ดอกเบี้ยเงินกู้ควรเหลือ 4-5% เท่านั้น
  AREA แถลง ฉบับที่ 413/2562: วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม 2562

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            เร็วๆ นี้มีข่าวว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงแล้ว โดยนำร่องที่ ธนาคารกสิกรไทย กรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารไทยพาณิชย์ (https://bit.ly/31BbrlO)  ดร.โสภณ ฟังธงว่าปรับน้อยเกินไป  ควรปรับอย่างน้อย 2%

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) แจกแจงรายละเอียดการลดดอกเบี้ยว่า:

            1. ธนาคารกสิกรไทย ปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ MOR และ MRR ลง 0.25% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป (ณ วันที่ 14 สิงหาคม 2562 MOR และ MRR ของธนาคารอยู่ที่ 7.12%)

            2. ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ MOR และ MRR ลง 0.25% โดยมีผลตั้งแต่วันที่15 สิงหาคม2562 เป็นต้นไปส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยMOR และMRR ของธนาคารเหลือ6.87% ต่อปี

            3. ธนาคารกรุงเทพ ปรับลดดอกเบี้ย MOR และ MRR 0.25% โดยมีผลตั้งแต่วันที่15 สิงหาคมพ.ศ. 2562

            4. ธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับลดอัตราดอกเบี้ย MRR ลง 0.25% มาอยู่ที่ 7.12% และปรับลดอัตราดอกเบี้ย MOR ลง 0.125% มาอยู่ที่ 6.745%

            ทั้งนี้ ภายหลังจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้แล้ว จะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MOR ของธนาคารไทยพาณิชย์ ลดลงมาอยู่ที่ 6.745% และ อัตราดอกเบี้ย MLR ยืนอยู่ที่ 6.025% ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระดับที่ต่ำที่สุดในระบบธนาคารพาณิชย์  อย่างไรก็ตาม ก็ไม่เป็นที่เปิดเผยว่า การที่ธนาคารพาณิชย์ใหญ่ปรับลดดอกเบี้ยนี้ ได้รับผลประโยชน์อะไรตอบแทนจากทางราชการหรือไม่ ถ้าได้ ตีค่าเป็นเม็ดเงินที่รัฐต้องจ่ายไปเท่าไหร่

            ในทางตรงกันข้าม อัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำมาก คืออัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 1-2 ปีก็เพียง 1.4%-2.0% เท่านั้น หากคิดเฉลี่ยที่ 1.5%  ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้ MOR และ MLR จึงอยู่ที่ 4.525% - 5.245% ซึ่งก็ยังสูงมากอยู่ดี  หากคิดจากค่านายหน้าต่างๆ  ประเทศไทยเก็บเป็นเงิน 3% ต่อปี  กรณีเอาเงินของประชาชนไปปล่อยกู้ ก็ควรได้กำไรไม่เกิน 3% ต่อปี  ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่า อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ว่าลดแล้วก็ยังสูงมากอยู่ดี

            ดังนั้น อัตราดอกเบี้ย MOR และ MRR จึงไม่ควรเกิน 4.5%-5.5% ไม่ใช่เก็บที่ 6.025% - 6.745%  หากลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ได้ เศรษฐกิจก็จะฟื้นคืนได้  กรณีเช่นนี้ธนาคารก็ควรลดดอกเบี้ยมากกว่านี้ เพราะปกติธนาคารก็มีรายได้มากมายจากกิจการที่ไม่ใช่การฝาก-กู้ยืมเงินอยู่แล้ว  การลดส่วนต่างของดอกเบี้ยให้เท่ากับค่านายหน้า จึงเป็นสิ่งที่สมควร

            ทางออกอีกอย่างหนึ่งของรัฐบาลก็คือการเชื้อเชิญสถาบันการเงินต่างประเทศมาดำเนินการแบบเต็มรูปแบบในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขัน  ไม่ให้เกิดการผูกขาดเฉพาะสถาบันการเงินไทยไม่ถึง 20 แห่งเช่นทุกวันนี้ และเมื่อนั้น ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากก็จะน้อยลงทันที
 

อ่าน 1,720 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved