ลิ้นจี่ “เป็นชื่อของผลไม้ประเภทผลเดี่ยวซึ่งมีลักษณะเปลือกสีแดงชนิดหนึ่งที่อยู่ในวงศ์ SAPINDACEAE (ซึ่งก็คือวงศ์เดียวกับเงาะและลำไยนั้นเอง) ลิ้นจี่นั้นเป็นผลไม้ที่มีรสชาติอร่อยให้ผลผลิตคุ้มค่ากับการลงทุนจึงถือว่าเป็นผลไม้ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยที่สามารถนำผลผลิตที่ได้มาจำหน่ายในรูปของผลไม้สดและผลไม้แปรรูป ปัจจุบันนี้ลิ้นจี่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีความหลากหลายขึ้นเรื่อย ๆ จากสายพันธุ์ดั้งเดิมที่มีอยู่แล้ว” (https://tinyurl.com/yy9w28hc)
อาจกล่าวได้ว่า ลิ้นจี่ “เป็นไม้ผลกึ่งเมืองร้อนอีกชนิดหนึ่ง ที่นิยมปลูกเป็นเวลาช้านาน เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคเหนือ โดยเฉพาะภาคเหนือ โดยเฉพาะภาคเหนือ โดยเฉพาะภาคเหนือ ตอนบนปัจจุบัน ที่ผ่านมามีการปลูกลิ้นจี่กันอย่างแพร่หลายเนื่องจากผลผลิตจำหน่ายได้ราคาดี ดูแลรักษาโรคแมลงรบกวนน้อย ลิ้นจี่เป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างประเทศ แหล่งผลิตลิ้นจี่ที่สำคัญ ได้แก่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ พะเยา สมุทรสงคราม” (https://tinyurl.com/y2lzqaqa) ลิ้นจี่สามารถเริ่มเก็บเกี่ยวได้แล้วสิ้นปีที่ 3
อย่างไรก็ตาม ต้นลิ้นจี่ก็สามารถอยู่ได้นาน เคยมีข่าวว่า “ลิ้นจี่ค่อม อัมพวา อายุร่วม 200 ปี” (https://tinyurl.com/yxrqexwe) ซึ่งกรณีนี้ก็คงเป็นเพียงบางต้นที่ยังหลงเหลืออยู่เท่านั้น ไม่ใช่ปล่อยทิ้งไว้ทั้งสวน แต่กรณีการอยู่นาน อายุมาก อาจทำให้ผลผลิตไม่คุ้มทุน จึงมีการโค่นต้นลิ้นจี่หลังการเก็บเกี่ยวตามระยะเวลา ที่ยังหลงเหลือบางต้นอาจกลายเป็น “วัตถุโบราณ” กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวไป
สำหรับการเตรียมพื้นที่ปลูกลิ้นจี่ “ลิ้นจี่ใช้ระยะปลูกระหว่าง 8×8 เมตร ถึง 10×10 เมตร ในพื้นที่ยกร่อง ขนาดของร่องจะบังคับระยะไว้ 8 เมตร ส่วนในพื้นที่ดอนระยะปลูกขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน ถ้าดินไม่ดีให้ปลูกถี่ ถ้าดินดีให้ปลูกห่าง. . .ในพื้นที่ลุ่มควรชุดหลุมในแนวตรงบนแปลงขนาด กว้างxยาวxลึก ประมาณด้านละ 50 ถึง 80 เซนติเมตร โรยปุ๋ยอินทรีย์ อัตรา 0.5 กิโลกรัมต่อหลุม หรือประมาณ 2-3 กำมือ คลุกให้เข้ากันแล้วกลบลงหลุมโดยให้ดินบริเวณปากหลุมสูงกว่าดินเดิมประมาณ 15 เซนติเมตร ส่วนพื้นที่ดอนขุดหลุมในแนวตรง กว้าง ยาวและลึกประมาณ 50-80 เซนติเมตร และเตรียมหลุมเช่นเดียวกันกับการเตรียมหลุมในที่ลุ่ม (https://tinyurl.com/yxgb4aua)
ในด้านตลาดลิ้นจี่ ล่าสุด “สศก. (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) พยากรณ์ผลผลิตภาคเหนือ ปริมาณลำไย-ลิ้นจี่เพิ่มจากปี’61” (https://tinyurl.com/y26oxekf) โดยระบุว่า “ลิ้นจี่เนื้อที่ให้ผลทั้ง 8 จังหวัด (ภาคเหนือ) รวม 95,381 ไร่ ลดลงจากปี 2561 ร้อยละ 1.10 ผลผลิตรวม 41,473 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.61 ส่วนผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผล 435 กิโลกรัม/ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.87 โดยสถานการณ์ผลิตลิ้นจี่ขณะนี้ออกดอกแล้วบางส่วน ทั้งนี้ ผลผลิตลิ้นจี่คาดว่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เพราะสภาพอากาศเหมาะสม ประกอบกับเกษตรกรดูแลดีและหันมาทำลิ้นจี่คุณภาพมาก โดยผลผลิตจะออกมากช่วงเดือนพฤษภาคม ประมาณร้อยละ 60 และต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2562
สำหรับในพื้นที่ศึกษาจังหวัดสมุทรสงคราม มีข่าวเมื่อปลายปี 2561 ว่า “ลิ้นจี่ แม่กลอง สินค้า GI ขึ้นชื่อของสมุทรสงคราม กับเหตุการณ์ล้มแล้วลุกจนเกือบสิ้นชื่อ” (https://tinyurl.com/y33pp34z) โดยมีความว่า “ในอดีตพื้นที่ของ จ.สมุทรสงคราม ทั้ง อ.บางคนที และ อ.อัมพวา มีพื้นที่เพาะปลูกลิ้นจี่เกือบประมาณ 20,000 ไร่ จนกระทั่งปัจจุบันเหลือเพียงประมาณ 5,700 ไร่. . .กว่า 4 ปีแล้ว ที่ผลผลิตลิ้นจี่ จ.สมุทรสงคราม ไม่เคยออกสู่ตลาดเลย. . .จนกระทั่งปีที่แล้ว (2560) เมื่อผลผลิตลิ้นจี่ สมุทรสงคราม ออกสู่ตลาดกว่า 4,000 ตัน”
จากการศึกษาในจังหวัดสมุทรสงคราม ราคาสวนลิ้นจี่เมื่อเริ่มปลูกโดยซื้อพันธุ์ไม้ ปรับปรุงสภาพดิน ฯลฯ ก็จะทำให้มูลค่าสวนลิ้นจี่เมื่อแรกปลูกสูงกว่าที่ดินเปล่า โดยมีมูลค่า 233% หรือ 2.3 เท่าของที่นา-ที่ดินเปล่า และสูงสุดเมื่อเริ่มเก็บผลได้ ณ สิ้นปีที่ 3 มูลค่าสวนเพิ่มเป็น 330% หลังจากนั้น ราคาสวนลิ้นจี่ก็จะค่อยๆ ลดลงเหลือเท่ากับ 100% ของราคาที่นา หรือเท่ากับต้นลิ้นจี่อายุ 30 ปีก็จะหมดมูลค่าเพราะต้นลิ้นจี่แก่อาจให้ผลผลิตที่ไม่คุ้มค่า
กรณีสวนลิ้นจี่ หลังหมดอายุขัยทางเศรษฐกิจแล้ว ต้นลิ้นจี่ก็คงไม่มีมูลค่าอย่างมีนัยใดๆ ราคาก็จะพอๆ กับที่ดินเปล่านั่นเอง กรณีนี้ต่างจากไม้ยางที่สามารถนำต้นยางไปทำเฟอร์นิเจอร์ (https://bit.ly/2W2E2hL) จึงทำให้สวนไม้ยางที่หมดอายุขัยในการกรีดแล้ว ยังมีมูลค่าสวนสูงกว่าที่ดินเปล่าเป็นอย่างมาก
จะประเมินค่าสวนลิ้นจี่อย่างไร เราต้องศึกษาตลาดให้ดีและเห็นวัฏจักรราคาตามอายุขัย
ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โลกวันนี้ วันพุธที่ 1 พฤษภาคม 2562