นายกฯ บริจาคน้อย ทำลายแบรนด์ตัวเอง
  AREA แถลง ฉบับที่ 481/2562: วันพุธที่ 18 กันยายน 2562

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

 

            การที่นายกฯ ควักเงินบริจาค 100,000 บาท นับเป็นความกรุณาของท่าน แต่น้อยไป  การบริจาคน้อยเกินไปเป็นการทำลายแบรนด์ของตัวเอง  นี่คือข้อคิดเกี่ยวกับกลยุทธ์ CSR

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะผู้สอนระดับปริญญาเอกด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR: Corporate Social Responsibility) และเป็นผู้เขียนหนังสือ “CSR ที่แท้” (https://bit.ly/2IIJodP ซึ่งเป็นหนังสือประกอบการบรรยายและสามารถ download  ได้ฟรี) ให้ความเห็นต่อการบริจาคเงินของนายกรัฐมนตรีในกรณีช่วยน้ำท่วม 100,000 บาท (https://bit.ly/2knLiHt) ว่าเป็นการบริจาคที่น้อยเกินฐานะ ทำให้ถูกมองในแง่ลบมากกว่าในแง่ดี  คณะทำงานของท่านควรมีความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิด CSR มากกว่านี้

            การมี CSR นั้น ประกอบด้วยกิจกรรม 3 ประการคือ ประการแรกต้องทำการที่ถูกต้องตามกฎหมาย ถ้าทำผิดกฎหมาย เช่น ฉ้อโกง หรือมีความผิดทางอาญา ก็ไม่ถือว่ามี CSR ประการที่สอง ต้องมีมาตรฐานและจรรยาบรรณที่ดีไม่ว่าจะเป็นในฐานะนักบริหาร เช่น ท่านนายกฯ หรือในฐานะนักวิชาชีพใดๆ ก็ตาม และประการสุดท้ายก็คือการบริจาค เราจะบอกว่าเราเป็นคนดี ทำดี มีความรับผิดชอบต่อสังคมยังไงก็ตาม แต่ถ้าไม่ได้ “ควัก” เงินจ่ายเสียเลย หรือจ่ายน้อยเกินไปก็อาจเป็นที่ครหา และทำให้เสียชื่อเสียง หรือทำลายแบรนด์ของตัวเองได้

            ตัวอย่างเช่น ในกรณีการไปงานศพและต้องบริจาคช่วยงานเจ้าภาพ หาก ดร.โสภณ ใส่ซองไป 300-500 บาท ก็คงถูกติฉินนินทาได้ว่าใจแคบ อย่างน้อยก็ต้อง 1,000 บาทขึ้นไป  ยิ่งถ้าไปงานแต่งงาน ในฐานะเจ้าของกิจการ ก็ต้องใส่อย่างน้อย 2,000 - 5,000 บาท  ยิ่งในกรณีเพื่อนร่วมงาน (พนักงาน) ของ ดร.โสภณ ยังได้ซองพิเศษอีก 10,000 บาท ถ้าคนสองคนภายในบริษัทแต่งงานกันเอง ก็ได้รับ 20,000 บาท เป็นต้น  แต่ถ้าสำหรับเพื่อนร่วมงานที่เพิ่งจบใหม่ อาจใส่ซองแค่ 500 บาท ก็นับว่าใช้ได้แล้ว เป็นต้น

            ที่ผ่านมาเคยมีข่าว “เหยาเหมิง” นักบาส NBA ชื่อดังชาวจีน บริจาคเงินช่วยแผ่นดินไหวที่เสฉวนในปี 2551 แค่ 500,000 หยวน (2.5 ล้านบาท) เลยถูกคนครหามาก แต่ภายหลังก็ว่าได้บริจาคไปรวมถึง 2 ล้านหยวน (10 ล้านบาท https://on.china.cn/2kRqEzs) หรือในปี 2547 บอล-ภราดรบริจาคช่วยสึนามิในตอนแรก 10,000 บาท และได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม แต่ต่อมาก็บริจาคเงินอีก 1 ล้านบาท (https://bit.ly/2mlB8HV) เป็นต้น  การบริจาคจึงมีขีดคั่นที่ชัดเจนสำหรับแต่ละบุคคล

            ดังนั้นคนระดับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีทรัพย์สินมากมาย (https://bit.ly/2miiNLK) แถมมีรายได้หลายทางๆ ละนับแสนบาท จึงควรที่จะบริจาคมากกว่านี้  การบริจาคเพียง 100,000 บาท จึงถือว่าไม่สมฐานะของท่าน  ทำให้สังคมเกิดข้อกังขา เป็นการทำลายแบรนด์ของท่านเองอีกต่างหาก  ระดับนี้ต้องบริจาคอย่างน้อยนับล้านบาท จึงจะสมฐานะ  แต่สำหรับประชาชนทั่วไปที่มีเงินจำกัด ก็อาจบริจาคแค่เล้กน้อยก็ถือว่าใช้ได้แล้วเช่นกัน  คุณบัณฑูร ล่ำซำ เคยพูดไว้ว่า “การให้หรือการบริจาคเพื่อการกุศล เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการสร้างภาพพจน์ที่ดี. . . ต้องให้บ้าง หากไม่ให้เลยก็กลายเป็นว่าไม่มีน้ำใจ” (https://bit.ly/2kOSQ64)

            บริจาคให้เหมาะสมกับฐานะ ไม่ใช่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น แต่ก็ไม่ใช่ต้อง “เกินฐานะ”
 


 

สามารถ download  ได้ที่ : http://bit.ly/22QlUZx​

อ่าน 2,484 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved