อย่าวิตกแผ่นดินทรุด / กทม.จมบาดาล
  AREA แถลง ฉบับที่ 322/2562: วันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน 2562

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ตามที่มีการลือกันต่างๆ นานาว่าแผ่นดินทรุดเพราะการก่อสร้างอาคารต่างๆ และคิดเห็นจะย้ายกรุงเทพมหานคร  นี่เป็นแนวคิดที่ “ไร้ราก” ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ขออนุญาตยกความเห็นของ รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ โพสต์แสดงความเห็นในเฟสบุ๊ก และลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐความว่า

 

รศ.สุทธิศักดิ์ กล่าวว่า:

            กรุงเทพฯ จมหรือไม่ (https://bit.ly/2XnrGob)

            1. ตอนนี้กรุงเทพฯทรุดตัวอย่างมากเเละอาจจะจมทะเลเหมือนจาการ์ต้า:

            ผิด ตอนนี้กรุงเทพฯโดยเฉพาะพื้นที่ชั้นใน มีการทรุดตัวน้อยมาก เนื่องจากไม่ได้มีการสูบน้ำบาดาลมาใช้ จาการ์ตานั้นทรุดจากสาเหตุอื่นๆโดยเฉพาะเรื่องการทรุดตัวของเเผ่นเปลือกโลกที่ กทม ไม่มีหลักฐานปรากฏชัด

            2. อาคารสูงใน กทม ทำให้เเผ่นดินทรุดมาก:

            ผิด อาคารทั้งสูงเเละไม่สูง ตั้งอยู่บนเสาเข็ม ที่จะถ่ายเเรงลงไปสู่ชั้นดินที่เเข็งเเรงเเละทรุดตัวน้อย

            3. การก่อสร้างทำให้ปกคลุมพื้นที่ที่น้ำจะไหลซึมลงพื้นดิน ทำให้ชั้นดินเเห้งเเละทรุดตัว:

            ผิด อย่างมาก ดินเเห้งมีความเเข็งเเรงเเละทรุดตัวน้อยกว่าดินเปียก

            4. น้ำใต้ดินใน กทม มาจากน้ำฝนที่ตกลงในพื้นที่เเละซึมลงดิน:

            ผิด ชั้นดินเหนียวกรุงเทพฯ หนากว่า 20 เมตร มีค่าความซึมน้ำต่ำมาก น้ำไหลไปตามผิวดินมากกว่าซึม นอกจากนั้น น้ำใต้ดินใน กทม มาจากการเติมของน้ำจากขอบเเอ่งดินเหนียว

            แต่......

            1. การที่พื้นผิวเป็นคอนกรีตที่น้ำซึมลงไม่ได้ จะส่งผลให้น้ำไหลลงระบบระบายน้ำเร็ว ทำให้อัตราการสูบน้ำก็ต้องเร็วตาม ถ้าสูบไม่ทันน้ำก็จะท่วมรอระบายนานขึ้น

            2. น้ำทะเลสูงขึ้นจริงในปัจจุบัน เเต่ก็ยังอยู่ในอัตราการเพิ่มที่ป้องกันได้

            3. ระดับพื้นดินใน กทม บางพื้นที่ต่ำจริง เนื่องจากเคยทรุดตัวเนื่องจากการสูบน้ำบาดาลมาก่อน ทำให้เป็นพื้นที่ต่ำ เมื่อฝนตก น้ำก็จะท่วมขัง ต้องอาศัยการสูบน้ำออก

            4. การละลายของน้ำเเข็งขั้วโลกเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม เเต่เราก็ไม่สามารถไปกังวลกับสิ่งที่ปัจจุบันมีความไม่เเน่นอนเกินกว่าจะลงทุนย้ายเมืองหรือทำอะไร

 

การย้ายเมืองหลวงในต่างประเทศ

            เช่นเดียวกับในต่างประเทศ การย้ายเมืองหลวงมักเป็นเหตุผลจากการเมือง เช่น การตั้งเมืองหลวงของเยอรมนีตะวันตกที่เมืองเล็ก ๆ ชื่อกรุงบอนน์ ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ภายหลังการรวมประเทศ ก็กลับมาใช้กรุงเบอร์ลินอีกครั้งหนึ่ง ในประเทศไทยก็เคยย้าย "ศูนย์อำนาจ" จากกรุงศรีอยุธยาไปลพบุรีอยู่ระยะหนึ่งในสมัยพระนารายณ์มหาราช แต่เมื่อผลัดแผ่นดิน ก็ยังใช้กรุงศรีอยุธยา แม้หลังเสียกรุงครั้งที่ 1 ก็ยังใช้กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวงเพราะไม่ได้ถูกเผาเช่นหลังการเสียกรุงทั้งที่ 2

            กรุงหรือเมืองหลวงที่มีการย้ายได้สำเร็จนั้น ส่วนมากเป็นการย้ายเฉพาะส่วนราชการ เช่น กรุงเนปยีดอของเมียนมาร์ เมืองปุตราจายาของมาเลเซีย กรุงบราซิเลียของบราซิล กรุงวอชิงตันดีซีของสหรัฐอเมริกา กรุงแคนบราของออสเตรเลีย เป็นต้น แต่เมืองหลวงทางเศรษฐกิจยังมักอยู่ที่เดิม เช่น กัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย นิวยอร์กของสหรัฐอเมริกา ซิดนีย์ของออสเตรเลีย เป็นต้น

            สำหรับเมืองหลวงใหม่เมืองหนึ่งที่มีชื่อเสียงในประเทศกำลังพัฒนา ก็คือเมืองเกซอนซิตี้ โดยถือเป็นเมืองหลวงใหม่ของฟิลิปปินส์อยู่พักหนึ่ง นัยว่ากรุงมะนิลา "เน่า" เกินเยียวยา มีชุมชนแออัดขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่งคือสลัมทอนโด จึงมีแนวคิดที่จะย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่อื่น อย่างไรก็ตามสุดท้ายก็ไม่สำเร็จ เกซอนซิตี้กลับถูกควบรวมกลายเป็นเพียงเมืองใหญ่เมืองหนึ่งในเขตนครหลวงมะนิลานั่นเอง

            ต่อไปเชื่อว่าเมืองใหม่เช่นปุตราจายา ก็คงหนีไม่พ้นเป็นเมืองที่อาจไม่ประสบความสำเร็จนัก ผมเคยพาคณะดูงานอสังหาริมทรัพย์ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไปเยี่ยมชมมาแล้ว เมืองนี้ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างสนามบินนานาชาติกับกรุงกัวลาลัวเปอร์ ห่างจากกรุงประมาณ 38 กิโลเมตร การจัดผังเมืองที่นี่จัดไว้หลวมมาก ต้องเดินทางกันด้วยรถยนต์สถานเดียว ตามแผนเดิมปุตราจายาจะมีรถไฟฟ้ามวลเบาระยะทาง 18 กิโลเมตร 23 สถานี แต่ทำไม่สำเร็จ เพราะมีการกระจัดกระจายตัวของส่วนต่าง ๆ ของเมืองมากเกินไปนั่นเอง

 

บ้างเป็นโรคกลัวโลกร้อน

            บางคนกลัวโรค "โลกร้อน" ขึ้นสมอง อย่าได้กลัวไป ดูอย่างสิงคโปร์ยังนิ่งสนิทในเรื่องนี้ อย่าให้ใครโดยเฉพาะพวกเอ็นจีโอเป่าหู ประเทศในยุโรปทั้งเนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก มีเมืองที่ตั้งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล เขาก็ยังอยู่ได้ แถมทำเกษตรกรรมได้ การที่น้ำเซาะชายฝั่งเล็กน้อยแถวทะเลบางขุนเทียนนั้น เกิดขึ้นเพราะการตัดไม้ทำลายป่าโกงกางในบริเวณนั้น ไม่ใช่เพราะน้ำทะเลเพิ่มขึ้นหรือกรุงเทพมหานครจมลงแต่อย่างใด

            ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจก็คือวัดเจดีย์หอยที่ตั้งอยู่ชายแดนปทุมธานีกับอยุธยานั้น มีหอยนางรม มีทรายมากมายเป็นประจักษ์หลักฐานสำคัญว่าทะเลเคยกินลึกเข้าไปถึงวัดนี้ซึ่งห่างจากทะเลถึง 70 กิโลเมตร หรือถึงนครสวรรค์เลยทีเดียว ในความเป็นจริง ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ทะเลถูกแผ่นดินกินไปต่างหาก เพียงแต่ไม่กี่ปีหลังมานี้ มีการตัดป่าไม้โกงกางเพื่อการเลี้ยงกุ้งหรือเกษตรกรรมอื่น ๆ มาก จึงเกิดการกัดเซาะชายฝั่ง ไม่ได้มีปัญหาเรื่องโลกร้อนแต่อย่างใด

 

แปลกไหม ทำไมลอนดอน ปารีส โรม ไม่ย้าย

            คนไทยทั้งหลายรวมทั้งผมด้วย ไปยุโรปทีไร ก็ไปชื่นชมสถาปัตยกรรมเก่า ๆ ที่น่าตื่นตาตื่นใจของกรุงลอนดอน ปารีส บรัสเซลส์ เบอร์ลิน ฯลฯ เฉพาะในกรุงลอนดอน ผู้คนก็มักเดินเล่นไปตามสวนไฮด์ปาร์ค พระราชวังบัคกิงแฮม บิ๊กเบน อาคารรัฐสภา บ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง ซึ่งเป็นที่พำนักของนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ผ่านกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ ไปจนถึงจัตุรัสทราฟัลการ์ ฯลฯ จะสังเกตได้ว่าวิหาร ราชวัง พิพิธภัณฑ์ และอื่นๆ ต่างตั้งอยู่ใกล้ชิด

            สิ่งหนึ่งที่ผมฉุกคิดขณะเดินก็คือทำไมเขาไม่ย้ายกรุงลอนดอนออกไปบ้าง หรือย้ายเฉพาะส่วนราชการออกนอกเมืองเช่นที่ประเทศไทยหรือประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ เขาทำกันมาแล้ว ท่านทราบไหมลอนดอนมีอายุประมาณ 2,000 ปี ปารีสก็มีอายุพอ ๆ กัน นครหลวงในยุโรปล้วนมาอายุนับพันปี กรุงโรมมีอายุถึง 2,800 ปี ทำไมเขาไม่คิดย้ายเฉกเช่นที่นักผังเมืองไทยคิดต่อกรุงเทพมหานครที่มีอายุเพียง 233 ปีบ้าง แนวคิดการย้ายเมืองหลวงคงมีข้อผิดพลาดอย่างแน่นอน

            ลองย้อนกลับมายังกรุงลอนดอน ปรากฏว่ารัฐบาลอังกฤษมีกระทรวงต่าง ๆ ถึง 24 แห่ง แต่ส่วนมากมักจะตั้งอยู่ในเขตใจกลางเมืองเป็นสำคัญเป็นสำคัญ น่าแปลกไหมอังกฤษมีประชากรพอ ๆ กับไทย เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก แต่กลับสามารถใช้พื้นที่ในใจกลางเมืองทำการบริหารรัฐกิจโดยไม่ต้องย้ายออกไปนอกเมืองเช่นประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย ชอบนักที่จะสร้างเมืองใหม่ ทำเนียบรัฐบาลของเขามีขนาดเล็กกว่าของไทยอย่างเทียบกันไม่ติด กระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ ก็มีขนาดกะทัดรัดแต่บริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ

 

อยู่ที่นี่ สู้ตรงนี้

            ถ้าเรารักษาใจกลางเมืองไว้อย่างยุโรปหรือโตเกียว โอซากา โซล เราก็ควรวางระบบขนส่งมวลชนที่ดี แต่นี่เรากลับล้มเลิกไปหมด หรือถ้าจะสร้างเมืองใหม่ ก็สร้างชิดติดกับใจกลางเมืองเดิม ไม่ใช่สร้างออกไปนอกเมือง เช่น การสร้างผู่ตงที่อยู่คนละฝั่งกับใจกลางเมืองเซี่ยงไฮ้ ถูเทียมที่อยู่คนละฝั่งกับใจกลางโฮจิมินห์ซิตี้ ดีซีซิตี้ที่อยู่คนละฝั่งกับใจกลางกรุงเวียนนา ก็ยังทำได้

            ยิ่งกว่านั้นทางเลือกหนึ่งในการขยายเมืองก็คือ การ "สร้างเมืองซ้อนเมือง" โดยเอาสถานที่ราชการ เช่น ท่าเรือ ค่ายทหาร หรืออื่น ๆ มาสร้างเป็นศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) ใหม่ ในกรุงลอนดอนก็มีการแปลง London Docklands มาใช้เพื่อการพาณิชย์ ในกรุงมะนิลาก็ย้ายค่ายทหารใจกลางเมืองออกไปทำศูนย์การค้า ท่าเรือคลองเตยและที่ดินรถไฟริมแม่น้ำเจ้าพระยาก็มีพื้นที่รวมกันเกือบ 3,000 ไร่ สามารถมาสร้าง CBD ในใจกลาง CBD ได้เลย

            การย้ายเมืองหลวงจะสร้างต้นทุนโดยไม่จำเป็นอีกมหาศาล ถือเป็นแนวคิดแบบจนตรอกของพวกที่ชมชอบการ "ล้มกระดาน" ด้วยการย้ายกรุง ไปสร้างปัญหาที่ใหม่ ทั้งที่มหานครอื่นอยู่กันมานับพันปียังอยู่ได้ ไทยต้องจัดการวางแผนพัฒนาเมืองให้ดีกว่านี้ ไม่ใช่เอะอะจะชอบแต่ย้ายท่าเดียว ถ้าไทยยังวางผังเมืองส่งเดชเช่นทุกวันนี้ กรุงเทพมหานครจะยิ่งเละเทะ แต่การไปสร้างที่ใหม่คงแก้ปัญหาไม่ได้

 

            ต้องปฏิวัติ ปฏิรูปแนวคิดการวางผังเมืองเสียแต่วันนี้ แต่โดยใช้สภาที่เป็นผู้แทนของประชาชน ไม่ใช่สภาที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมด้วย

 

FB Live เช้าวันที่ 9 มีนาคม 2561: เรื่องย้ายเมืองหลวง ความคิดที่เป็นไปไม่ได้ คลิก: https://goo.gl/jH4cwp

 


อสังหาริมทรัพย์ทั้งเก่าและใหม่อยู่ร่วมกันได้ในกรุงลอนดอน

 

การกัดเซาะชายฝั่งของไทย ไม่ใช่เป็นเพราะปัญหาโลกร้อน

 

ย่านการค้าหลักช็องเซลีเซของปารีสที่ไทยนำมาสร้างถนนราชดำเนิน

 

ถนนราชดำเนินกลางที่ควรเป็นศูนย์การค้าหลัก ก็กลับไม่เป็นดังหวัง

 

 

 

อ่าน 6,460 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved