ทุกวันนี้คนคุกมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การสร้างคุกมากขึ้นแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างหนึ่งที่ไม่ปล่อยให้คนที่กระทำผิด “ลอยนวล” อยู่นอกคุก สร้างความเดือดร้อนแก่ปุถุชนทั่วไป
ครั้งหนึ่ง ดร.โจเซฟ สติกลิตซ์ ศาสตราจารย์ที่มีชื่อเสียง ได้มาบรรยายในประเทศไทย ดร.โสภณ มองต่างมุมจากแนวคิดของอาจารย์ท่านนี้หลายประการ สิ่งที่ท่านเสนอจะสามารถนำไปใช้ได้จริง หรือจะพาเราเข้ารกเข้าพงหรือไม่ ดร.สติกลิตซ์ (Prof.Joseph Stiglitz) (http://bit.ly/2ixWzCm) เป็นศาสตราจารย์ชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียง เคยเป็นหัวหน้าเศรษฐกรของธนาคารโลก เกิดเมื่อปี 2487 (อายุ 73 ปี) มีแนวคิดแบบพรรคเดโมแครต เคยสอนที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในนครนิวยอร์ก รัฐบาลอภิสิทธิ์เคยเชิญมาเป็นที่ปรึกษา และดร.โสภณ เคยวิพากษ์แนวคิดของ ดร.สติกลิตซ์ (โปรดอ่าน: http://bit.ly/1Prh1hG)
ประเด็นที่ขอยกมาวิพากษ์ในที่นี้ก็คือเรื่องคุก ท่านบอกว่า สหรัฐอเมริกามีจำนวน ‘คนคุก’ สูงที่สุดในโลก จากข้อมูลของ http://bit.ly/2iy1bZ4 พบว่า สหรัฐอเมริกามีคนคุกสูงถึง 738 คนต่อประชากร 100,000 คน สิงคโปร์อยู่อันดับที่ 15 มี 350 คน ส่วนไทยอยู่อันดับที่ 32 มี 256 คน ท่านตั้งสมมุติฐานว่าประเทศที่มีคนคุกในสัดส่วนน้อยแสดงว่ามีความสุขในสังคมมากกว่า หากพิจารณาดูตัวเลขเพียงเท่านี้ก็อาจคล้อยตามอาจารย์ท่านได้ว่า สหรัฐอเมริกามี GDP สูง แต่สังคมไม่สงบเพราะมีคนคุกมาก
แต่ในความเป็นจริง หากเรามาพิจารณาประเทศที่มีคนคุกจำนวนน้อยที่สุดในโลก จะพบว่าส่วนใหญ่เป็นประเทศ ‘ด้อยพัฒนา’ และไม่ปลอดภัยในการอยู่อาศัย เช่น แองโกลา คองโก ซูดาน ชาด มาลี แกมเบีย อินเดีย ไนจีเรีย ฯลฯ มีใครอยากไปอยู่ประเทศเหล่านี้ไหม ความจริงที่พึงทราบประการหนึ่งก็คือ การกวาดเก็บอาชญากรไว้ในคุกย่อมดีกว่าปล่อยให้เดินเล่นอยู่บนถนนทั่วไป
จึงเป็นที่น่าตกใจที่อาจารย์ท่านนี้กล่าวว่า การใช้จ่ายเงินเพื่อการสร้างคุกไม่ควรถือเป็นเครื่องวัดใน GDP ทั้งที่การก่อสร้างซึ่งไม่ว่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างใด ๆ ก็ก่อให้เกิดการจ้างงาน แสดงผลิตภาพ และที่สำคัญเป็นกิจกรรมหนึ่งใน GDP ที่ทำให้เกิด “มูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตได้ภายในประเทศในระยะเวลา 1 ปีที่กำหนดไว้” นั่นเอง นี่แสดงว่าขนาดศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ยังมีความสับสนในความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ขั้นพื้นฐาน
ในกรณีที่พื้นที่ในคุกมีจำกัดทำให้ประชากรคนคุกต่อตารางเมตรสูงมากในกรณีประเทศไทยนั้น แทนที่เราจะอ้างข้อนี้เพื่อนำคนคุกออกมาอยู่ในสังคมโดยที่พวกเขายังไม่ได้รับการเตรียมพร้อมเท่าที่ควร เราควรที่จะสร้างคุกเพิ่มมากกว่า เพราะค่าใช้จ่ายในการดูแลพวกเขาในคุกน่าจะต่ำกว่าต้นทุนค่าความเสียหายที่ปล่อยให้พวกเขาออกมาก่ออาชญากรรมในสังคมเสียอีก
จากการสอบถามผู้เกี่ยวข้อง ทราบว่าผู้พ้นโทษย้อนกลับมาติดคุกใหม่ 12% ทั้งนี้นับเฉพาะผู้ที่ใช้ชื่อ-นามสกุลเดียวกัน และซ้ำคุกเดิม ไม่นับรวมผู้ที่ใช้ชื่อ-นามสกุลปลอม และติดคุกอื่น (ยังไม่มีระบบฐานข้อมูลหรือพิมพ์ลายนิ้วมือร่วมทุกคุก) นอกจากนี้ยังไม่รวมพวกติดคุกเพราะอารมณ์ชั่ววูบ หากนับเฉพาะพวกค้ายาเสพติดที่ยังอาจเกี่ยวเนื่องกับการปล้นจี้ลักทรัพย์ การติดคุกซ้ำอาจสูงถึงหนึ่งในสามก็ได้ แสดงว่าการปล่อยคนคุก อาจไม่ใช่ทางแก้ที่ดี
อย่างไรก็ตามในการปล่อยตัวคนคุกออกมาก็ย่อมมีคนดีๆ หรือคนทีมีคุณสมบัติให้ออกจากคุกอยู่เช่นกัน แต่ก็มักมีข่าวคนที่ออกมาก่ออาชญากรรมอยู่บ่อยๆ สำหรับการบริหารจัดการคุก ยังมีการให้ภาคเอกชนมาดำเนินการแทนการผูกขาดโดยหน่วยงานรัฐ การแข่งขันกันให้บริการ จะพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการคุกได้ดีขึ้น ให้เป็นประโยชน์ต่อทั้งทางราชการ คนคุก และสังคมส่วนรวม ถ้าหลักคิดในการวางแผนชาติผิด ก็เหมือนติดกระดุมเม็ดแรกผิด ก็จะผิดไปโดยตลอด
ล่าสุดจากการครองอำนาจของ คสช. 5 ปี นับจากเดือนพฤษภาคม 2557 - พฤษภาคม 2562 ปรากฏว่าจำนวนคนคุกเพิ่มขึ้นมหาศาล โดยในเดือนพฤษภาคม 2557 มีจำนวนคนคุกหรือผู้ต้องราชทัณฑ์ทั้งสิ้น 296,727 ราย แต่พอมาในเดือนพฤษภาคม 2562 กลับมีจำนวนเพิ่มเป็น 386,902 รายหรือเพิ่มขึ้น 90,175 รายหรือเท่ากับเพิ่มจำนวนขึ้นถึง 30% หรืออีกราว 1/3 เลยทีเดียว (https://bit.ly/2SLctaV)
การเพิ่มขึ้นของคนคุกแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศคงย่ำแย่ หลายคนจึงไปประกอบอาชญากรรม แสดงให้เห็นว่าตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาของ คสช. (พ.ศ.2557-2562) เศรษฐกิจในภาคประชาชนกลับยากจนตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย ยิ่งอาชญากรรมเพิ่มขึ้น โอกาสคนเข้าคุกยิ่งมากขึ้น อย่างไรก็ตามตัวเลขข้างต้นนี้ยังถือว่าน้อย เพราะเรามีคุกไม่มาก การขยายตัวของคุกอาจน้อยกว่าในสหรัฐอเมริกามาก
เราตีมูลค่าของคุกกันอย่างไร เบื้องต้นก็ดูจากราคาที่ดินตามราคาตลาด บวกด้วยค่าก่อสร้าง และค่าดำเนินการต่างๆ จนออกมาเป็นอาคารและสถานที่ของคุก อย่างไรก็ตามคุกยังประกอบด้วยสังหาริมทรัพย์มากหลาย ทั้งเครื่องลงทัณฑ์ รถยนต์ ฯลฯ ที่ยังไม่นับรวม แต่หากรวมเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ ก็อาจพิจารณาเฉพาะที่ดินและอาคารเป็นสำคัญ ทั้งนี้อาจรวมถึงไม้ยืนต้นต่างๆ ด้วย
อย่างไรก็ตามมูลค่าทางเศรษฐกิจของคุกย่อมมีมากกว่านี้ เพราะป้องกันไม่ให้คนกระทำผิดถูกจำหน่ายออกไปข้างนอกแล้วก่ออาชญากรรมซ้ำๆ ขึ้นไปอีก ซึ่งก็จะพบเห็นอยู่ทั่วไป ค่าความเสียหายจากอาชญากรรมเหล่านี้สามารถนำมาวิเคราะห์เป็นมูลค่าของคุกจากจำนวนที่คุกจะสามารถเก็บรักษานักโทษไว้ในคุกได้ นอกจากนี้ในกิจการดูแลคนคุก ยังทำให้สังคมเกิดความปลอดภัย ลดความเสี่ยงต่ออาชญากรรมในสังคม ซึ่งก็เป็นอีกรายได้หนึ่งที่สามารถใช้ประเมินมูลค่าได้เช่นกัน ยิ่งกว่านั้นคุกยังสามารถสร้างรายได้ได้หลายประการ เช่น สินค้าราชทัณฑ์ เป็นต้น
รัฐบาลชุดเดิมยังบริหารประเทศอยู่ต่อไปหลัง 5 ปีแห่งความล้มเหลว ก็คงต้องให้กำลังใจให้รัฐบาลนี้ทำให้ดีกว่าเดิม