เรามักอ้างว่าที่ไม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทักษะแรงงานยังไม่ได้รับการพัฒนา นี่คือตรรกวิบัติเพื่อเลี่ยงการขึ้นค่าแรงโดยเฉพาะ
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th)ในฐานะที่เป็นกรรมการบริหาร สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย และยังเคยเป็นประธานสภาฯ แต่ไม่ได้พูดในนามของสภาฯ (พูดในนามส่วนตัว) เกี่ยวกับการเลี่ยงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
ที่ผ่านมามักมีการอ้างว่ายังจะไม่มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำหากทักษะของแรงงานยังไม่ได้รับการพัฒนา ทั้งนี้โดยไม่ยอมรับความจริงที่ว่า
1. ค่าครองชีพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ภาวะเช่นนี้แสดงว่าแรงงานยากจนลงทุกปี จึงต้องดิ้นรนเอาตัวรอดไปวันๆ แล้วจะสามารถพัฒนาทักษะได้อย่างไร
2. ค่าแรงนั้นเป็นเพียงต้นทุนในสัดส่วนน้อยมากในอุตสาหกรรมแทบทุกประเภทยกเว้นอุตสาหกรรมบริการ การขึ้นค่าแรงถึงแทบไม่มีผลกระทบต่อราคาสินค้าตามที่มักมีการกล่าวอ้าง
3. การขึ้นค่าแรงจะสนับสนุนให้แรงงานมีการพัฒนาทักษะความรู้ ทำให้กิจการของนายทุนพัฒนาและมีกำไรยิ่งขึ้น
4. การขึ้นค่าแรงยังช่วยให้แรงงานมีชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และความเสี่ยงด้านอาชญากรรมจากความยากจนจะลดลง
5. นอกจากนี้การขึ้นค่าแรงยังเป็นเหตุผลด้านมนุษยธรรมช่วยกลุ่มผู้มีรายได้น้อย-ผู้ยากไร้อีกด้วย
ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นทุกปี ค่าครองชีพเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ค่าแรงขั้นต่ำกลับถูกตรึงไว้ให้นานๆ ขึ้นทีหนึ่ง นี่ถือเป็นการประกอบอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ และทำร้ายเพื่อนร่วมชาติที่มีรายได้เพียงระดับค่าแรงขั้นต่ำ อันที่จริงรัฐควรมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปีตามดัชนีค่าครองชีพที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
อย่าปล่อยให้คนจน ยิ่งจนลงไปจนถูกบังคับให้เป็นโจรสร้างความเดือดร้อนแก่สังคมโดยรวม