สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ป่าไม้ ฉบับใหม่ พ.ศ.2562
  AREA แถลง ฉบับที่ 202/2562: วันพุธที่ 17 เมษายน 2562

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            มาดูสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ป่าไม้ ฉบับที่ 8 ซึ่งเป็นฉบับล่าสุด ณ พ.ศ.2562 ว่ามีสาระสำคัญเกี่ยวข้องกับการประเมินค่าทรัพย์สินที่เป็นต้นไม้อย่างไรบ้าง

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้สรุปสาระสำคัญของ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2562 ที่ลงในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนที่ 50 ก 16 เมษายน 2562 ดังนี้: (http://bit.ly/2V94dWE)

            มาตรา 3 ระบุว่าใน (5) ของมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 . . .“ทำไม้” หมายความว่า ตัด ฟัน กาน โค่น ลิด เลื่อย ผ่า ถาก ทอน ขุด ชักลากไม้ในป่า หรือนำไม้ออกจากป่าด้วยประการใด ๆ”
            มาตรา 4 ระบุว่าในวรรคหนึ่งของมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ให้แก้ว่า    “มาตรา 7 ไม้ชนิดใดที่ขึ้นในป่าจะให้เป็นไม้หวงห้ามประเภทใด ให้กำหนดโดย พระราชกฤษฎีกา สำหรับไม้ทุกชนิดที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวล กฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้าม หรือไม้ที่ปลูกขึ้นในที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ตามประเภท หนังสือแสดงสิทธิที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ให้ถือว่าไม่เป็น ไม้หวงห้าม”
            มาตรา 6 ให้มีส่วนเพิ่มเติมการรับรองไม้คือ มาตรา 18/1 เพื่อประโยชน์ในการจำแนกแหล่งที่มาของไม้ เจ้าของไม้ที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน หรือเจ้าของไม้ที่ปลูกขึ้นในที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำ ประโยชน์ตามประเภทหนังสือแสดงสิทธิที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จะแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อขอหนังสือรับรองไม้ก็ได้
            การแจ้งและการออกหนังสือรับรองตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกรมป่าไม้ กำหนดโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี
            มาตรา 18/2 ผู้ใดประสงค์จะขอหนังสือรับรองไม้ ผลิตภัณฑ์ไม้ และถ่านไม้ เพื่อการค้าหรือ การส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และเสียค่าใช้จ่ายในการออกหนังสือ รับรองตามที่กรมป่าไม้กำหนด
            การขอและการออกหนังสือรับรอง และอัตราค่าใช้จ่ายตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบ ที่อธิบดีกรมป่าไม้กำหนดโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี
            มาตรา 18/3 การออกหนังสือรับรองตามมาตรา 18/1 หรือมาตรา 18/2 กรมป่าไม้จะกำหนดให้สถาบันหรือองค์กรอื่นดำเนินการแทนก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขใน ระเบียบที่อธิบดีกรมป่าไม้กำหนด ในการนี้ให้ถือว่าพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของสถาบันหรือองค์กรอื่น ที่ดำเนินการแทนพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ การปฏิบัติตามความในส่วนนี้”
            มาตรา 7 ระบุว่า ในวรรคหนึ่งของมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ ให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา 25 ผู้ใดนำไม้ที่มิใช่ไม้หวงห้ามเข้าเขตด่านป่าไม้ ต้องเสียค่าธรรมเนียมตามอัตราที่รัฐมนตรีกำหนด เว้นแต่เป็นการนำไปเพื่อใช้สอยส่วนตัวภายในเขตท้องที่จังหวัดที่ทำไม้นั้น หรือ เป็นการนำไม้ที่ปลูกขึ้นในที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ตามประเภทหนังสือแสดงสิทธิที่รัฐมนตรี ประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง เข้าเขตด่านป่าไม้ ไปใช้สอยส่วนตัวไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม”
            มาตรา 9 บรรดาไม้สัก ไม้ยาง ไม้ชิงชัน ไม้เก็ดแดง ไม้อีเม่ง ไม้พะยุงแกลบ ไม้กระพี้ ไม้แดงจีน ไม้ขะยุง ไม้ซิก ไม้กระซิก ไม้กระซิบ ไม้พะยูง ไม้หมากพลูตั๊กแตน ไม้กระพี้เขาควาย ไม้เก็ดดำ ไม้อีเฒ่า และไม้เก็ดเขาควาย ที่ขึ้นในป่า ให้เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 จนกว่าจะได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความใน มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้
            ทั้งนี้ เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการกำหนดให้ไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจที่ขึ้นในที่ดินประเภทอื่นที่ไม่ใช่ป่า เป็นไม้หวงห้าม จึงทำให้การทำไม้และการเคลื่อนย้ายไม้ในที่ดินดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้มาตรการควบคุม ตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ดังนั้น เพื่อให้การทำไม้และการเคลื่อนย้ายไม้นั้นเป็นไปได้โดยสะดวกไม่เกิด ภาระแก่ประชาชน ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมไม้และการบริหารจัดการด้านการป่าไม้ ให้มีประสิทธิภาพ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้เพื่อกำหนดให้ไม้ที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้าม หรือไม้ที่ปลูกขึ้นในที่ดินที่ได้รับอนุญาต ให้ทำประโยชน์ตามประเภทหนังสือแสดงสิทธิที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ให้ถือว่าไม่เป็นไม้หวงห้าม รวมทั้งกำหนดเพิ่มหลักเกณฑ์การออกหนังสือรับรองไม้เพื่อประโยชน์ใน การจำแนกแหล่งที่มาของไม้ซึ่งเป็นมาตรการในการป้องกันการนำไม้ที่ลักลอบทำออกจากป่ามาสวมสิทธิว่า เป็นไม้ที่ทำออกจากที่ดินดังกล่าว และเพื่อการค้าหรือการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร จึงจำเป็นต้องตรา พระราชบัญญัตินี้

            เมื่อไม้ที่ปลูกในที่ดินเอกชนหรือที่ได้รับอนุญาตไม่ใช่ไม้หวงห้าม ก็จะทำให้ไม้มีราคาที่สอดคล้องกับมูลค่าที่แท้จริงในตลาดได้ และสามารถประเมินค่าได้สอดคล้องกับความเป็นจริง

อ่าน 31,831 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved