มีคน “ดรามา” ออกมาเต้นเร่าๆ เรื่องการทุบทิ้งสถานทูตอังกฤษ บอกควรอนุรักษ์ไว้ ไม่สมควรเอาไปทำศูนย์การค้า ถ้าอยากอนุรักษ์ ทำไมไม่ซื้อไปเก็บไว้เองล่ะ
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ให้ความเห็นถึงกรณี “ดรามา” ที่มีคนทำเป็นอยากอนุรักษ์อาคารสถานทูตอังกฤษเอาไว้ว่า เป็นการคิดที่ไร้ราก ฝืนความเป็นจริง ไร้แก่นสาร เอาแต่ได้ เห็นแก่ตัว หวังเพื่อสนอง “ตัณหา” ของตนเอง เป็นสำคัญ
สถานทูตอังกฤษก็คงรู้ว่า ถ้าขายที่ดินให้เอกชน แล้วให้เอกชนทุบตึกเอง ก็คงไม่ได้ เพราะพวก “นักอนุรักษ์” คงจะฮือกันมาขอให้ขึ้นทะเบียนเป็น “โบราณสถาน” ห้ามทุบทิ้ง แต่โชคดีที่กฎหมาย “สับปะรังเค” นี้ ไม่อาจครอบคลุมไปถึงทรัพย์ของชาวต่างชาติ ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุดก่อนการขายหรือการโอนกรรมสิทธิ์ก็คือการให้สถานทูตทุบให้เรียบร้อยก่อนนั่นเอง
การเอาที่ดินผืนนี้ไปสร้างศูนย์การค้า บางท่านบอกว่าเป็นเชิงพาณิชย์ แล้วไง บาปหรือ การพัฒนาเป็นศูนย์ธุรกิจค้าปลีกแบบนี้ เป็นไปตามกระแส แม้แถวนี้จะมีศูนย์การค้ามากมายอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องไปกลัวล้นตลาดแทนเขา ในความเป็นจริง การสร้างเพิ่มก็จะทำให้เกิดเป็นศูนย์รวม คล้ายย่านถนนออร์ชาร์ดของสิงคโปร์ที่ศูนย์การค้าเรียงรายอยู่มากมาย ถ้าเรามีระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ดีกว่านี้ เราก็จะได้ภาษีเข้ามาบำรุงท้องที่ได้อีกมหาศาลในแต่ละปี
การที่กฎหมายคร่ำครึของไทย (พรบ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504) ไปเที่ยวประกาศขึ้นทะเบียนอาคารโน่นนี่ ถือเป็นการละเมิดสิทธิของคนอื่น แทนที่เจ้าของที่ดินจะขายทรัพย์เพื่อนำไปใช้หนี้ หรือพัฒนาในทางอื่น กลับต้องถูกจำกัดสิทธิ นี่เท่ากับเป็นการทำให้ “คนตายขายคนเป็น” สร้างภาระแก่คนรุ่นหลังโดยแท้
ทางออกสำหรับการอนุรักษ์ก็ยังมี เช่น
1. กรมศิลปากรหรือพวกที่อยากอนุรักษ์ (ใจจะขาด) ก็รวบรวมเงินไปซื้อ “โบราณสถาน” พร้อมที่ดิน เอามา (จุดธูป) บูชาเสียเลย จะได้ไม่สร้างปัญหาแก่คนอื่น
2. กรมศิลปากรควรขออนุญาตเจ้าของอาคารรื้อย้ายตึกไปสร้างยังที่ใหม่ แต่กรณีสถานทูตอังกฤษ เหล่านักอนุรักษ์ กลับปล่อยให้มีการทุบตึกซะเฉยๆ แทนที่จะขอไปสร้างในที่ใหม่ที่อย่างน้อยก็สามารถเก็บรักษาอาคารไว้ได้ ถ้าอยากได้จริงๆ
3. ในหลายประเทศ หลายมหานคร เช่น โตเกียว โตรอนโต ฯลฯ เขาก็เก็บรักษาอาคารเดิมไว้บนที่เดิมก็มี แต่อนุญาตให้สร้างอาคารสมัยใหม่คร่อมลงไปเลย จะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่กฎหมายคร่ำครึของไทย จะให้อนุรักษ์ไว้อย่างเดียว
ที่น่าอนาถสำหรับการอนุรักษ์แบบไทยๆ ก็คือ พอได้อาคารโบราณสถานมาแล้ว ก็ทิ้งๆ ขว้างๆ ดูแลได้ไม่ดีเท่าที่ควร สุดท้าย ก็ปรักหักพัง หรือถูกรื้อค้นทำลาย อย่างวัดที่มีสมบัติล้ำค่าของแผ่นดิน ถ้าไม่ย้ายไปเก็บในพิพิธภัณฑ์ กรมศิลปากรก็ควรจัดเวรยามเฝ้า ไม่ใช่ปล่อยให้มีขโมยข้าวของไป แต่กรมฯ ก็อาจอ้างว่าไม่มีงบประมาณ มีแต่เสียงโวยวายแบบไฟไหม้ฟาง!