เห็นโฆษณารณรงค์ให้คนมีระเบียบ ซึ่งดูเผินๆ ก็ดี แต่สุดท้ายก็โทษ/หมิ่นชนชั้นล่างว่าเลว และเสนอทางออกแบบกำปั้นทุบดิน มาฟัง ดร.โสภณ ขอสวนว่าความไร้ขื่อแปเกิดเพราะขาดประชาธิปไตย (ต่างหากเล่า) (http://bit.ly/2bWEoP7 และ http://bit.ly/2cy0Q2k)
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) มาวิพากษ์ความคิดเห็นแบบ "ความดีไร้ราก" ในสังคมไทย ซึ่งสิ่งที่พวก "ดรามา" เสนอ ไม่ใช่ทางออก แต่อาจกลายเป็นการสร้างปัญหาเพิ่มเติม ทั้งนี้วิพากษ์จาก Clip ที่มีผู้นำมาเผยแพร่เกี่ยวกับการขับขี่มอเตอร์ไซค์บนทางเท้า ซึ่งแลดูคล้ายกับว่าคนไทยเราไร้ระเบียบ เป็นมนุษย์เผ่าพันธุ์ที่ "เกินเยียวยา" สมควรแล้วที่จะรับบาปเคราะห์ต่าง ๆ จากผลกรรมของตนเอง
การทำผิดกฎหมาย การแสดงความเห็นแก่ตัวเป็นสิ่งที่ไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง และอันที่จริงการแก้ไขปัญหานี้ทำได้ไม่ยาก อยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเสมอหน้า แต่เดิมคนไทยเคยกินหมาก ก็ยังเลิกได้ เมื่อก่อนก็เคร่งครัดการสวมหมวกกันน็อก ก็ยังทำได้ ตลาดสะพานเหล็กก็ยังรื้อได้ ทั้งนี้สิ่งหนึ่งที่พึงเข้าใจก็คือ ที่ทำได้ไม่ใช่เพราะต้องมีอำนาจเผด็จการแบบทหาร แม้แต่รัฐบาลพลเรือนก็ทำได้ ในยุครัฐบาลพลเรือนก็ยังรื้อรีสอร์ตเขาใหญ่ เป็นต้น (สมัยอธิบดีดำรงค์ พิเดช)
รากเหง้าสำคัญของปัญหาที่คนไม่พูดถึงก็คือ ผู้บริหารระดับสูงสุดระดับเบอร์ต้นๆ ของประเทศมักได้รับอภิสิทธิ์ผ่อนปรนต่าง ๆ นานา ระดับ "ขุนพลอยพยัก" ตามลำดับชั้นลงมาก็เลยเกิดลัทธิเอาอย่าง และยิ่งประเทศไทยไม่มีระบอบประชาธิปไตย เล่นเส้นเล่นสายกันมากมาย ความไร้ขื่อแปก็ยิ่งเกิดขึ้น เมื่อไม่มีประชาธิปไตย ประชาชนระดับล่างยิ่งถูกขูดรีดไปบำเรอคนที่มาปกครองโดยประชาชนไม่ได้เชื้อเชิญ คนระดับล่างก็ยิ่งยากจน จึงทำให้คนจนหลายคนจึงเกิดอาการ "สิบเบี้ยใกล้มือ" "ด้านได้อายอด" และจึงถูกหยิบยกมาประณามหยามหมิ่นคนจน
ปกติทางออกที่พวก "ความดีไร้ราก" นำเสนอก็คือ การเอาศาสนาเข้าข่ม ซึ่งอันที่จริงไม่ได้ผล แต่สิ่งที่ได้ผลก็คือ คนรณรงค์ได้หน้า ได้ดีต่างหาก โปรดอ่านบทความเรื่อง "อย่าปราบทุจริตด้วยศาสนา อาจเท่ากับช่วยอาชญากร" (http://bit.ly/1MKTzdU) จิตสำนึกของคนเราที่สว่างและประเสริฐจนสามารถบรรลุมรรคผลได้ก็เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล แต่สำหรับปุถุชน อยู่ที่การควบคุมให้เป็นไปตามกฎหมายต่างหาก
ทางออกที่เป็นแบบกำปั้นทุบดินอีกอันหนึ่งก็คือการ "รณรงค์ทางสังคม" เพื่อให้ผู้คนช่วยกันต่อต้านการทำผิดกฎหมายตามที่เห็นในคลิปนี้ ซึ่งก็เป็นความคิดที่ดี แต่อาจเป็นแค่ "ไฟไหม้ฟาง" แล้วก็เงียบหายไป และที่สำคัญกลายเป็นการ "พาคนไปตาย" เพราะไปทะเลาะเบาะแว้งกับคนทำผิดกฎหมายในฐานะที่เป็นคนรักสมบัติของชาติ แต่ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย คนทำผิดกฎหมายก็มักมองพลเมืองดีว่า "เสือก" เพราะไม่ได้รับผิดชอบโดยตรง
ถ้าบ้านเมืองมีประชาธิปไตย ในแต่ละชุมชน ชมรมอาคาร ย่าน แขวง เขต มีการเลือกตั้ง มีผู้แทนของประชาชน มีอำนาจ มีงบประมาณกระจายมาดูแลถนนและชุมชนต่าง ๆ ของตนเอง (ไม่เอางบฯ ไปละลายทำซุ้มไฟหรืออื่นใด) มีการดูแลที่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ทางเท้าจะถูกมอ'ไซค์ (รับจ้าง) ใช้วิ่งเป็นทางลัด ก็จะไม่เกิดขึ้น ประชาชนจะหวงแหนทรัพยากรในท้องถิ่นของพวกเขา มีงบฯ ในการจ้างเวรยามมาคอยดูแล แต่โดยที่การปกครองในปัจจุบัน ข้าราชการประจำเป็นใหญ่ ไม่ว่างก็ไม่ต้องมาทำอะไร ไม่ได้มีการเลือกผู้แทนประชาชนในทุกระดับชั้นเพราะถูกป้ายสีว่าผู้รับใช้ประชาชนเป็น "นักการเมือง" เลว สภาพย่ำแย่นี้จึงดำรงอยู่
ดร.โสภณ ยังชี้ให้เห็นว่า ประชาธิปไตย การกระจายรายได้ และความผาสุกของประชาชนเป็นสิ่งที่ไปด้วยกัน หากขาดประชาธิปไตยเสียแล้ว อะไรต่าง ๆ ก็ "เป๋" ไปหมด เพราะคนที่มาทำงานการเมืองไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มาจากการแต่งตั้งสรรหา คนที่แต่งตั้งสรรหาจึงมีอิทธิพลยิ่งกว่า "พ่อ" อยากได้ตำแหน่งก็ไปวิ่งกัน ข้าราชการในภาคส่วนต่างๆ ที่ทำดี "ดุจเกลือรักษาความเค็ม" ก็คงมี แต่ไม่แน่ใจว่าจะมีมากกว่าพวกที่เติบโตเพราะอาศัยเส้นสายมากกว่าผลงาน เรียกได้ว่าเป็นระบบ "ด.ว.ง. หรือไม่ ในระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เจ้าหน้าที่คงไม่ค่อยมีเวลาทำงาน เน้นวิ่งเส้นสายท่าเดียว กล่าวคือ คนที่จะก้าวหน้าได้ ส่วนหนึ่งต้องอาศัย "ด.ว.ง" ซึ่งไม่ใช่หมายถึง "ดวงชะตา" แต่หมายถึง
1. ด. คือ เป็น "เด็ก" ของใคร มี "ปลอกคอทอง" หรือ "ปลอกหนัง"
2. ว. คือ "วิ่ง" หรือไม่ ซึ่งก็เป็นเช่นที่เข้าใจทั่วไปก็คือ ใครจะก้าวหน้าในชีวิต ก็ต้องวิ่ง ไม่งั้น ก็ "แป๊ก" เต็มขั้นหรือทะลุขั้นแต่ไม่ตำแหน่ง
3. ง. คือ "เงิน" ต้อง "จิ้มก้อง" กับ "เจ้านาย" มีเงิน มีของไปกำนัล เพื่ออำนวยความสะดวกในการเติบโตทางราชการเป็นต้น
ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ต้องทำให้ข้าราชการน้อยลง ทำการ "Privatize" (ให้เอกชนทำแทน) มากขึ้น แม้แต่คุกในประเทศตะวันตกหลายแห่งก็ยังให้เอกชนมาดำเนินการแทน และในประเทศประชาธิปไตย ทุกภาคส่วนล้วนมาจากการเลือกตั้ง แม้แต่ผู้พิพากษา หัวหน้าตำรวจในแต่ละท้องที่ ผอ.ฝ่ายจัดการศึกษาในแต่ละท้องที่ ฯลฯ เป็นต้น แต่ในประเทศไทยกลับมีข้าราชการและลูกจ้างภาครัฐจำนวนมหาศาลและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ สวัสดิการต่าง ๆ ก็เติบโตเป็นเงาตามตัว กลายเป็นภาระ แทนที่จะเป็นผู้ช่วยพัฒนาชาติหรือไม่
อย่างกรณีงบประมาณของกรุงเทพมหานคร ณ ปี 2560 พบว่าเป็นเงินสูงถึง 70,424.8 ล้านบาท (http://bit.ly/2fwvI41) ลองคิดดูง่าย ๆ ว่า คิดดูง่าย ๆ ว่าถ้าเราจ้างอาสาสมัครคนละ 15,000 บาทรวมค่าเดินทางลาดตระเวนเป็นเงิน 20,000 บาท จ้างทั้งปีก็เป็นเงิน 240,000 บาท ในแต่ละแขวงจ้างถึง 60 คน ผลัด 3 กะ ก็เป็นเงิน 14.4 ล้านบาท รวม 170 แขวงก็เป็นเงิน 2,448 ล้านบาท หากมีค่าบริหารจัดการอีก 15% ของค่าจ้างก็เป็นเงิน 2,815.2 ล้านบาท ซึ่งดูเหมือนเป็นเงินมหาศาล แต่เมื่อเทียบกับงบประมาณของกรุงเทพมหานครที่ 70,424.8 ล้านบาท ก็เป็นเพียง 4% เท่านั้น ถือว่าน้อยมาก แล้วยังสามารถจ้างงานได้ถึง 10,200 คน อย่าว่าแต่ตรวจจับคนขับรถบนทางเท้าเลย แม้แต่โจรขโมยก็แทบไม่มีเหลือ เพราะมีการลาดตระเวนอยู่บ่อย ๆ นั่นเอง
ถ้าบ้านเมืองมีประชาธิปไตย มีการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ระดับแขวง ให้มีคณะกรรมการชุมชนมีอำนาจจัดการว่าจ้างดูแลกันเอง ไม่ใช่ทุกอย่างรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางคือที่ "เสาชิงช้า" กรุงเทพมหานครและนครใหญ่ๆ ทั้งหลายก็จะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากการขาดประชาธิปไตย กลับให้อำนาจบริหารไปตกอยู่ที่พวกข้าราชการประจำที่ควรเป็นเพียง "มือไม้" ของผู้แทนของประชาชนที่รู้ความต้องการที่แท้จริงของประชาชนเจ้าของประเทศ ความบิดเบี้ยวจึงเกิดขึ้น
มาทำบ้านเมืองให้เป็นประชาธิปไตยที่ยั่งยืนตามที่รัฐบาลให้คำมั่นไว้เถิด