อ่าน 839 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 37/2555: 22 มีนาคม 2555
70% ของวงการประเมินค่าทรัพย์สินต้องการสภาวิชาชีพ

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส

sopon@area.co.th; www.facebook.com/dr.sopon

          เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) มีดำริที่จะพิจารณาให้ความเห็นชอบบริษัทประเมินเพื่อวัตถุประสงค์สาธารณะ แทนที่จะให้สมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย และสมาคมนักประเมินราคาอิสระไทย ดำเนินการ โดยได้จัดทำการประชาพิจารณ์ขึ้น อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ กลต. ก็เคยเป็นผู้พิจารณาเองมาก่อนที่จะมอบอำนาจให้สมาคมทั้งสองรับไปดำเนินการ
          ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ในฐานะประธาน มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ได้เคยจัดทำแบบสอบถามความเห็นของผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน และผู้ใช้บริการประเมินค่าทรัพย์สินมาครั้งหนึ่งและนำเสนอผลการศึกษาเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2551 พบข้อเสนอแนะที่น่าสนใจหลายประการ
          ประการสำคัญเกี่ยวกับการควบคุมวิชาชีพนั้น 70% ของผู้เกี่ยวข้องเห็นว่ารัฐบาลควรมีการตั้งสภาวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สิน ที่ให้สมาคมควบคุมกันเองมีเพียง 16% และที่หวังให้หน่วยราชการมาควบคุมโดยตรงมีเพียง 14% เท่านั้น แสดงว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายเห็นควรให้มีสภาวิชาชีพ มากกว่าการควบคุมในทางอื่น ซึ่งอาจไม่โปร่งใสหรือมีความเป็นระบบราชการมากเกินไป
          การควบคุมนักวิชาชีพโดยสภาวิชาชีพ ก็คือการดำเนินการเช่นเดียวกับวิชาชีพอื่นเช่นสภาวิศวกร สภาสถาปนิก แพทยสภา ฯลฯ เพื่อให้รัฐบาลสามารถควบคุมวิชาชีพนี้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค มีผู้แทนของรัฐเป็นประธาน รวมทั้งมีผู้แทนของผู้ใช้บริการ นักวิชาการ หรือผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องนั่นเอง ในประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกรัฐบาลมีบทบาทในการควบคุมนักวิชาชีพในฐานะผู้รักษาผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่ให้สมาคมวิชาชีพควบคุมกันเอง
          อย่างไรก็ตามหากรัฐควบคุมหนาแน่นจนเกินไป ก็จะทำให้วิชาชีพขาดการพัฒนา หรือไม่เป็นตัวของตัวเองมากนัก เช่นในกรณีคณะกรรมการช่างรังวัดเอกชนที่อยู่ภายใต้กรมที่ดินเป็นต้น ในอีกทางหนึ่ง หากปล่อยให้สมาคมควบคุมกันเอง ก็อาจเกิดกรณีอคติต่าง ๆ เพราะผู้ที่มาควบคุมการบริหารสมาคมก็คือคู่แข่งกันเองในวงวิชาชีพ โอกาสที่จะก่อให้เกิดความไม่โปร่งใสก็จะเกิดขึ้น เช่นที่เคยเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ
          บทบาทสำคัญของสมาคมวิชาชีพ ควรเป็นไปเพื่อการปกป้องนักวิชาชีพจากการถูกล่วงล้ำจากนักวิชาชีพจากต่างประเทศ หรือถูกผู้อยู่นอกวิชาชีพทำร้าย โจมตี หรือในกรณีที่นักวิชาชีพไม่ได้รับความเป็นธรรมจากทั้งผู้ว่าจ้างจากภายนอก โดยสมาคมแสดงบทบาทเป็นอนุญาโตตุลาการ หรือแม้แต่กรณีผู้ประเมินค่าทรัพย์สินที่เป็นลูกจ้าง ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือถูกนายจ้างเจ้าของบริษัทประเมินค่าทรัพย์สินกลั่นแกล้งเป็นต้น รวมทั้งบทบาทในการเชื่อมสัมพันธ์ และความสามัคคีภายในวงวิชาชีพ เป็นต้น
          ในการจัดตั้งสภาวิชาชีพ อาจตราเป็นพระราชบัญญัติ แต่มีโอกาสเกิดได้ยากเพราะกฎหมายต่าง ๆ ผ่านสภาได้ยาก ในอีกทางหนึ่ง อาจดำเนินการภายใต้กระทรวงหรือกรมหนึ่ง ๆ เช่น กรมธนารักษ์ กรมที่ดิน กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย หรือสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นต้น สำหรับคณะกรรมการสภาวิชาชีพควรประกอบด้วย
          1. ผู้แทนราชการในฐานะผู้ดูแลประโยชน์ของประชาชน
          2. ผู้แทนนักวิชาชีพซึ่งประกอบด้วยบริษัทประเมินและนักวิชาชีพประเมิน โดยให้ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินที่เป็นเจ้าของบริษัทร่วมกันเลือกตั้งขึ้นมา และให้ลูกจ้างซึ่งเป็นพนักงานผู้ประเมินค่าทรัพย์สินที่ร่วมกันเลือกตั้งขึ้นมา
          3. ผู้ใช้บริการสำคัญ เช่นสถาบันการเงินหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง โดยการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลายมาร่วมกันเสนอชื่อและเลือกตั้งกันเอง
          4. ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในและนอกวงการ โดยให้มีรายการชื่อผู้ทรงคุณวุฒิและให้บุคคลเหล่านี้มาร่วมกันเลือกตั้งกันเอง
          การตั้งสภาวิชาชีพที่ดีจึงต้องเน้นความเป็นประชาธิปไตย เน้นความโปร่งใส ไม่ใช่แต่งตั้งบุคคลใกล้ชิดกับการเมืองฝ่ายใด หรือหน่วยราชการใดมาเป็นกรรมการ หรือไม่ใช่ใฃ้วิธีการสรรหาโดยให้เจ้าพนักงานของรัฐเป็นผู้เลือกผู้ที่ได้จากการสรรหาเอง ซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่โปร่งใส ไม่เป็นผู้แทนที่แท้จริงของผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการ และผู้ทรงคุณวุฒิ
          การตั้งสภาวิชาชีพจึงต้องโปร่งใสเพื่อประโยชน์ต่อผู้บริโภคเป็นสำคัญ

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved