เร็วๆ นี้รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ นี่ถือเป็นการคิดผิดพลาดของรัฐบาลโดยแท้ สร้างวิกฤติให้กับผู้ซื้อบ้านหรือไม่
เมื่อวันอังคารที่ 30 เมษายน 2562 รัฐบาลได้ออกมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจและผ่านอสังหาริมทรัพย์ โดยมีรายละเอียดว่า "มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดินหรือห้องชุดในอาคารชุดที่มีมูลค่าไม่เกิน 5 ล้านบาท ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 200,000 บาท ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562" (https://bit.ly/2LewirT)
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นกลาง ไม่อยู่ใต้อาณัติของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด มีความเห็นว่ามาตรการข้างต้น ออกมาอย่างผิดพลาด ไม่สมควรออกมาตรการนี้ เพราะ:
1. เศรษฐกิจไทยแม้จะมีแนวโน้มตกต่ำลง แต่หากเป็นความจริงที่ตกต่ำลงจาก 4.0% เป็น 3.8% ก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปกระตุ้นเพียงเพราะเห็นความสำคัญกับตัวเลขแค่นี้ นี่แสดงว่ารัฐบาลเห็นแก่ตัวเลขที่เป็น "ผักชีโรยหน้า" เป็นสำคัญ
2. การสนับสนุนการลงทุนซื้อที่อยู่อาศัยในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจกำลังถดถอยนี้ เป็นสิ่งที่ไม่สมควร เว้นแต่ (ประมูล) ซื้อในราคาถูกพิเศษ ทั้งนี้เพราะในท่ามกลางความเสี่ยงประชาชนควร "กำเงิน" ไว้ดีกว่า เผื่อใช้ได้ในกรณีฉุกเฉิน ในครั้งวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ประชาชนทิ้งกระทั่งเงินดาวน์ 20% เพราะเศรษฐกิจตกต่ำ ไม่จำเป็นต้องแยกครอบครัว ไม่จำเป็นต้องซื้อบ้านใหม่ตอนแต่งงาน หรือไม่จำเป็นต้องซื้อบ้านใกล้ที่ทำงาน (เพราะที่ทำงานก็ไม่มีแล้ว-ถูกเลิกจ้าง)
3. การกำหนดราคาบ้านไม่เกิน 5 ล้านบาท แสดงว่าไม่ได้มุ่งช่วยผู้มีรายได้น้อยผิดกับหลักการช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาส
4. มาตรการนี้มีขึ้นเพื่อช่วยบริษัทผู้ขายบ้านให้สามารถขายบ้านได้สะดวก รวดเร็วมากกว่าเป็นการช่วยผู้ซื้อบ้าน ถือเป็นการที่ไม่ได้ช่วยประชาชนส่วนใหญ่
5. ในปี 2561 ที่ผ่านมาบริษัทมหาชนและบริษัทในเครือพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่ถึง 73% ของทั้งหมด (https://bit.ly/2T9Bmx9) แสดงว่ารัฐบาลมุ่งช่วยบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์มากกว่าประชาชนหรือไม่ แต่ในขณะเดียวกันในปี 2561 บริษัทมหาชนมีกำไรเพิ่มขึ้น 8% (https://bit.ly/2DHT0SZ) ในขณะที่คาดว่าในไตรมาสที่ 1/2562 บริษัทมหาชนจะมีกำไรเพิ่มขึ้นถึง 12-22% (https://bit.ly/2XYVrbx)
จะสังเกตได้ว่ามาตรการคราวก่อนที่เร่งโอนบ้านที่ออกมาโดยรัฐบาล ก็เป็นมาตรการช่วยผู้ประกอบการโดยแท้เช่นกัน เพราะทำให้บริษัทมหาชนมีกำไรเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 1/2562 พุ่งขึ้นไปอีก มาตรการล่าสุดนี้ก็หวังผลเพื่อช่วยบริษัทมหาชนอีกเช่นกัน เชื่อว่าก่อนออกมาตรการเหล่านี้ รัฐบาลคงฟังแต่เสียงของบริษัทพัฒนาที่ดินรายใหญ่ในรูปสมาคมด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยไม่ได้ฟังเสียงของสมาคมอื่นที่เป็นตัวแทนของประชาชน และนักวิชาชีพ เช่น สมาคมนายหน้า สมาคมผู้ซื้อบ้าน สมาคมบริหารทรัพย์สิน ฯลฯ ซึ่งมีรวมกันอีกกว่า 40 สมาคม
ยิ่งกว่านั้นรัฐบาลก็ไม่มีมาตรการอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาการฉ้อฉลของนักเก็งกำไรที่ร่วมมือกับพนักงานของสถาบันการเงินโดยปล่อยกู้พร้อมๆ กันหลายหลังในขณะที่ยังไม่มีการตรวจสอบเครดิตบูโร ขบวนการฉ้อฉลเหล่านี้จะทำลายความมั่นคงของระบบการเงินของประเทศ จะพบว่าทางราชการมีแต่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการปรามออกมาส่วนหนึ่งเท่านั้น