แย่! รถไฟรางคู่ไม่เข้าเมืองลพบุรี. . .คิดได้ไง!?!
  AREA แถลง ฉบับที่ 318/2562: วันอังคารที่ 18 มิถุนายน 2562

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            สถานีรถไฟรางคู่เมืองลพบุรี ไม่ใช่สถานีเดิม ด้วยแค่คำอ้างเรื่องกลัวกระทบพระปรางค์สามยอดในด้านทัศนะอุจาด นี่เป็นการคิดแบบราชการ แบบ NGOs ไม่ใช่การคิดเพื่อชาติและประชาชน

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ให้ความเห็นว่าการที่รถไฟรางคู่ไม่ผ่านเข้าตัวเมืองลพบุรี ไม่ใช่สถานีลพบุรีเดิม เป็นความสูญเสียเป็นอย่างมากต่อประเทศชาติและประชาชน ลำพังกรณีทัศนะอุจาด สามารถคิดใหม่ได้

            จากวีดิทัศน์ประชาสัมพันธ์โครงการรถไฟทางคู่ช่วงลพบุรี - ปากน้ำโพ ชุดที่ 1 โดยการถไฟแห่งประเทศไทย (http://shorturl.at/hjT04) แสดงให้เห็นชัดเจนว่า รถไฟรางคู่จะไม่ผ่านเข้าเมืองลพบุรี นี่นับเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง โดยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการสร้างอ้อมเมืองและเวนคืนใหม่ เป็นเงินประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท (ข้อมูลจากผู้บริหารระดับสูงของการรถไฟแห่งประเทศไทย)

            การที่รถไฟไม่ผ่านใจกลางเมืองจะทำให้มูลค่าทรัพย์สินด้อยค่าลง หรือไม่ได้เพิ่มขึ้นตามที่สมควร

            1. ณ สิ้นปี 2561 มีประชากรเฉพาะในเขตเทศบาลเมืองลพบุรี 22,815 คน (http://shorturl.at/sTV01) สมมติให้ครอบครัวหนึ่งมีประชากร 4 คน ก็จะมีบ้าน 5,704 หน่วย ถ้าบ้านหน่วยหนึ่งมีราคา 2.333 ล้านบาท (พอๆ กับสระบุรี: https://bit.ly/2AzHZSk) ก็จะเป็นเงินประมาณ 13,307 ล้านบาท 

            2. หากรวมทรัพย์สินอื่นซึ่งประมาณการไว้อีกเท่าตัว ก็จะเป็นมูลค่าทรัพย์สินเฉพาะในเขตเทศบาลเมืองลพบุรี เป็นเงินประมาณ 26,614 ล้านบาท

            3. แต่การที่รถไฟรางคู่ไม่ผ่านเขตเทศบาล ก็อาจทำให้มูลค่าทรัพย์สินในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ เพิ่มน้อยกว่าปกติ รวม 10% โดยประมาณ แต่หากยิ่งมีรถไฟรางคู่ผ่านเข้าตัวเมือง ก็ยิ่งจะทำให้มูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอีก 30% ก็เท่ากับมูลค่าทรัพย์สินที่หายไปประมาณ 40% หรือเป็นเงิน 10,646 ล้านบาทในเบื้องต้น

            ยิ่งกว่านั้นการไปสร้างสถานีใหม่ เมืองก็ต้องขยายตัวออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เปะปะ ไร้ทิศผิดทาง สร้างปัญหาการจราจรแออัด และการจัดหาสาธารณูปโภคเพิ่มเติมเข้าไป  รพท. เคยอ้างว่าการที่รถไฟไม่ผ่านเข้าใจกลางเมืองในบางแห่ง เช่น ฉะเชิงเทรานั้นเป็นเพราะเป็นทางโค้งหักศอก ไม่เหมาะกับรถไฟความเร็วสูง  แต่ในความเป็นจริง พอรถไฟวิ่งเข้าเมือง ก็ใช้ความเร็วต่ำเช่นกัน การตีโค้งจึงไม่ใช่ปัญหา  แต่ในกรณีลพบุรี ทางรถไฟเป็นเส้นตรงแท้ๆ แต่กลับถูกขัดขวางโดยความคิดอนุรักษ์

            หากรัฐบาลคิดใหม่ในเรื่องนี้ ก็สามารถสร้างทางรถไฟยกระดับ  ในนครต่างๆ ในญี่ปุ่นที่มีรถไฟความเร็วสูงผ่าน ก็ผ่านเข้าไปในตัวเมืองทั้งสิ้น  เพราะเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ไม่ใช่สร้างสถานีใหม่ซึ่งเป็นความสิ้นเปลือง ทำให้ผังเมืองเปลี่ยนแปลงไป  เรื่องทัศนะอุจาด ก็เป็นสิ่งที่พึงพิจารณา ไม่ใช่คิดแบบหยุดนิ่งแบบ “คนตายขายคนเป็น” อยู่ถ่ายเดียว  เราอาจบูรณะพระปรางให้มั่นคงแข็งแรงขึ้นและปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดีกว่าปัจจุบันได้อีกเช่นกัน

            การอ้างว่าการจะมีรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง ต้องมีระบบขนาดใหญ่ต่างๆ นั้น เป็นการคิดแบบราชการ  แต่หากคิดตามความเป็นจริงและการมีประสิทธิภาพแบบญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวันหรือจีน การย้ายสถานีใหม่ คงไม่น่าจะเกิดขึ้นเช่นในกรณีประเทศไทย

 

อ่าน 5,595 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved