เที่ยวช่วยชาติหรือเที่ยวทำลายชาติ
  AREA แถลง ฉบับที่ 491/2562: วันอังคารที่ 24 กันยายน 2562

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ตามที่ทางราชการมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการให้เงิน 1,000 บาทไปเที่ยว แถมได้โบนัสพิเศษอีกไม่เกิน 4,500 บาทนั้น เป็นมาตรการ “เที่ยวเพื่อชาติ” หรือ “เที่ยวทำลายชาติ” กันแน่

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ได้สรุปมาตรการ “เที่ยวเพื่อชาติ” คือ “. . .รับเงิน 1,000 บาท (G-Wallet 1) แล้ว ผู้ที่ลงทะเบียนยังสามารถรับเงินคืน (Cash Back) ได้อีกด้วย. . .รัฐบาลจะชดเชยเงินคืนให้เป็นจำนวนเท่ากับ 15 เปอร์เซ็นต์ ของยอดชำระเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 4,500 บาทต่อคน เช่น หากใช้จ่ายเพิ่ม 1,000 บาท จะได้รับเงินคืน 150 บาท หากใช้จ่ายเพิ่ม 1,500 บาท จะได้รับเงินคืน 225 บาท และหากใช้จ่ายเพิ่ม 30,000 บาท จะได้รับเงินคืน 4,500 บาท เป็นต้น ซึ่งเป็นจำนวนเงินคืนที่สูงที่สุดที่จะได้รับ” (https://bit.ly/2kE0K29)

            คุณชัยยศ ยงค์เจริญชัย ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย ได้เขียนรายงาน “ชิมช้อปใช้ : แจกเงินให้เที่ยว ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้ตามประสงค์รัฐบาลประยุทธ์ 2/1 หรือไม่” (https://bbc.in/2mH5aGj)  คุณชัยยศได้สัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องได้ความดังนี้:

            1. นายสถิรพงศ์ ณ ตะกั่วทุ่ง ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว จ.ภูเก็ต และนักธุรกิจด้านการท่องเที่ยว กล่าวว่า "การท่องเที่ยวในเมืองรองน่าจะได้รับประโยชน์จากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้มากกว่าเมืองหลัก เพราะ 1,000 บาท แทบจะทำอะไรไม่ได้เลยกับการท่องเที่ยวตามจังหวัดหัวเมืองใหญ่ ๆ ในแต่ละภูมิภาค"

            2. นายภพพล เกษมสันต์ ณ อยุธยา นายกกิตติมศักดิ์จากสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดขอนแก่น ตั้งคำถามว่า เงินเที่ยว 1,000 บาท "จะกระจายถึงกลุ่มรากหญ้าได้จริงหรือ ท้ายที่สุดแล้ว เงินที่จะเกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวก็จะลงไปที่โรงแรม ร้านอาหาร หรือร้านขายของฝากใหญ่ ๆ ไปเสียหมด แล้วสรุปว่าคนที่จะได้ประโยชน์จากงบกระตุ้นเศรษฐกิจนี้ก็ไม่ใช่กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจริง ๆ เสียทั้งหมด"

            3. นายกิตติ ทิศสกุล ประธานที่ปรึกษาสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือเห็นด้วยว่าการให้เงินคนไปเที่ยวอาจไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เพราะคนที่ต้องการรายได้จากการท่องเที่ยว เพื่อนำไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจริง ๆ คือคนในกลุ่มรากหญ้า "แจกเงินแบบนี้ก็ไม่ต่างกับการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ"

            ดร.โสภณ ได้สรุปว่ามาตรการเช่นนี้แสดงถึง

            1. การจนตรอกทางปัญญาในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจจึงเที่ยวแจกเงิน

            2. ผู้ได้ประโยชน์ไม่ใช่ผู้มีรายได้น้อย

            3. ผู้ที่ได้ประโยชน์เป็นผู้ที่ประกอบธุรกิจเป็นหลัก

            4. ไม่สามารถซื้อสินค้ากับร้านค้าที่ไม่มีเครื่องรูดได้ ที่มีอยู่ 1.5 แสนร้านเทียบไม่ได้กับจำนวนวิสาหกิจนับล้านๆ และการค้าขายของคนรากหญ้าเลย

            5. ทำให้โอกาสการใช้เงินเพื่อการพัฒนาประเทศลดลง เพราะนำเงินไป “แจก” แบบนี้

            การสักแต่กระตุ้นตัวเลขเศรษฐกิจโดยไม่ได้เห็นว่าเศรษฐกิจกำลังย่ำแย่ เพียงเพื่อให้ได้ตัวเลขที่ดูดีขึ้น เป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด แสดงถึงความไม่เป็นมืออาชีพในการบริหารราชการด้านเศรษฐกิจ ส่งผลต่อการทำลายระบบเศรษฐกิจของประเทศมากกว่าจะเป็นการสร้างสรรค์

อ่าน 4,161 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved