ดร.โสภณวิพากษ์ พ.ร.บ.ผังเมือง พ.ศ.2562 ฟันธง ไม่ได้เรื่อง ใช้ไม่ได้
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตด้าน Human Settlements Planning ขอวิพากษ์ พ.ร.บ.ผังเมือง พ.ศ.2562 ที่เพิ่งออกเมื่อ 24 พฤษภาคม นี้
1. ในมาตรา 8 กำหนดให้มีผังนโยบายระดับประเทศ ผังนโยบายระดับภาค และผังนโยบายระดับจังหวัด
ข้อนี้ฟังดูดีที่มีการครอบคลุมการวางผังอย่างทั่วถึง แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับเป็นความสิ้นเปลืองอย่างยิ่งกับการวางผังมากมาย ลำพังการวางผังเมืองรวมในแต่ละท้องที่ก็ยังดำเนินการไม่ทันเวลา ไม่เรียบร้อย ไม่สมบูรณ์ ปล่อยให้ผังเมืองหมดอายุไปมากมาย ผังเมืองหลายพื้นที่หมดอายุไปนับ 10 ปีก็ยังไม่ได้ดำเนินการปรับปรุงใหม่ จนต้องแก้กฎหมายไม่ให้ผังเมืองมีการหมดอายุ
ยิ่งคิดจะทำผังนโยบายทั้งระดับจังหวัด ระดับภาคและระดับประเทศ ยิ่งขาดรายละเอียดมากขึ้น การไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงยิ่งมีมากขึ้น บางครั้งกลายเป็นช่องทางในการตีความของเจ้าหน้าที่ในการขออนุญาตต่างๆ เป็นการกีดขวางการพัฒนาที่ดินตามสมควร ยิ่งกว่านั้นในการอนุรักษ์ในรูปการต่างๆ ก็อยู่ในอำนาจความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นดูแลกันอยู่แล้ว การทำผังนโยบายอีก 3 ระดับจึงถือเป็นความสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินไปมากโดยเกิดประโยชน์น้อย
2. ในมาตรา 29-32 และมาตราอื่นที่เกี่ยวข้องกับการรับฟังความเห็นของประชาชนนั่นเป็นสิ่งที่บีไว้ในเชิงสัญลักษณ์และรูปแบบเปลือกนอกเท่านั้น
อย่างกรณีการทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครล่าสุดในขณะนี้ก็มีการประชุมกันเชิงแบบไปเรื่อย และอีกไม่ช้าก็คงได้ประกาศใช้ ซึ่งคล้ายกับผังเมืองรวม กรุงเทพมหานครในปี 2556 ที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรับทราบ และแม้มีผู้คัดค้านถึง 2,000 ราย แต่ก็มีเพียง 3 รายที่ได้รับการสนอง ที่เหลือก็ไม่ได้รับการชี้แจงแต่อย่างใด อันที่จริง ถ้าต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมจริง ก็ควรให้ประชาชนในแต่ละหมู่บ้าน ตำบล เขต แขวงเป็นผู้วางผัง กำหนดการใช้ที่ดินจากล่างขึ้นบน ไม่ใช่จากบนลงล่างอย่างเช่นทุกวันนี้
3. ในมาตรา 48 ผังเมืองเฉพาะที่ใช้บังคับเฉพาะพื้นที่เล็กๆ กลับต้องตราออกมาเป็นพระราชบัญญัติ เป็นสิ่งที่ไร้เหตุผลเป็นอย่างยิ่ง
ในสมัยเดิมเคยมีหลักการและเหตุผลว่าหากมีการจำกัดสิทธิ์ต่อประชาชนอย่างชัดเจน สมควรตราเป็นพระราชบัญญัติเพื่อให้ผู้แทนของประชาชนได้พิจารณาในชั้นสุดท้าย แต่ในความเป็นจริงสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นผู้แทนของคนทั้งประเทศจะไปรู้เรื่องหรือเข้าใจพื้นที่เฉพาะแห่งใดแห่งหนึ่งได้อย่างไร เราพึงฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่เองมากกว่า ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงแทบไม่มีตรา พ.ร.บ. ผังเมืองเฉพาะในท้องที่ใดเลย
4. ในมาตรา 71 หรือมาตราอื่นที่เกี่ยวข้องกับการตั้งคณะกรรมการทั้งหลายนั้น เป็นการคิดตามระบบราชการที่ขาดการสร้างสรรค์
จะเห็นได้ว่ากรรมการส่วนมากมักเป็นข้าราชการประจำเกือบทั้งหมด หลายหลายส่วนก็ถ้าไม่เกี่ยวข้องโดยตรง ระบบคิดที่เอาข้าราชการหลายหลากมาเป็นคณะกรรมการร่วม แต่ว่าแต่ละหน่วยงานก็ยังขาดบูรณาการเป็นความคิดเก่าที่มักไม่ค่อยเกิดโภคผลเท่าที่ควรในภาคปฏิบัติ ยิ่งนำพวกประธานหอการค้า ประธานสภาอุตสาหกรรมมาร่วมด้วย ยิ่งดูเป็นระบบราชการเพราะคนในสองตำแหน่งนี้ รับเป็นกรรมการสารพัดไปนับร้อยชุดแล้วกระมัง ยิ่งกว่านั้นผู้ทรงคุณวุฒิก็ได้จากการแต่งตั้งแบบ “เลือกที่รักมักที่ชัง” คงไม่เป็นตัวแทนของนักวิชาชีพที่เกี่ยวข้องอย่างแน่นอน
5. ในมาตรา 74 (8) จัดทำธรรมนูญว่าด้วยการผังเมืองเพื่อใช้เป็นหลักการพื้นฐานที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผังเมือง พึงปฏิบัติเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ
นี่ถือเป็นการสร้างวาทกรรมใหม่ที่ไม่มีอะไรใหม่เลย หลักคิดก็คงมีเพียงว่าเราจะแสวงหาความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ได้อย่างไร แต่ในประเทศไทยการผังเมือง การประเมินค่าทรัพย์สิน การเสียภาษี การก่อสร้างสาธารณูปโภค การเวนคืน และอื่นๆกลับต่างคนต่างเดินกันมาเนิ่นนานแล้ว แม้แต่การตั้งกรมโยธาธิการและผังเมืองให้สองส่วนทำงานร่วมกันก็ไม่มีสัมฤทธิผลเท่าที่ควรจนต้องคิดใหม่ เราต้องทำให้ทุกองคาพยพไปด้วยกันอย่างแท้จริงเช่นในนาอารยประเทศการผังเมืองไทยจึงจะประสบความสำเร็จ ไม่ใช่มาสร้างวาทกรรมช่นนี้
การคิดและวางผังเมืองแบบข้าราชการประจำ และโดยเฉพาะการรับจ้างทำผังเมืองของเหล่านักวิชาการหน้าเดิมๆ ที่ยังรับจ้างทำมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ผังเมืองกรุงเทพมหานคร คงไม่สร้างมิติใหม่ต่อการผังเมือง และต่ออนาคตใหม่ของการพัฒนาประเทศอย่างแน่นอน