AREA แถลง ฉบับที่ 40/2555: 28 มีนาคม 2555
โต้ความเข้าใจผิดของสำนักผังเมือง กทม
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th; www.facebook.com/dr.sopon
ร่างผังเมืองกรุงเทพมหานครฉบับที่สำนักผังเมืองกำลังพยายามจะยัดเยียดประกาศใช้นี้ เป็นร่างผังเมืองที่ทำลายผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ สร้างปัญหาและภาระให้แก่ประชาชน ทำลายสิ่งแวดล้อมและพื้นที่สีเขียวนอกเมือง ปกป้องคนชั้นสูงส่วนน้อยให้รักษาที่ดินเพื่อลูกหลานในอนาคต
ตามที่มีข่าวว่าสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร โดย ม.ร.ว. เปรมศิริ เกษมสันต์ ผู้อำนวยการสำนัก ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ผมในฐานะที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนพัฒนาเมือง ขอวิพากษ์ความเข้าใจผิดของสำนักผังเมือง ซึ่งปรากฏในหนังสือพิมพ์ <1>
ม.ร.ว. เปรมศิริ เกษมสันต์ ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานครกล่าวว่า “ทราบมาว่า มท.1จะไม่ลงนามประกาศใช้ผังเมืองรวมใหม่ หากไม่แก้ไขให้ตรงตามที่เอกชนต้องการ เรื่องนี้มองว่าควรมองในภาพรวมมากกว่า เพราะมีผู้ประกอบการ นักวิชาการ ประชาชน จำนวนมาก สนับสนุนให้มีความเข้มงวด ประกอบกับเกิดปัญหาไฟไหม้บ่อยทั้งคอนโดฯ ออฟฟิศ โรงแรม ซึ่งล้วนแต่อยู่ในซอยใจกลางกรุงแทบทั้งสิ้น จึงอยากให้ผู้ประกอบการเห็นแก่ส่วนรวม เพราะท่านขายคอนโดฯจบท่านก็หมดหน้าที่ ทิ้งภาระให้กับนิติบุคคลและคนอยู่อาศัยเผชิญชะตากรรมเอง”
ความข้างต้นเป็นทั้งความเข้าใจผิดโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ
1. ที่ว่ามีผู้ประกอบการ นักวิชาการและประชาชนจำนวนมากสนับสนุนร่างผังเมืองของกรุงเทพมหานครนั้น ผมเชื่อว่าสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร ไม่เคยเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิการใช้ที่ดินต่าง ๆ อย่างเข้มงวดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรให้ประชาชนได้รับทราบในระหว่างการทำประชาพิจารณ์แต่ละครั้ง หากปกปิดหรือไม่ได้เสนอข้อมูลอย่างรอบด้าน สำนักผังเมืองก็ไม่อาจอ้างว่าประชาชนสนับสนุน
2. ที่ว่าเกิดปัญหาไฟไหม้บ่อยในซอยใจกลางกรุงแทบทั้งสิ้นนั้นไม่เป็นความจริง คงหมายถึงอาคารบ้านเรือนทั่วไป แต่ในกรณีอาคารสูงและอาคารชุดและอะพาร์ตเมนท์ ในช่วง 5 ปีล่าสุด (พ.ศ.2550-2554) นั้น เกิดเพลิงไหม้ลดลงจาก 8% ของกรณีเพลิงไหม้ทั้งหมด เป็น 7% 4% 3% และ 2% ตามลำดับ <2> กรณีอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษ (ตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป) ในปัจจุบันก็มีระบบป้องกันไฟไหม้ที่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ระบบอาคารเก่าในอดีต อาคารสมัยใหม่จึงแทบไม่เกิดเพลิงไหม้ ในอีกแง่หนึ่งการดับเพลิงของกรุงเทพมหานครต้องได้รับการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ ไม่ใช่อ้างความไร้ประสิทธิภาพมาเพื่อกีดขวางการพัฒนาประเทศ
นอกจากนี้ ม.ร.ว. เปรมศิริ เกษมสันต์ ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร ยังกล่าวว่า “อย่างไรก็ดี การผ่อนผันให้เอกชนพัฒนาคอนโดฯ ในเขตทางที่เล็ก ย่อมทำได้แต่ต้องเป็น ถนน ซอยที่มีแผนขยาย หรือ ตัดใหม่ในอนาคตเท่านั้นซึ่งมีกว่า 100 สาย ยกตัวอย่างย่านถนนสุขุมวิท ช่วงตั้งแต่หลังซอยอโศกไปประมาณ 6 เส้น และบริเวณก่อนข้ามคลองพระโขนง เขตวัฒนา เขตคลองเตย เขตสวนหลวง จะมีแผนขยายถนน 4 เลนอีกหลายเส้นทาง แต่พื้นที่ไหนไม่มีแผนขยายถนน ก็ไม่สามารถทำได้”
ในความเป็นจริง กรุงเทพมหานครได้ขีดเส้นตัดถนนใหม่ในผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับปัจจุบัน แต่ส่วนมากไม่ได้ก่อสร้างตามแผน ไม่มีความชัดเจนและไม่มีกรอบระยะเวลาที่จะก่อสร้างจริง ในร่างผังเมืองใหม่ยังขีดเส้นใหม่ให้แตกต่างไปจากเดิม นอกจากนี้ยังมีถนนจำนวนมากสร้างอยู่ในเขตรอบนอกของกรุงเทพมหานคร ซึ่งขาดความเป็นไปได้ทางการตลาดและการเงินในการสร้างอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ดังนั้นที่ว่าจะมีการก่อสร้างถนนอีกนับร้อยสายจึงไม่เป็นความจริง และเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อหวังประกาศใช้ร่างผังเมืองรวมที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงนี้เท่านั้น
ผมไม่ใช่นักพัฒนาที่ดินหรือนายหน้า และไม่ได้นำเสนอความเห็นเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ แต่การห้ามสร้างก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่พิเศษในซอยที่มีความกว้างต่ำกว่า 16 เมตร ทั้งที่เคยให้ก่อสร้างนั้น สร้างความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเจ้าของที่ดิน กีดขวางการพัฒนาในเขตเมือง ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนาแนวสูงให้มาก เพื่อไม่ให้เมืองขยายออกไปในแนวราบซึ่งจะกินหรือรุกทำลายสิ่งแวดล้อม และพื้นที่เกษตรกรรมหรือพื้นที่สีเขียวชานเมือง อีกทั้งยังทำให้สาธารณูปโภคต้องขยายตัวอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณของประเทศชาติ นอกจากนั้นการเดินทางที่ต้องออกสู่นอกเมืองเป็นการสร้างภาระแก่ประชาชนส่วนใหญ่อย่างใหญ่หลวง
การพยายามสงวนพื้นที่ใจกลางเมืองไว้โดยไม่ให้เกิดการพัฒนา เท่ากับไม่เห็นแก่ประเทศชาติส่วนรวม เป็นการพยายามรักษาผลประโยชน์ของชนชั้นสูงกลุ่มน้อยที่อยู่อาศัยในใจกลางเมือง คนกลุ่มนี้ไม่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ไม่ต้องเสียภาษีมรดก และยังได้รับการคุ้มครองให้มีที่ดินอยู่ในใจกลางเมืองเพื่อเก็บไว้ให้ลูกหลานของตนในอนาคตทั้งที่สาธารณูปโภค ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า ทางด่วน ทางหลวง ประปา ไฟฟ้า ฯลฯ มีอยู่เพียบพร้อมเพื่อการพัฒนาโดยไม่ขาดแคลน การกระทำเช่นนี้อาจถือเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ หรือการกระทำผิดกฎหมาย เพราะหากเทียบตัวอย่างกับห้องชุดในอาคารชุด เจ้าของห้องยังมีหน้าที่ต้องชำระค่าส่วนกลางซึ่งเป็นสาธารณูปโภคและสาธารณูปการต่าง ๆ หาไม่จะไม่สามารถจำหน่ายจ่ายโอนได้ตามกฎหมาย
ผมจึงขอให้กรุงเทพมหานครทบทวนร่างผังเมืองใหม่ เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวมและประเทศชาติอย่างแท้จริงโดยไม่มีวาระซ่อนเร้นเพื่อกลุ่มผลประโยชน์ใด
อ้างอิง
<1> มท.ส่อไฟเขียวตึกสูงซอยแคบ วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม 2012 เวลา 21:45 น. ฐานเศรษฐกิจ ข่าวหน้า1 http://www.thannews.th.com/index.php?option=com_content&view=article&id=112780:2012-03-16-14-51-28&catid=85:2009-02-08-11-22-45&Itemid=417
<2> สถิติ 2554 กรุงเทพมหานคร (ข้อมูลราย 6 เดือน) ด้านความปลอดภัย http://office.bangkok.go.th/pipd/07Stat(Th)/Stat(th)54%20(6%20Months)/stat54%20(6%20Months%20).htm
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน |