AREA แถลง ฉบับที่ 18/2555: 13 กุมภาพันธ์ 2555
เอสโครว์กับการสร้างยี่ห้ออสังหาริมทรัพย์
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน
ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
ในขณะนี้ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่วนใหญ่พัฒนาขึ้นโดยผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีชื่อเสียง ทำให้เข้าใจว่ายี่ห้อหรือ Brand ของอสังหาริมทรัพย์ช่วยให้การขายอสังหาริมทรัพย์ประสบความสำเร็จกว่า แต่ในความเป็นจริงยี่ห้อจะถูกสร้างขึ้นโดยการแสดงความรับผิดชอบผ่านกฎหมายเอสโครว์
จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส พบว่าในจำนวนบริษัทมหาชนด้านพัฒนาที่ดินเกือบ 40 แห่งในตลาดหลักทรัพย์นั้น เปิดตัวโครงการใหม่ในปี 2554 ถึง 155,587 ล้านบาท ถือเป็นสัดส่วนเกือบสองในสามหรือประมาณ 61% ของทั้งตลาด รวมจำนวนหน่วยถึง 47,510 หน่วย หรือ 55% เมื่อเทียบกับบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ที่เปิดตัวรวมกันเพียง 38,290 หน่วย
โดยทั่วไปบริษัทในตลาดหลักทรัพย์สร้างสินค้าที่มีราคาสูงกว่าบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ คือขาย ณ ราคาเฉลี่ย 3.275 ล้านบาท เทียบกับ 2.624 ล้านบาท ที่สำคัญก็คือ อัตราการขายได้ต่อเดือนของที่อยู่อาศัยของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ สามารถขายได้ 11.16% ของหน่วยขายทั้งหมดในโครงการต่อเดือน ในขณะบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ สามารถขายได้เพียง 7.35% ต่อเดือน ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ได้รับความเชื่อถือมากกว่าบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์
อย่างไรก็ตามธรรมชาติของอสังหาริมทรัพย์จะต้องยึดติดตรึงกับที่ และไม่มีใครสามารถครอบงำตลาดได้ จึงอาจไม่มีมูลค่าเท่าสินค้า ประเภท“สังหาริมทรัพย์” แต่ยี่ห้อของอสังหาริมทรัพย์ก็มีมูลค่าเหมือนกันและบริษัทพัฒนาที่ดินก็ควรเร่งสร้างยี่ห้อ เพราะ
1. เป็นการพัฒนาคุณภาพของสินค้า ผู้ซื้อรู้สึกภูมิใจและดีใจที่ได้ซื้อสินค้าอสังหาริมทรัพย์ของวิสาหกิจที่มี “ยี่ห้อ” น่าเชื่อถือ
2. ทำให้สามารถขายได้ดีขึ้น ยี่ห้อบางแห่งอย่าง “เอ็นซีฯ” “พฤกษาฯ” “บ้านกานดา” ลูกค้าจำนวนมากมาจากการ “บอกต่อ” ซึ่งแสดงว่ายี่ห้อดี คนให้ความเชื่อถือ ทำให้ขายคล่องขึ้นกว่าปกติ
3. ทำให้สามารถต่อรองกับคู่ค้า (supplier) โดยเฉพาะพวกวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ ได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้นักพัฒนาที่ดินที่มี “ยี่ห้อ” ประหยัดต้นทุนลงได้
การมียี่ห้อที่ดีก็คือการมีความรับผิดชอบต่อสังคม (corporate social responsibility หรือ CSR) ได้แก่ ความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทั้งหลาย ทั้งผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้า (supplier) และชุมชนโดยรอบหรือสังคมโดยรวม การแสดงความรับผิดชอบเหล่านี้ถือเป็นหน้าที่ และพันธกิจที่ต้องดำเนินการเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้มีส่วนได้เสีย การหลีกเลี่ยงอาจถือเป็นสิ่งผิดหรือหมิ่นเหม่ต่อกฎหมาย
ถ้าตราบใดที่บริษัทพัฒนาที่ดินทั้งหลายยังไม่มีมาตรการคุ้มครองเงินดาวน์แก่ผู้ซื้อบ้าน เผื่อว่าหากธุรกิจประสบปัญหาผู้ซื้อยังได้เงินดาวน์คืน หรือยังไม่มีการใช้สัญญาที่เป็นธรรมกับผู้ซื้ออย่างแท้จริงแล้ว ไม่ว่าจะสร้างภาพอย่างไร ก็สร้างได้แต่ยี่ห้อจอมปลอม ยี่ห้อจริง ๆ ต้องมีการลงทุนสร้างให้ดีอย่างแท้จริง จึงจะเกิดยี่ห้อที่มั่นคง ไม่ใช่การแต่งหน้าทาแป้งแต่พองามเท่านั้น
ผู้ประกอบการและรัฐบาลควรเร่งบังคับให้ผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินทุกรายปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ.2551 (กฎหมายเอสโครว์: Escrow Account) ซึ่งปัจจุบันเป็นกฎหมายที่ไม่ได้บังคับใช้ แต่ให้ใช้ตามอาสาสมัคร จึงไม่มีผู้ใดปฏิบัติตาม เมื่อไม่มีการใช้กฎหมายนี้ ก็เท่ากับเปิดโอกาสให้รายใหญ่เอาเปรียบรายเล็กด้วยยี่ห้อหรือชื่อเสียง (จอมปลอม) แต่ไม่มีการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านใด เมื่อผู้ประกอบการายใหญ่ไม่ใช้กฎหมายนี้ รายเล็กก็ไม่ใช้เพราะการใช้ต้องมีภาระทางการเงินในระดับหนึ่ง แต่ถ้าทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายนี้ แม้ต้นทุนจะเพิ่มขึ้น แต่สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้
การบังคับใช้กฎหมายนี้ จะทำให้ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ทำให้วงการพัฒนาที่ดินมีหลักประกัน เป็นการสร้างยี่ห้อที่ดีให้กับผู้ประกอบการเอง
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน |