อ.ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์
อดีตนายกสมาคมสถาปนิกสยาม
ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก มาตรา 30 บัญญัติให้สำนักงานพัฒนาพิเศษเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมืองจัดทำรายละเอียดของแผนผังการประโยชน์ที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่คณะกรรมการนโยบายเห็นชอบในแผนนั้น ซึ่งผ่านความเห็นชอบในการประชุมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2561 ซึ่งมิได้กำหนดให้เรียกว่าเป็นกฎกระทรวงผังเมืองรวมและจะต้องแล้วเสร็จในวันที่ 10 สิงหาคม 2562
แต่ที่ปรากฏความคืบหน้าของการกำหนดแผนผังการจัดทำรายละเอียดตามมาตรา 30 นั้น คืบหน้าว่าในวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองจะเรียกประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อสรุปข้อคิดเห็นจากประชาชน ส่วนราชการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หลักจากรับฟังความคิดเห็นประชาชนมา 19 ครั้ง
ตามกำหนดการตามมาตรา 32 ของ พรบ. อีอีซี ก็คือ ให้ถือว่าร่างแผนผังข้างต้นจะให้ถือว่าเป็น ผังเมืองรวม ตาม กม.ผังเมือง และจะยกเลิกกฎกระทรวงผังเมืองรวมของทั้ง 3 จังหวัด ที่ประกาศใช้บังคับอยู่ทั้งหมด
ประเด็นข้อสังเกตก็คือ ปัจจุบันการบังคับใช้ผังเมืองในพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด หรือในเขตอีอีซี โดยเฉพาะเมืองชลบุรีพบว่ามีกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ได้แก่
และที่สำคัญก็คือ ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ อีก 2 ฉบับ ซึ่งไม่อยู่ในขอบเขตอำนาจของกรมโยธาธิการและผังเมืองที่จะมีอำนาจยกเลิกประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ
ซึ่งเมื่อพิจารณาร่างผังเมืองเท่าที่ปรากฏในข่าวสาร ไม่พบความละเอียดชัดเจนของผังเมืองที่กำลังร่าง พอจะให้เข้าใจได้อย่างชัดเจน รวมทั้งไม่ปรากฏผังของระบบสาธารณูปโภค 8 รายการ ตามมาตรา 30 พรบ.อีอีซี ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่งานระบบสาธารณูปโภคไปจนถึงระบบการควบคุมและขจัดมลภาวะ ระบบป้องกันอุบัติภัย
และเช่นเดียวกับร่างกฎกระทรวงผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ปรับปรุงครั้งที่ 4 ที่ไม่ว่ามีกฎกระทรวงผังเมืองรวมกรุงเทพฉบับใดหรือปรับปรุงครั้งใด
กรุงเทพมหานครก็มีกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร 2 ฉบับ ที่ควบคุมการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ การห้ามก่อสร้าง ชนิด ขนาด ประเภทของอาคารต่างๆ
มีเทศบัญญัติของเทศบาลกรุงเทพฯ ซึ่งกำหนดบริเวณพื้นที่ห้ามสร้างอาคารบางชนิดบางประเภท 7 ฉบับ
ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องกำหนดบริเวณซึ่งอาคารบางชนิดบางประเภทจะปลูกสร้างมิได้ รวม 62 ฉบับ
ความแตกต่างของกฎกระทรวงที่เรียกว่ากฎกระทรวงผังเมืองรวม อีอีซี กับร่างกฎกระทรวงผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ก็คือ
ร่างผังเมืองรวมของ EEC จะมีการยกเลิกกฎกระทรวงที่อยู่ในพื้นที่ EEC 13,266 ตารางกิโลเมตร ประชากร 2,924,747 คน แล้วมีผังเมืองที่ดูเหมือนเป็นเพียงผังเมืองที่ควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน 4 เขต คือ
ที่ดินศูนย์กลางพาณิชยกรรม
ที่ดินรองรับการพัฒนาเมือง
ที่ดินเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษสำหรับอุตสาหกรรม
ที่ดินพัฒนาอุตสาหกรรม และที่ดินอนุรักษ์ป่า
โดยใช้เวลาร่าง 1 ปี ที่ไม่มีแผนผังงานระบบต่างๆ ตามบทบัญญัติที่ตราไว้ใน พรบ.การผังเมือง ขณะที่ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพฯ 1,600 ตารางกิโลเมตร มีรายละเอียดแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน แผนผังโครงข่ายคมนาคม แผนผังที่โล่งแผนผังสาธารณูปโภค ตามบทบัญญัติที่ตราไว้ตามพระราชบัญญัติการผังเมืองและยังมีข้อกำหนดพื้นที่ห้ามสร้างอาคารบางชนิดบางประเภทตามประกาศกรมโยธาธิการ เทศบัญญัติกรุงเทพมหานครและข้อบัญญัติกรุงเทพ ห้ามก่อสร้างอาคารบางชนิดบางประเภทที่มิได้ยกเลิกการบังคับใช้ที่กำหนดขึ้นตาม พรบ. ควบคุมอาคาร ทิ้งความสับสนและซ้ำซ้อนกันรวม 71 ฉบับ ใช้เวลาศึกษาและยกร่างมากว่า 3 ปี
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ประเทศเดียวกันที่ใช้กฎหมายฉบับเดียวกันแต่แตกต่างกันอย่างไม่น่าจะเป็น
แล้วอย่างนี้กฎกระทรวงผังเมืองรวมทั้งหลายฉบับที่มีหลักเกณฑ์แตกต่างจนเรียกว่าไม่มีหลักเกณฑ์ใดๆ จะใช้ประโยชน์อะไรได้ รวมหมายไปถึง ผังเมืองรวมอีอีซีที่จะประกาศใช้เป็นกฎกระทรวงผังเมืองรวม (ซึ่งจะต้องลงนามบังคับใช้โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย)
12 มิ.ย. 62/13.28 น.