การประเมินค่าป่าไม้ในญี่ปุ่น
  AREA แถลง ฉบับที่ 307/2562: วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน 2562

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ป่าไม้ถือเป็นทรัพยากรสุดหวงแหนอันหนึ่งของประเทศ  ญี่ปุ่นมีพื้นที่ดินเพียง 364,485 ตารางกิโลเมตร หรือเป็นพื้นที่เพียง 71% หรือราวสองในสามของประเทศไทย แต่กลับมีพื้นที่ป่าถึง 69% (https://bit.ly/KY7jEY)  ในขณะที่ไทยเรามีพื้นที่ป่าเพียง 37% (https://bit.ly/1nk5eRW) เท่านั้น อันที่จริงไทยอาจมีพื้นที่ป่าเหลือน้อยกว่าตัวเลขที่เป็นทางการนี้ก็ได้ เพราะไทยมีป่าเขาหัวโล้นเต็มไปหมด

            สาเหตุหนึ่งที่ญี่ปุ่นมีป่าเขามากเป็นพิเศษก็เพราะภูมิประเทศที่เป็นเขาสูง ไม่เหมาะแก่การอยู่อาศัย ประชาชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามที่ราบใกล้ชายฝั่งทะเลมากกว่า ญี่ปุ่นจึงรักษาป่าไม้ไว้ได้ นอกจากนี้ยังมีการควบคุมป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าอย่างเข้มงวดพร้อมกับการปลูกจิตสำนึกของประชาชนอย่างจริงจัง แต่สำหรับในกรณีประเทศไทยและเรายังมักได้ยินข่าวเจ้าหน้าที่ทำผิดกฎหมายทำลายป่าเสียเอง

            ในประเทศญี่ปุ่นก็มีมาตรฐานและแนวทางการประเมินค่าป่าไม้เช่นกัน  เขาวางหลักเกณฑ์และหลักการไว้น่าสนใจไม่น้อย  ในโอกาสที่ประเทศไทยของเราให้ความสนใจเกี่ยวกับการประเมินค่าต้นไม้ป่าไม้มากขึ้น หลักเกณฑ์ในประเทศญี่ปุ่นจึงเป็นสิ่งที่ควรนำมาศึกษาเปรียบเทียบ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในการประเมินค่าป่าไม้ในฐานะที่เป็นทรัพย์สินอันมีค่า

            มาตรฐานของญี่ปุ่นนั้นอันที่จริงก็ใช้ของสหรัฐอเมริกา โดยในเรื่องนี้ ปรากฏว่ามาตรฐานครั้งแรกของญี่ปุ่นกำหนดไว้เมื่อปี 2507 และมาตรฐานครั้งล่าสุดออกเมื่อ 1 พฤษภาคม 2557 โดยกระทรวงที่ดิน สาธารณูปโภค การขนส่ง และการท่องเที่ยว (Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism) การปรับปรุงมาตรฐานกระทำทุก 5 ปี ดังนั้นในปี 2563 คงจะมีการปรับปรุงมาตรฐานใหม่  แต่ที่ผ่านมาก็เป็นการปรับปรุงเพียงถ้อยคำเล็กน้อยเป็นสำคัญ

            ในเบื้องต้น ในการซื้อขายที่ดินที่เป็นป่าไม้นั้น นอกจากเป็นที่ดินแล้วยังมีป่าไม้ติดตรึงอยู่ในที่ดินนั้นด้วย จึงจำเป็นต้องมีการประเมินค่าทรัพย์สินป่าไม้ผืนหรือส่วนนั้น การซื้อขายเปลี่ยนมือมักเกิดในกรณีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการต่างๆ ของส่วนราชการส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น หรืออาจมีการซื้อขายเปลี่ยนมือในกรณีอื่นใดก็ตามก็จำเป็นต้องตีมูลค่าของป่าไม้ให้ชัดเจนและเป็นธรรม

 

            ในการประเมินค่าป่าไม้ หลักการในเบื้องต้นนั้น:

            1. พิจารณาจากผลประโยชน์ซึ่งประเมินค่าเป็นตัวเงินที่จะได้รับจากต้นไม้และผืนป่า และอีกแนวทางหนึ่งก็คือการประเมินด้วยวิธีต้นทุนของการสร้างผืนป่าขึ้นมาทดแทนใหม่

            2. ป่าประกอบด้วยที่ดินและต้นไม้ ในแง่หนึ่งเราจึงควรแยกมูลค่าของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากไม้ เช่น ซุง ออกมาให้เห็นชัดเจนด้วย

            3. มูลค่ามาจากการพิจารณาราคาที่เคยซื้อขาย ราคาที่จะซื้อจะขาย ความคาดหวังต่อราคา ราคาที่คาดหวังว่าจะซื้อจะขายได้ในอนาคต ต้นทุนค่าสร้างทดแทน และอื่นๆ

            4. ในการประเมินต้นไม้ ผู้ประเมินต้องคำนึงถึงชนิดของต้นไม้ รูปทรงของต้นไม้ อายุของต้นไม้ คุณภาพหรือเกรดของไม้ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ปริมาตรไม้ ความยาวของท่อนไม้ เป็นต้น

            5. การประเมินค่ายังคำนึงถึงผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ สังคม และธรรมชาติจากการมีป่าไม้มาประกอบด้วย

 

            สำหรับวิธีการประเมินค่าทรัพย์สิน ใช้วิธีดังนี้:

            1. การประเมินค่าโดยวิธีต้นทุนนั้นคำนึงถึง ต้นทุนโดยรวมของค่าใช้จ่ายสุทธิในการสร้างต้นไม้และบ่าไม้ในลักษณะของการปลูกป่าขึ้นมาใหม่ ทั้งนี้ยังรวมถึงต้นทุนในการก่อสร้าง เช่น ถนนเพื่อการบำรุงรักษาป่าหรืออื่นใดที่จำเป็นต่อการดูแลป่าไม้ในอนาคตอีกด้วย

            2. การประเมินค่าจากราคาที่คาดหวังในฤดูกาลตัดฟันในอนาคต ราคาดังกล่าวนี้วิเคราะห์จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงราคาในอดีตที่ผ่านมานั่นเอง

            3. การประเมินค่าโดยวิธีแปลงรายได้เป็นมูลค่า โดยพิจารณาจากรายได้สุทธิในอนาคตหารด้วยอัตราผลตอบแทนในการลงทุนสำหรับป่าไม้พื้นที่ที่ทำการประเมิน

 

 

            ในการสำรวจวิจัยเพื่อการประเมินค่าป่าไม้นั้น ผู้ประเมินค่ะยังต้องพิจารณาถึง

            1. ราคาตลาดของไม้ซุง ไม้แปรรูป

            2. รายได้ที่จะได้จากผืนป่า

            3. ขนาดของป่าและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

            4. การตัดออกบางส่วนของพื้นที่ป่าไม้เช่นในกรณีการตัดถนน

            5. การเสื่อมค่าหรือการด้อยค่าลง ของผืนป่า (ถ้ามี) จากการตัดผืนป่า

 

            มาตรฐานของการประเมินค่าป่าไม้ในญี่ปุ่นจึงมีโดยสังเขปข้างต้น อย่างไรก็ตามในที่นี้เป็นการสรุปมาตรฐานการประเมินค่าทรัพย์สินในเบื้องต้นเท่านั้น ไม่ได้แปลอย่างละเอียด และในมาตรฐานนี้ก็ไม่มีส่วนที่แสดงถึงวิธีการคำนวณซึ่งเป็นส่วนที่ปรากฏอยู่ในมาตรฐานการประเมินค่าทรัพย์สินหลักอยู่แล้ว มาตรฐานการประเมินค่าป่าไม้ของญี่ปุ่นจึงเป็นเสมือนแนวทางหรือข้อแนะนำที่พึงปฏิบัติให้ครบถ้วนเพื่อการประเมินค่าทรัพย์สินให้เชื่อถือได้

            สำหรับในการประเมินค่าทรัพย์สินภาคปฏิบัติโดยเฉพาะผืนป่าขนาดใหญ่ ควรมีความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องป่าไม้และสาขาวิชาชีพอื่นที่เกี่ยวข้องมาประกอบการวิเคราะห์เพื่อประเมินมูลค่าทรัพย์สินด้วย ถือเป็นการปฏิบัติวิชาชีพแบบสหศาสตร์ ( Interdisciplinary Approach) เมื่อผ่านการศึกษาที่รอบด้านแล้ว ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินสมควรเป็นผู้ให้มูลค่าในฐานะนักวิชาชีพด้านการประเมินค่าทรัพย์สินโดยตรง

 

ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โลกวันนี้ วันพุธที่ 22 พฤษภาคม 2562

http://www.lokwannee.com/web2013/?p=359816

อ่าน 5,128 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved