อ่าน 1,125 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 21/2551: 24 กันยายน 2551
ราคาที่อยู่อาศัยในสหรัฐอเมริกายังตกต่อเนื่องและผลกระทบต่อไทย
วารสาร Engineering Today หน้า 36

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน
ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส

          ราคาที่อยู่อาศัยในสหรัฐอเมริกายังตกต่อเนื่องโดยในเดือนล่าสุด กรกฎาคม 2551 ราคาตกลงไป 0.65% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และหากเทียบกับเดือนเมษายน 2550 ซึ่งเริ่มตกเป็นครั้งแรกนั้น ราคาตกต่ำลงไปถึง 5.8% แล้ว คาดว่ายังจะตกต่ำต่อไป อย่างไรก็ตามศูนย์ข้อมูล วิจัยและประเมินค่าทรัพย์สิน AREA (บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เชื่อว่าสถานการณ์จะไม่ลุกลามมายังประเทศไทย
          ผลจากการเปิดเผยข้อมูลล่าสุดของสำนักงานติดตามวิสาหกิจที่อยู่อาศัยแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา พบว่า ราคาที่อยู่อาศัยในสหรัฐอเมริกาในช่วงเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2551 ลดลง 0.65% ซึ่งเป็นการลดลงที่ค่อนข้างมากเมื่อเที่ยบกับสองเดือนก่อนหน้านี้
          ปรากฏการณ์ราคาบ้านตกต่ำลงเริ่มเห็นเด่นชัดมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2550 และนับแต่นั้นราคาก็ตกต่ำลงมาโดยตลอด ยกเว้นเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ที่ราคากลับเพิ่มขึ้น 0.36% แต่ก็ตกต่ำต่อเนื่องในเดือนต่อมาจนถึงเดือนกรกฎาคม 2551 ซึ่งเป็นเดือนล่าสุดที่มี่ข้อมูล จึงสรุปได้ว่านับตั้งแต่เดือนเมษายน 2550 ราคาที่อยู่อาศัยตกต่ำไปแล้ว 5.8% และหากเทียบในระยะเวลา 1 ปี (กรกฎาคม 2550-2551) ราคาที่อยู่อาศัยตกต่ำไปราว 5.3% และคาดว่าราคาที่อยู่อาศัยยังจะตกต่ำลงไป
          หากพิจารณาในรายละเอียด พื้นที่ที่มีการตกต่ำมากที่สุดก็คือมลรัฐแถบมหาสมุทรแปซิฟิค เช่น นครแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลลิส และอื่น ๆ โดยตกต่ำไปโดยเฉลี่ยถึง 18% ซึ่งอาจนับเป็นความหายนะของธุรกิจที่อยู่อาศัย ในนครเหล่านี้แต่เดิมราคาบ้านมีการปรับตัวเพิ่มอย่างรวดเร็วกว่าเขตอื่น และในขณะนี้กลับตกต่ำรวดเร็วกว่าเขตอื่นเช่นกัน
          อย่างไรก็ตามมีบางภูมิภาค ราคาที่อยู่อาศัยยังเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย ได้แก่ ภูมิภาค “West South Central” อันประกอบด้วยรัฐโอกลาโฮมา อาร์คันซอส์ เท็กซัส และหลุยเซียนา และในบางภูมิภาค ราคาแทบไม่ได้ลดลงเลย ได้แก่ภูมิภาค “West North Central” (ได้แก่ รัฐนอร์ทดาโกตา เซาท์ดาโกตา มินเนโซตา เนบราสกา ไอโอวา แคนซัส มิสซูรี) และภูมิภาค “East South Central” (ได้แก่ รัฐเคนตักกี เทนเนสซี มิสซิสสิปปี และอลาบามา)
          สำหรับกรณี บริษัท “เลห์แมนบราเธอร์ส” ล้มในสหรัฐอเมริกานั้น ขณะนี้ยังไม่อาจสรุปได้ว่าจะมีผลกระทบต่อไทย แม้บริษัทนี้จะมีส่วนเป็นเจ้าของทรัพย์สินสำคัญเช่น เมืองไทยภัทรคอมเพล็กซ์ อิตัลไทย เมอร์คิวรีและวันแปซิฟิค ซึ่ง AREA คาดว่าจะมีมูลค่ารวมกันประมาณ 7,300 ล้านบาทนั้น บางท่านอาจวิตกว่า หากมีการ “เทขาย” อาจสร้างปัญหากระทบต่อราคาทรัพย์สินในประเทศไทย ข้อนี้เชื่อว่าจะยังไม่มีผลกระทบ เพราะมูลค่าไม่มากนัก และใช่ว่าบริษัทดังกล่าวหรือผู้ถือหุ้นบริษัทรายใหม่จะต้องขายทรัพย์สินดังกล่าวอย่างเร่งด่วน
          ที่สำคัญตลาดที่อยู่อาศัยและตลาดสินเชื่อของไทยมีความระมัดระวังมากกว่า ผิดกับในสหรัฐอเมริกาที่ให้สินเชื่อเกินกว่า 100% ของมูลค่าหลักทรัพย์ รวมถึงการอำนวยสินเชื่อโดยให้ผู้กู้ผ่อนเฉพาะดอกเบี้ย หรือยินดีให้มีการเพิ่มวงเงินสินเชื่อตามราคาของที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอดีตที่ผ่านมา ปัญหาสินเชื่อในสหรัฐอเมริกาปัจจุบันนั้นน่าจะเกิดจากการที่ผู้ควบคุมกติกาหรือ Regulator ไม่ได้ทำหน้าที่ ปล่อยปละละเลยให้เกิดความหละหลวงทางการเงิน เช่นที่เคยเกิดวิกฤติมาก่อนหน้านี้ในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2529-2533 ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่า “Saving and Loans Crisis”
          บางท่านอาจวิตกว่าหากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเกิดปัญหา อาจทำให้กำลังซื้อลดลง และการสั่งซื้อสินค้าจากประเทศไทยลดลง ข้อนี้คงต้องอาศัยการทำตลาดใหม่ๆ มาชดเชย และในอดีตที่ผ่านมา ขณะที่ไทยกำลังบูม สหรัฐและยุปโรปจะตกต่ำ (พ.ศ.2530-2533) ไทยแย่สหรัฐจะเติบโต (พ.ศ.2540-2543) ดังนั้นในห้วง พ.ศ.2550-2553 อาจเป็นโอกาสของไทยอีกครั้งก็เป็นได้!

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ในฐานะศูนย์ข้อมูล-วิจัยและประเมินค่าทรัพย์สินที่มีฐานข้อมูลภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุด ได้รับ ISO 9001-2008 ทั้งระบบแห่งแรกในฐานะที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ได้รับรางวัลจรรยาบรรณดีเด่น และเป็นสมาชิก UN Global Compact อีกด้วย

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved