การประเมินค่าไม้สัก
  AREA แถลง ฉบับที่ 289/2562: วันพุธที่ 29 พฤษภาคม 2562

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ก่อนอื่นเรามารู้จักไม้สักกันก่อนว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร ประโยชน์ใช้สอย  ตลอดจนการปลูกป่าไม้สัก และในที่สุดก็เป็นวิธีการในการประเมินค่าไม้สัก

            สัก (Teak) เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ผลัดใบในฤดูร้อน ลำต้นเปลาตรงเปลือกเรียบหรือแตกเป็นร่องเล็ก ๆ สีเทา โคนเป็นพูพอนต่ำ ๆ เรือนยอดเป็นพุ่มทรงกลมค่อนข้างทึบ เปลือกสีเทา เรียบ หรือแตกเป็นร่องตื้นตามความยาวลำต้น ขึ้นเป็นหมู่ในป่าเบญจพรรณทางภาคเหนือ บางส่วนในภาคกลางและภาคตะวันตก มีอยู่บ้างทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สักมักจะได้รับความเข้าใจผิดเสมอว่าเป็นไม้เนื้อแข็งเนื่องจากว่ามันมีลักษณะพิเศษที่เป็นไม้เนื้ออ่อนที่มีความทนทานกว่าไม้เนื้อแข็งหลาย ๆ ชนิด (https://bit.ly/2R04Trm)

            ไม้สักชั้นหนึ่งมีเนื้อไม้สีน้ำตาลทอง และมีเส้นลวดลายสีดำ เรียกว่า "สักทองลายดำ" เนื้อไม้สักค่อนข้างละเอียด มีเสี้ยนตรงทำให้ง่ายต่อการเลื่อย ไส และตบแต่ง มีความแข็งแรงเท่าเทียมกับไม้เนื้อแข็ง. . .ใช้ในงานก่อสร้าง และทำโครงสร้างของที่อยู่อาศัย ใช้ทำดาดฟ้าเรือ ทำเครื่องเรือน และแกะสลักได้อย่างสวยงาม นอกจากไม้สักจะมีคุณสมบัติที่ต้านทานการรบกวนจากปลวก และเชื้อเห็ดราแล้ว ยังมีความทนทานต่อลมฟ้าอากาศได้อย่างดีเยี่ยม ดังจะเห็นได้จากสภาพของโบสถ์ วิหาร หรือบ้านที่มีอายุหลายร้อยปี ที่สร้างขึ้นด้วยไม้สัก ในจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศ (https://bit.ly/2VfrdiZ)

            ที่อุทยานแห่งชาติต้นสักใหญ่ มีต้นสักที่โตที่สุดในโลกปัจจุบันที่ยังยืนต้นอยู่ และยังได้รับยกย่องให้เป็น 10 สุดยอดต้นไม้มหัศจรรย์ของไทย. . .ลำต้นโต 9.85 เมตร สูงประมาณ 47 เมตร มีอายุซึ่งประมาณว่าไม่น้อยกว่า 1,500 ปี บริเวณรอบ ๆ ต้นสักใหญ่ประกอบด้วยต้นสักขนาดย่อม ลูกไม้สัก เป็นป่าเบญจพรรณซึ่งมีไม้สักเป็นองค์ประกอบโดยรอบป่าธรรมชาติ บริเวณวนอุทยานต้นสักใหญ่สภาพป่าธรรมชาติโดยทั่วไปสภาพดี (https://bit.ly/2W0Q8eo)

            นอกจากนี้ยังมีสะพานอู้เบน ซึ่งเป็นสะพานไม้สักทอดข้ามทะเลสาบตองตะมาน มุ่งตรงไปยังเจดีย์เจาะตอจี้ ซึ่งอยู่อีกฟากของทะเลสาบ ตั้งอยู่ที่อมรปุระ ก่อนจะเข้าถึงตัวเมืองมัณฑะเลย์ มีความยาว 1.2 กิโลเมตร (0.75 ไมล์) สร้างขึ้นเมื่อราวปี ค.ศ. 1850 และเชื่อว่าเป็นสะพานไม้สักที่เก่าแก่และยาวที่สุดในโลก สะพานสร้างจากไม้สักที่เหลือจากการรื้อพระราชวังเก่ากรุงอังวะ เมื่อครั้งย้ายเมืองหลวงจากอังวะ มายังอมรปุระ จำนวน 1,086 ต้น ชื่ออู้เบนนั้นเป็นชื่อของขุนนางที่มีนามว่า "อูเบียน" ซึ่งพระเจ้าปดุงโปรดเกล้าฯ ให้มาทำหน้าที่เป็นแม่กองงานสร้าง (https://bit.ly/2HibGdb)

            สำหรับอัตราการเจริญเติบโตไม้สักทอง ของสวนป่าแม่เมาะ จ.ลำปาง (อ.อ.ป.) (https://bit.ly/2W7s8qh)  แสดงไว้เป็นตัวอย่างดังนี้:           

 

อายุ (ปี) เส้นรอบวง (ซ.ม.) โตเฉลี่ย/ปี (ซ.ม.)
5 39 7.8
10 63 6.3
15 74 4.93
20 86 4.3
25 92 3.68
63 (ไม้สักป่าธรรมชาติ) 90 1.43

 

            หลักเกณฑ์ในการประเมินค่าไม้สักตามเอกสารซึ่งเป็นการนำเสนอของสหกรณ์สวนป่าภาคเอกชน จำกัดและวิสาหกิจชุมชนชมรมไม้กฤษณา (ไม้หอม) แห่งประเทศไทย กำหนดไว้เบื้องต้นคือ

            1. คำนวณหาปริมาตรไม้ ให้ใช้สูตรหลักของการคำนวณปริมาตรของไม้ยืนต้น คือ สูตรโต x โต x สูง x 7.96 / 1,000,000 โดยได้ปริมาณไม้เป็นลูกบาศก์เมตร

            2. วัดระยะจากพื้นดินขึ้นมา ระยะ 1.3 เมตร แล้ววัดเส้นรอบวงของลำต้น เรียกว่า “ความโต”

            3. วัดระยะจากพื้นดินขึ้นมาถึงเรือนยอดของต้นไม้  แล้วลบออก 30% เรียกว่า “ความสูง”

            สำหรับราคาราคาไม้สักตามอายุที่แตกต่างกันตามการประมาณการของสหกรณ์ฯ เป็นดังนี้:

            1. ไม้สักที่มีอายุตั้งแต่ 5-10 ปี ราคาประเมิน ลบ.เมตรละประมาณ 1,000 บาท

            2. ไม้สักที่มีอายุตั้งแต่ 11-15 ปี ราคาประเมิน ลบ.เมตรละประมาณ 2,000 บาท

            3. ไม้สักที่มีอายุตั้งแต่ 16-20 ปี ราคาประเมิน ลบ.เมตรละประมาณ 3,000 บาท

            4. ไม้สักที่มีอายุตั้งแต่ 21-25 ปี ราคาประเมิน ลบ.เมตรละประมาณ 5,000 บาท

            5. ไม้สักที่มีอายุตั้งแต่ 25-30 ปี ราคาประเมิน ลบ.เมตรละประมาณ 7,000 บาท

            6. ไม้สักที่มีอายุตั้งแต่ 31-35 ปี ราคาประเมิน ลบ.เมตรละประมาณ 8,000 บาท

            7. ไม้สักที่มีอายุตั้งแต่ 36-40 ปี ราคาประเมิน ลบ.เมตรละประมาณ 10,000 บาท

            8. ไม้สักที่มีอายุตั้งแต่ 41-45 ปี ราคาประเมิน ลบ.เมตรละประมาณ 12,000 บาท

            9. ไม้สักที่มีอายุตั้งแต่ 46-50 ปี ราคาประเมิน ลบ.เมตรละประมาณ 15,000 บาท

            10. ไม้สักที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ราคาประเมิน ลบ.เมตรละประมาณ 18,000-25,000 บาท ตามขนาดของลำต้น เช่นไม้สักอายุมากลำต้นโตสวนสูงชะลูดไม่โพรง หรือไม่มีรอยแมลงเจาะรู ราคาประเมินก็จะสูง

            ราคาตลาดเพื่อใช้ในการเปรียบเทียบยังมีแหล่งที่มาของทางราชการคือกรมป่าไม้ ตามข้อมูลสารสนเทศป่าไม้ (https://bit.ly/2Jh4OA6) มีข้อมูลราคาไม้ ระหว่างเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2559 เป็นข้อมูลที่ปรับปรุงล่าสุด โดยนัยนี้ผู้ประเมินสามารถสืบค้นย้อนกลับไปถึงปี 2557 ทำให้สามารถสร้างเส้นแนวโน้มตลาดได้โดยเบื้องต้นเพื่อประมาณการราคาไม้สักในปัจจุบัน  นอกจากนี้ผู้ประเมินยังอาจดูได้จากเว็บไซต์ของวงการไม้สัก (https://bit.ly/2VyFWdB) รวมทั้งเว็บขายต่างๆ เช่น Alibaba มีราคาไม้สักเป็นท่อน (https://bit.ly/2YucD9l) และไม้สักเป็นต้นจากแหล่งต่างๆ ในภูมิภาคนี้ (https://bit.ly/2JjjSxo) เพื่อใช้ดูแนวโน้มในตลาดโลกอีกด้วย

            ดังนั้นก่อนที่จะลงทุนปลูกไม้เศรษฐกิจโดยเฉพาะไม้สักนี้ จึงพึงประเมินภาวะตลาด ราคาตลาด และผลตอบแทนที่พึงได้รับให้ชัดเจน เพื่อความมั่นใจในการลงทุน

 

ที่มาภาพ :  http://bit.ly/2Wbmy6L

 

ตีพิมพ์ครั้งแรก หนังสือพิมพ์โลกวันนี้ วันพุธที่ 15 พฤษภาคม 2562

http://www.lokwannee.com/web2013/?p=358718

อ่าน 156,807 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved