมัยทักษิณ เขาพาชาวตะวันออกกลางมาเช่าที่ทำนาในประเทศไทย ถูกกล่าวหาว่า "ขายชาติ" แต่ตอนนี้ทั่วทั้งอินโดจีนมีการเช่าที่ทำการเกษตรมากมาย สร้างรายได้เข้าประเทศมหาศาลโดยไม่เป็นการขายชาติแบบขายบ้านและที่ดินและคนต่างชาติอย่างที่ไทยกำลังทำ พืชและไม้มีค่าสร้างรายได้ให้มหาศาลแก่ประเทศชาติ มาดูกันในกรณีไม้กฤษณาในประเทศกัมพูชาที่ต่างชาติเช่าที่ปลูกและผลิตได้กำไรงาม
อย่าว่าแต่ประเทศตะวันออกกลางเลย เพื่อความมั่นคงทางอาหาร แม้แต่บรูไนก็ยังคิดไปทำการเกษตรนอกบ้าน การปลูกไม้ยางพารา ปาล์ม ไม้สัก กาแฟ ไม้กฤษณาและอื่นๆ มีอยู่ทั่วไปในอาเซียนโดยเฉพาะประเทศชั้นนำเช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ก็ไปปลูกพืช ร่วมทุนแบบ Contract Farming ในต่างประเทศอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ทำการแปรรูปและส่งไปขายยังตลาดทั่วโลกได้กำไรงดงาม การทำเกษตรส่งขายนานาชาติเช่นไม้กฤษณานี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนให้ประเทศอินโดจีนที่ล้าหลังกว่าไทย กลับมาแซงไทยได้ทางหนึ่ง!
ไม้กฤษณาคืออะไร (https://bit.ly/2HDXahA) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีเอกสารเผยแพร่ว่าเป็นไม้หอม ไม้กฤษณาที่ยังเป็นต้นไม้อยู่ (ตอนที่ยังไม่เกิดบาดแผล) จะมีเนื้อไม้สีขาว แต่เมื่อเกิดบาดแผลแล้วก็จะมีน้ำมันสีดำเกิดขึ้น และขยายวงกว้างออกไป สำหรับไม้กฤษณาที่เกรดดี ๆ ที่มีราคาหลายหมื่นบาท ก็จะต้องทิ้งไว้หลายปี จนเป็นสีดำสนิท หรือสีน้ำตาล
ในด้านการขยายพันธุ์ จะใช้การเพาะเมล็ด เมล็ดของกฤษณามาจากดอกที่จะออกดอกช่วงผลัดใบ ไม้กฤษณาสามารถขึ้นได้ทั่ว ๆ ไป แต่สภาพดินต้องมีความชุ่มชื้น มีฝนตกไม่ต่ำกว่า 5 เดือน และต้องตัดแต่งกิ่งให้ดีด้วย จะต้องมีระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 3.3 ตารางเมตร เมื่อปลูกได้แล้ว หลังจาก 5 ปี ควรจะวัดเส้นรอบวงได้ประมาณ 50 เซนติเมตร โดยวัดสูงจากพื้นดิน 1 เมตร
ในด้านราคาพบว่าที่จังหวัดจันทบุรีและจังหวัดตราด ต้นกล้าสูงประมาณ 1 ฟุต ขาย 10 บาท แต่ถ้าสูง 5-6 เซนติเมตร ขาย 4-5 บาท ส่วนเมื่อมีการกลั่นโดยต้มไม้ในหม้อความดันก็จะเกิดน้ำมันออกมา และก็นำไปแบ่งออกตามเกรด ราคาน้ำมัน 4,000-8,000 บาท ต่อ 1 solar (12 กรัม) การทำน้ำมันกฤษณาส่วนที่เป็นเนื้อไม้สีดำ เป็นไม้ที่เจาะไว้ 10-12 ปีขึ้นไปถือเป็นสินค้าเกรดพรีเมี่ยมราคาสูง 500,000 บาท/กก. ถ้าเป็นเกรดซูเปอร์พรีเมี่ยม ราคา 850,000 บาทต่อกิโลกรัม (https://bit.ly/2TLxA1k)
ในประเทศไทยได้มีการปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ มีความต้องการของตลาดประเทศมุสลิมโดยนำไปประกอบพิธีทางศาสนา สมุนไพร และมักใส่ในน้ำหอม ทำให้ติดทนนาน ในแถบตะวันออกกลาง มักจุดใช้ในครัวเรือนทำให้มีกลิ่นหอม เป็นเครื่องแสดงฐานะ นอกจากนั้นในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา เมียนมา ลาว ก็มีการปลูกกันมาก โดยมีเกษตรปลูกต้นกฤษณาโดยเฉพาะ และมีตลาดรับซื้อที่ดินที่มีต้นกฤษณาตามอายุที่ปลูก และนำมาขาย ที่ดินที่ใช้เพื่อการเกษตรแบบต้นกฤษณานี้ มีมูลค่าสูงกว่า ได้ผลตอบแทนจากการปลูกสูงกว่าการปลูกพืชระยะสั้น เช่น ข้าว หรือพืชระยะยาวอื่นๆ เช่น ยางพารา ไม้สัก เพราะตลาดนี้ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก
การปลูกไม้กฤษณาอย่างเป็นล่ำเป็นสันในกัมพูชา เมียนมา และลาวนั้นเกิดขึ้นเพราะความหนาแน่นของประชากรน้อยมาก ยังมีที่ดินอีกมหาศาลในการปลูก อันที่จริงไทยเองก็ปลูกได้มากเช่นกัน จากการประเมินค่าทรัพย์สินไม้กฤษณาในกัมพูชาพบว่า มีการปลูกกันตามอำเภอเปร็ยนบ (Prey Nob) อำเภอกัมโพช หรืออาจจะในพื้นที่อื่นที่ค่อนข้างชุ่มชื้น ชาวบ้านปลูกไม้กฤษณาแล้วขายออกไปตามอายุ
ในการประเมินค่าทรัพย์สิน มีกระบวนการดำเนินงานประมาณ 5 ขั้นตอนในเบื้องต้น โดยผู้ประเมินเริ่มต้นด้วย:
1. การสำรวจแปลงที่ดินและทำเล
2. การสำรวจเกี่ยวกับอาคารในพื้นที่ และเครื่องมือที่ใช้
3. การสำรวจสถานะของต้นไม้ โดยการสุ่มตัวอย่างขนาดต้นไม้ในแต่ละแปลงปลูก ตามอายุของแต่ละแปลง
4. การสำรวจราคาที่ดินแปลงปลูกตามอายุต่างๆ ที่มีการซื้อขายหรือเช่าระยะยาวในพื้นที่ เช่น ในกัมพูชา หรือลาว
5. การสำรวจราคาของสินค้าแต่ละประเภท เช่น ต้นไม้ ท่อนไม้กฤษณา ราคาน้ำมันกฤษณา เป็นต้น
ในการวิเคราะห์ทางการเงินเพื่อการประเมินมูลค่าทรัพย์สินไม้กฤษณานั้น ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินจำเป็นต้องดำเนินการโดย
1. รายได้จากแหล่งต่างๆ อันพิจารณาจาก จำนวนต้นไม้ตามสภาพและอายุ ผลิตภัณฑ์ที่คาดว่าจะผลิตได้ตามเกรดของสินค้าไม้กฤษณา และน้ำมันกฤษณา แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงราคาในอนาคต
2. ลบด้วยรายจ่ายค่าดำเนินการต่างๆ รวมทั้งค่าปรับปรุงที่ดิน ค่าอุปกรณ์ และสิ่งปลูกสร้าง
3. รายได้สุทธิจากการดำเนินการ
4. ลบด้วยราคาที่ดินเปล่าตามราคาตลาด
5. การประเมินมูลค่าของสินทรัพย์ชีวภาพ (Biological Assets)
สำหรับในการประเมินค่าภาคปฏิบัตินั้น ผู้ประเมินพึงเข้าใจถึงค่าใช้จ่ายบางรายการที่แตกต่างจากต้นไม้ทั่วไปนั่นก็คือ
1. ต้นการซื้อกล้าไม้มาปลูก หรือซื้อพื้นที่เพาะปลูกที่มีต้นไม้ตามอายุอยู่แล้วโดยคิดต่อต้น
2. ต้นทุนในการฉีดสารกระตุ้น (Inoculation) ซึ่งสำหรับไม้กฤษณา มีฉีดเป็นระยะๆ เช่น ฉีดเมื่อมีอายุ 8-10 ปีๆ ละ 1 ครั้ง (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเทคนิคของแต่ละราย) โดยคิดต่อต้น
3. ต้นทุนค่าจัดเตรียมสถานที่โดยคิดต่อไร่ (พื้นที่)
4. ต้นทุนค่าตัดไม้ (Harvest Costs) โดยคิดต่อต้น
5. ต้นทุนค่าจัดการท่อนไม้และการกลั่นโดยคิดต่อกิโลกรัม
6. ต้นทุนค่าขนส่งโดยคิดต่อต้น
7. ต้นทุนค่าวัสดุต่างๆ โดยคิดต่อต้น
8. ต้นทุนอื่นๆ โดยคิดต่อต้น เป็นต้น
ในภาคปฏิบัติจริงในการประเมินค่าไม้กฤษณาที่ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจากนักลงทุนชาวสิงคโปร์เพื่อการนำเข้าตลาดหลักทรัพย์นั้น ใช้เวลาประเมินประมาณ 2 เดือน โดยประมาณ 10 วันต่อเนื่อง เป็นช่วงเวลาในการสำรวจทรัพย์สินในพื้นที่ประเทศกัมพูชา
โดยสรุปแล้ว การลงทุนทำไม้กฤษณาโดยการเพาะปลูกแทนการไปหาไม้ในป่านั้น คุ้มค่าการลงทุนเป็นอย่างยิ่ง และมีการปลูกต้นกฤษณาเพื่อขายอย่างกว้างขวางในหลายพื้นที่ทั้งในไทยและในประเทศเพื่อนบ้าน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ระบุว่าการลงทุนนี้เหมาะสมสำหรับเกษตรกรที่มีทุนมาก และสามารถรอได้ จะปลูกเป็นผืนป่าก็ได้ แต่สำหรับเกษตรกรที่มีทุนน้อย ควรจะปลูกแบบรอบๆ สวนมากกว่า (https://bit.ly/2HDXahA)
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันที่มีการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทางเลี่ยงอย่างหนึ่งคือการทำเกษตรกรรม การปลูกกล้าไม้กฤษณา หรือทำแปลงเกษตรไม้กฤษณาอาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการลดการเสียภาษีที่ดินเปล่าได้เช่นกัน