ขณะนี้เรากำลังจะมีการประเมินมูลค่าต้นไม้เพื่อบังคับหลักประกัน สามารถจดจำนองได้ เราจึงควรมาเรียนรู้เรื่องใหม่นี้
ในปัจจุบันมีการปลูกไม้เศรษฐกิจ 25 ล้านไร่ แต่ส่วนใหญ่ 21 ล้านไร่เป็นสวนยางพารา และอีก 4.1 ล้านไร่เป็นไม้เศรษฐกิจอื่น โดย 3 ล้านไร่เป็นยูคาลิปตัส โดยยางพารามีมูลค่าการส่งออกมากกว่า 80% ของการส่งออกไม้ทั้งหมด การประเมินมูลค่าไม้ยางพาราจึงเป็นการประเมินที่อาจจะใช้มากที่สุด
ยางพารา เป็นไม้ยืนต้น มีถิ่นกำเนิดบริเวณลุ่มน้ำแอมะซอน ประเทศบราซิลและประเทศเปรู ทวีปอเมริกาใต้ โดยชาวพื้นเมืองเรียกว่า "เกาชู" (cao tchu) แปลว่า ต้นไม้ร้องไห้ จนถึงปี พ.ศ. 2313 (ค.ศ. 1770) โจเซฟ พรีสต์ลีย์ พบว่ายางสามารถนำมาลบรอยดำของดินสอได้ จึงเรียกว่ายางลบหรือตัวลบ (rubber) ซึ่งเป็นศัพท์ใช้ในประเทศอังกฤษและประเทศเนเธอร์แลนด์เท่านั้น ศูนย์กลางของการเพาะปลูกและซื้อขายยางในอเมริกาใต้แต่ดั้งเดิมอยู่ที่รัฐปารา (Pará) ของประเทศบราซิล ยางชนิดนี้จึงมีชื่อเรียกว่า ยางพารา (https://bit.ly/2CC4nvq)
ยางพาราที่กรีดได้มักจะถูกนำไปแปรรูปเบื้องต้นซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรกยางแห้ง (ย่างแผ่นรมควัน ยางแท่ง ยางเครพ ยางแผ่นผึ่งแห้ง และยางสกิม) และกลุ่มที่สอง ยางน้ำ (น้ำยางข้น หรือยางลาเท็กซ์) ก่อนจะนำไปแปรรูปในขั้นต่อไปซึ่งจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เราพบได้ในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างเช่น ยางสำหรับประกอบยานพาหนะ ยางยืดและยางรัดของ ถุงมือยางทางการแพทย์ รองเท้าและอุปกรณ์กีฬา สายพานลำเลียง ผลิตภัณฑ์ฟองน้ำ เป็นต้น
ในการประเมินค่าทรัพย์สิน อาจใช้วิธีการต้นทุน โดยลงทุนพัฒนาสวนยางจากที่ดินเกษตรทั่วไปหรือที่ดินเปล่า นอกจากนี้ยังอาจใช้วิธีการเปรียบเทียบตลาดว่าเขาซื้อขายสวนยางกันอย่างไร และวิธีสุดท้าย ใช้วิธีการแปลงรายได้เป็นมูลค่า โดยเฉพาะรายได้จากการเก็บกินรายได้ในอนาคต อย่างไรก็ตามในบทความนี้ เน้นการประเมินด้วยวิธีเปรียบเทียบตลาด
กรณีนี้เป็นการสำรวจสวนยางพาราในจังหวัดระยอง โดยสุ่มศึกษาว่าที่ดินแปลงสวนยางขนาด 10 ไร่ ที่มียางตามอายุที่แตกต่างกันระหว่าง 1-35 ปี ว่ามีการซื้อขายในราคาเท่าไหร่ ดัชนีเบื้องต้นจากการสำรวจเป็นดังต่อไปนี้:
1. สมมติราคา ณ ปีแรกเป็นเงิน 100%
2. ในช่วง 7 ปีแรก ราคาเพิ่มขึ้นสูงสุดถึงปีที่ 7 เป็นประมาณ 117% หรือเพิ่มขึ้นปีละ 2.3% นั่นเอง ทั้งนี้ในปีที่เจ็ดถือเป็นปีที่พร้อมที่สุดสำหรับการกรีดอย่างซึ่งจะกินระยะเวลาการกรีดยางออกไปอีกประมาณ 25 ปี
3. ราคาสวนยางที่มียางอายุ 8-32 ปี ราคาก็จะลดหลั่นลงตามลำดับ จาก 117% เป็น 87% หรือลดลงประมาณ 30% ของราคาสูงสุดในปีที่ 7
4. ตั้งแต่ปีที่ 32 เป็นต้นไป ราคาก็ค่อนข้างคงที่เพราะน้ำยางน้อยเกินกว่าจะกรีดได้คุ้มค่านัก ชาวสวนจึงนิยมขายเป็นไม้เพื่อทำเฟอร์นิเจอร์แล้วปลูกใหม่ต่อไป
การเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินสวนยางพาราในกรณีนี้ เป็นการสำรวจเฉพาะบริเวณบางส่วนของจังหวัดระยอง หากเป็นในกรณีจังหวัดอื่น เช่น ในภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งภาคเหนือ อาจมีตัวเลขที่แตกต่างออกไปบ้าง อย่างไรก็ตามคาดว่าแบบแผนการเปลี่ยนแปลงราคาตามจำนวนปีคงจะแตกต่างกันไม่มากนักเนื่องจากปริมาณยางที่จะกรีดได้ มีการถดถอยลงตามอายุของต้นยางนั่นเอง
อาจกล่าวได้ว่าราคาที่ดินสวนยางกับที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมสำหรับพืชอายุสั้นเช่นข้าว ข้าวโพด มันสัมปะหลังหรืออื่นๆ มีความแตกต่างกันค่อนข้างสูงเพราะ การปลูกยางพาราต้องใช้ระยะเวลาและต้นทุนการเตรียมการที่สูงกว่าที่นาทั่วไป
อนึ่งมูลค่าของสวนยาง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในตลาดโลก ในยามที่สถานการณ์ไม่ดีบางครั้งอาจมีการคนต้นยางหรือทำลายสวนยังก่อนกำหนดเวลาเนื่องจากรายได้จากการผลิตไม่คุ้มต้นทุนในการผลิตอย่างนั่นเอง เกษตรกรจึงต้องหันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ผลทั้งเศรษฐกิจมากกว่า ในการปลูกถ้ามีจำนวนไม่มาก อาจถือเป็น Market Niche แต่ถ้าทุกคนปลูกเหมือนกันหมด ก็คง “พากันลงเหว”
หวังว่าดรรชนีราคาตามอายุนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการประเมินมูลค่าต้นไม้ยางนั่นเอง
ประชาชาติธุรกิจ ฉบับที่ 4338 วันที่ 8 เมษายน - 10 เมษายน พ.ศ. 2562 หน้า 6
เรื่อง โมเดลประเมินราคา "สวนยางพารา"