คนเร่ร่อนเป็นบุคคลชายขอบของสังคม มักขาดการเหลียวแลเป็นที่สุด แต่เป็นเครื่องหมายสังคมของสังคมที่ป่วยไข้หรือไม่ มูลนิธิอิสรชนจึงให้ความสนใจแก้ไขปัญหาบุคคลเหล่านี้เป็นพิเศษ
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิอิสรชน (www.issarachon.org) ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ที่มุ่งหวังการแก้ปัญหาคนเร่ร่อนหรือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ได้จัดแถลงข่าววันคนเร่ร่อนร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในโอกาสนี้ ดร.โสภณ จึงขอเสนอแนวทางออกในกรณีคนเร่ร่อนเพื่อสังคมและทางราชการจะได้ร่วมกันพิจารณาหาทางแก้ไข
ว่าด้วยคนเร่ร่อน
คนเร่ร่อนหรือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะถือเป็นคนไร้บ้าน (Homeless) กลุ่มใหญ่ที่สุดที่สามารถพบเห็นได้ในสังคม คนเหล่านี้มีสถานะความยากลำบากมากกว่าผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนแออัดซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่ต่ำก่วามาตรฐานการอยู่อาศัยตามควร ไม่ว่าจะเป็นชุมชนแออัดปกติ (Slums) หรือชุมชนแออัดประเภทบุกรุก (Squatter Settlements) ทั้งนี้เพราะอย่างน้อยผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัดยังมี “ที่ซุกหัวนอน” (Shelter) แต่คนเร่ร่อน ไม่มีที่พักอาศัย แต่มักเร่ร่อนไปตามท้องถนน หรือปักหลักอยู่ในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง
คนเร่ร่อนมีหลายจำพวก ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดีจนขาดที่อยู่อาศัย ออกมาเร่ร่อน บ้างก็มีปัญหาในครอบครัวจึงออกมาเร่ร่อน ซึ่งมีทั้งผู้สูงวัย เด็กเร่ร่อนที่สุ่มเสียงต่อการไปสู่การกระทำผิด (Juvenile Delinquent) บ้างก็ออกมาเป็นครอบครัวเร่ร่อน (Nomadic) แต่พบเห็นได้น้อยมากและเป็นสถานะชั่วคราว นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้ค้าบริการทางเพศ ผู้ที่ (พลัดหลง) ในระหว่างการเดินทางมาจากต่างจังหวัด เป็นต้น
นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีกลุ่มแรงงานข้ามชาติ หรือแม้แต่ชาวตะวันตกที่เร่ร่อนอยู่ตามทางบ้าง แต่พบเห็นน้อยมากและมักเป็นสถานะชั่วคราวเช่นกัน คนเร่ร่อนและอยู่ข้างถนนมานาน ย่อมมีความผิดปกติทางสภาพจิตใจไม่มากก็น้อย ที่สำคัญอายุขัยของคนเหล่านี้ค่อนข้างสั้นเมื่อเทียบกับบุคคลทั่วไปที่มีอายุขัย 75.1 ปี (https://bit.ly/1nk5eRW) ดร.โสภณเชื่อว่าคนเร่ร่อนไทยอาจมีอายุขัยไม่ถึง 50 ปี อย่างไรก็ตามในกรณีสหราชอาณาจักร ผลสำรวจล่าสุดเมื่อสิ้นปี 2561 พบว่าคนเร่ร่อนอังกฤษมีอายุขัยเฉลี่ยเพียง 44 ปีเท่านั้น (https://bit.ly/2HqdjJb)
คนเร่ร่อนกับขอทานแตกต่างกัน
คนเร่ร่อนแตกต่างจากขอทานโดยสิ้นเชิง (https://goo.gl/jpt9Hn) ค่าเฉลี่ยของรายได้ของขอทานรายหนึ่งเป็นเงินประมาณ 2,000 - 5,000 บาทต่อวัน รายได้ต่ำสุดที่ได้คือ 500 บาท ขอทานที่มีรายได้สูง จะทำตัวให้สกปรกที่สุด น่าสงสารเวทนาเป็นที่สุด หาก (แสร้ง) ทำแผลให้เหวอะหวะ (โดยใช้ถุงน่อง) หรือแสร้งแสร้งทำแขนหรือขาด้วนด้วยแล้ว ยิ่งมีรายได้สูงขึ้น ด้วยเหตุนี้ เราจึงพบขอทานเกลื่อนเมืองโดยเฉพาะในเขตใจกลางเมืองของกรุงเทพมหานครนั่นเอง
หากสมมติว่ามีขอทานเฉพาะในกรุงเทพมหานครประมาณ 5,000 ราย ๆ หนึ่งมีรายได้ประมาณ 1,000 บาทต่อวัน ก็จะมีรายได้รวม 5,000,000 บาทต่อวัน หรือปีละ 1,825 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีกรณีที่น่าสนใจก็คือ ลุงเอี่ยม ขอทานพิการในวัดไร่ขิง ที่ปรากฏว่าแต่ละปีบริจาคเงินให้วัด 1-4 แสนบาท แต่ปีล่าสุดบริจาคให้ถึง 1 ล้านบาท และตนเองยังมีเงินในบัญชีธนาคารหลายแสนบาท เป็นต้ (http://goo.gl/oqqNR7)
เมื่อเทียบกับรายได้ของคนขับแท็กซี่ โดยเฉลี่ยก็ได้ประมาณ 500 บาท มอเตอร์ไซค์รับจ้างก็ได้ประมาณ 500 บาท แม่ค้าหาบเร่ที่ผมพบบริเวณถนนอโศก ก็ได้เงินราววันละ 500 บาทเช่นกัน ค่าแรงขั้นต่ำของคนไทยก็ประมาณ 300 บาท (ตอนรัฐบาลจะขึ้นให้คนงาน บางคนยังหมั่นไส้หาว่าสูงเกินไปเสียอีก) ลูกจ้างชั่วคราวตามหน่วยราชการ ก็มีรายได้ต่อวันต่ำกว่าขอทานเสียอีก แต่ไม่แน่ว่าคนเหล่านี้นี่เองที่เป็นผู้ใจบุญให้เงินขอทานบ้างก็ได้
สถานการณ์คนเร่ร่อน
ในเมืองใหญ่ๆ มักมีคนเร่รอน ซึ่งเป็นคนชายขอบของสังคม ไม่ว่าจะเป็นในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พัทยา เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น แม้แต่ในใจกลางเมืองยะลา ซึ่งเป็นเมืองที่มีปัญหาความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ ดร.โสภณ ก็ยังเคยพบคนเร่ร่อนที่นอนอยู่ข้างถนน หรือตามทางเท้าหน้าบ้านชาวบ้านทั่วไปในเขตใจกลางเมือง ดังนั้นปรากฏการณ์คนเร่ร่อนจึงอยู่กับกับเมืองต่างๆ เพราะเป็นแหล่งที่สามารถหาอาหารได้ง่ายกว่าอยู่ชนบทโดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีทุนคือบ้านและที่ดินของตนเอง
จากผลการสำรวจของมูลนิธิอิสรชนพบว่าในปี 2562 มีจำนวนคนเร่ร่อนอยู่ทั้งหมด 4,392 คนเฉพาะในกรุงเทพมหานคร โดยเพิ่มขึ้นกว่าปี 2561 ประมาณ 10% อันที่จริง อัตราเพิ่มของจำนวนคนเร่ร่อนค่อนข้างน้อยในช่วงปี 2556-2559 คือเพิ่มขึ้นประมาณ 2.8% - 3.5% เท่านั้น แต่หลังจากปี 2560 เป็นต้นมา ปรากฏว่าอัตราเพิ่มของคนเร่ร่อน เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากเป็น 5.1%, 10% และ 10% โดยตลอด กรณีนี้แสดงว่าในช่วง 3 ปีหลังที่ผ่านมา เศรษฐกิจของประเทศไทยถดถอยลง ไม่ได้ดีตามตัวเลขที่เป็นทางการ จึงทำให้คนเร่ร่อนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นเด่นชัด
รายได้ต่อครัวเรือนต่อเดือนในกรุงเทพมหานครในปี 2556 อยู่ที่ 49,191 บาท เทียบกับรายได้ในปี 2561 ที่ 45,779 บาทนั้น ปรากฏว่าลดลงประมาณ 7% ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจที่รายได้ของครัวเรือนแทนที่จะเพิ่มขึ้น แต่กลับลดต่ำลงไปกว่าเดิมอีก และยิ่งเมื่อนำตัวเลขเงินเฟ้อของกรุงเทพมหานครมาปรับค่าเงิน จะพบว่า รายได้ต่อครัวเรือนต่อเดือนในปี 2561 ลดลงเป็นเงิน 33,060 บาท ในขณะที่รายได้ปี 2556 เป็นเงิน 36,549 บาท ตามราคาคงที่ปี 2545 ซึ่งเท่ากับรายได้สุทธิลดลงถึง 10% (เมื่อหักเงินเฟ้อแล้ว) (https://bit.ly/2WCX2n3)
อย่างไรก็ตามจำนวนคนเร่ร่อนในกรุงเทพมหานครยังน้อยกว่าอีกหลายประเทศ เช่น นครนิวยอร์ก มีประชากร 8.5 ล้านคน แต่มีคนเร่ร่อนถึง 63,000 คน หรืออาจากล่าวได้ว่ามีคนเร่ร่อน 1 คนในจำนวนประชากร 135 คน (https://bit.ly/2J7lAkh) แต่สำหรับในกรุงเทพมหานคร มีประชากร 5.7 ล้านคน (https://bit.ly/2gKl52e) มีคนเร่ร่อน 4,392 คน หรือจะพบคนเร่ร่อน 1 คนจากประชากร 1,298 คน ซึ่งยังนับว่าน้อยมาก
การคาดการณ์แนวโน้มคนเร่ร่อน
โดยที่ในขณะนี้ ณ ปี 2562 มีคนเร่ร่อนอยู่ 4,392 คน ในช่วงปี 2556-2562 อัตราเพิ่มของประชากรคนเร่ร่อนอยู่ที่ 5.75% โดยเฉลี่ย หากใช้อัตรานี้เป็นเกณฑ์ พอถึงปี 2575 หรือในอีก 13 ปีข้างหน้าซึ่งเป็นปีแห่งการครบรอบร้อยปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย จำนวนคนเร่ร่อนน่าจะสูงถึง 9,085 คน หรือเท่ากับเพิ่มขึ้น 2.07 เท่าจากตัวเลขปัจจุบัน แม้ตัวเลขจะไม่มากนัก แต่สิ่งที่พึงตระหนักก็คือ จำนวนการเพิ่มขึ้นของคนเร่ร่อนน่าจะสูงกว่านี้ แต่อัตราเพิ่มสุทธิอาจไม่เปลี่ยนมาก เพราะอายุขัยของคนเร่ร่อนค่อนข้างสั้น จึงมีจำนวนคนเร่ร่อนตายจากไปมากเป็นพิเศษ
อย่างไรก็ตาม โดยที่จำนวนคนเร่ร่อนเพิ่มสูงขึ้นมากในรอบ 3 ปีล่าสุดที่ผ่านมาโดยเฉพาะในช่วง 2 ปีหลังเพิ่มขึ้นถึง 10% ต่อปี มีความเป็นไปได้ที่ปี 2563 อัตราเพิ่มของคนเร่ร่อนอาจมากกว่า 10% ก็เป็นได้โดยเฉพาะหากเศรษฐกิจของประเทศยังไม่ดีเท่าที่ควร และก็มีแนวโน้มว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะต่ำมากในปี 2562 และ 2563 ดังนั้นจำนวนคนเร่ร่อนจึงน่าจะเพิ่มขึ้น
หากใช้ค่าเฉลี่ยของอัตราเพิ่มในรอบ 3 ปีหลัง ณ ค่าเฉลี่ย 8.33% มาปรับใช้กับสำหรับในอีก 13 ปีข้างหน้า คือปี 2575 ซึ่งเป็นปีครบรอยปีคณะราษฎร จำนวนคนเร่ร่อนก็น่าจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 12,420 คน ในขณะนั้นจำนวนประชากรกรุงเทพมหานครอาจเพิ่มขึ้นเป็น 6.45 ล้านคน (ณ อัตราเพิ่มที่ 1% ต่อปี) ก็จะทำให้สัดส่วนคนเร่ร่อนเป็นทุก 1 คนต่อประชากรกรุงเทพมหานคร 519 คน แทนที่จะเป็น 1 ต่อ 1,298 คนเช่นในปี 2562
-
ทิศทางสู่ผู้สูงวัยเร่ร่อน
ในขณะนี้ประชากรผู้สูงวัยไทยมีอยู่ 11.03 ล้านคน (https://bit.ly/2OFLY7T) เทียบกับจำนวนประชากรไทยที่ 66.4 ล้านคน (https://bit.ly/2gKl52e) หรือเป็นสัดส่วนประมาณ 16.6% แต่ในปี 2575 คาดว่าประชากรสูงวัยน่าจะสูงถึง 25% ของจำนวนประชากรทั้งหมด (ปี 2571 ประมาณ 23.5%: https://bit.ly/2wBRW0K) จึงมีความเป็นไปได้ที่ผู้สูงวัยจะออกมาเร่ร่อน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ต่างจากในช่วงปี 2525 ซึ่งเป็นปีที่ 50 ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งในช่วงนั้น คนเร่ร่อนจำนวนมากน่าจะเป็นเด็กเร่ร่อน
โดยที่เศรษฐกิจของไทยอาจมีปัญหาตามที่คาดการณ์ไว้ เงินบำเหน็จบำนาญอาจไม่พอเพียงสำหรับการอยู่อาศัยตามปกติสุข โอกาสที่ผู้สูงวัยจะต้องออกมาเป็นคนเร่ร่อนจึงจะมีมากขึ้น แต่โอกาสการกลายเป็นขอทานก็มีเช่นกัน แต่ก็คงสู้กับ “มืออาชีพ” จากประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ และการทำใจเป็น “ขอทาน” คงทำใจได้ลำบากสำหรับผู้สูงวัยไทยที่มีสถานภาพการอยู่ที่ค่อนข้างดีกว่าขอทานมืออาชีพมาเกือบตลอดช่วงชีวิต
การแก้ปัญหาคนเร่ร่อน
ดร.โสภณเห็นว่านโยบายการจัดระเบียบเมืองของกรุงเทพมหานครนั้น ยังไม่สามารถตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาได้ การจัดระเบียบเมืองให้สวยงาม เป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ควรที่จะปฏิบัติเพื่อการแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนอย่างเป็นระบบด้วย การไล่คนเร่ร่อนให้พ้นไปจากเกาะรัตนโกสินทร์โดยไม่มีการจัดการที่เหมาะสม ทำให้เกิดการแพร่กระจายคนเร่ร่อนและอาจสร้างปัญหาเพิ่มเติม ทางราชการควรจัดหาที่อยู่อาศัยให้คนเร่ร่อนเพื่อหวังพวกเขาสามารถปรับตัวเข้าสู่สังคมปกติได้ ไม่ใช่ให้พวกเขาอยู่ในบ้านพักอย่างถาวร
การที่จำนวนคนเร่ร่อนของกรุงเทพมหานครยังไม่มากนัก สถานการณ์คนเร่ร่อนในกรุงเทพมหานครจึงยังไม่เลวร้ายนัก ปัญหานี้จึงจัดการได้ (Manageable) ไม่เหลือบ่ากว่าแรง และสามารถที่จะแก้ไขได้ทันท่วงที อย่างไรก็ตามในประเทศไทยคงไม่มีหน่วยราชการใดที่จะช่วยเหลือคนเร่ร่อนได้เท่าที่ควร เพราะมีงบประมาณจำกัด อย่างเช่น ในปี 2563 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีงบประมาณอยู่เพียง 21,281 ล้านบาท ในขณะที่งบประมาณแผ่นดินโดยรวม อยู่ที่ 3.2 ล้านล้านบาท แสดงว่างบประมาณของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีสัดส่วนเพียง 0.66% ของงบประมาณแผ่นดิน การที่รัฐบาลเจียดงบประมาณให้กับสวัสดิการสังคมน้อย คนเร่ร่อนจึงไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร
จะเห็นได้ว่าสวัสดิการสังคมต่างๆ มีจำกัดมาก ในจำนวนสถานสงเคราะห์ 324 แห่งทั่วประเทศ (https://bit.ly/2T4hADq) ที่สามารถบริจาคและหักลดหย่อนภาษีได้นั้น ส่วนหนึ่งเป็นของภาคเอกชน ส่วนหนึ่งไม่ได้เกี่ยวกับสวัสดิการสังคมโดยตรง ที่เกี่ยวข้องประมาณ 200 แห่งนั้น ก็ไม่สามารถรับคนเร่ร่อนหรือผู้ด้อยโอกาสอื่น ๆ ได้มากนัก หรือแทบจะรับใหม่ไม่ได้มากนักในแต่ละปี จึงไม่อาจให้บริการได้ทั่วถึง
ดร.โสภณเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีคนเร่ร่อนไม่มากนัก สมมติ ณ ระดับที่ 4,000 คน หากต้องการทำให้คนเร่ร่อนหมดไป สามารถทำได้ไม่ยาก โอกาสที่จะกลับมาเร่ร่อนใหม่ก็จะจำกัด โดยค่าใช้จ่ายในการแก้ไขอาจเป็นเงินคนละ 500 บาทต่อวัน โดยแยกเป็นค่าใช้จ่ายด้านอาหาร ที่พักชั่วคราว การประกอบอาชีพ การพัฒนาอาชีพ การจัดหางาน ฯลฯ หรือเป็นเงินปีละ 730 ล้านบาท หรือเป็นมูลค่าสำหรับการแก้ไขทั้งระบบ ณ อัตราคิดลด 8% เป็นเงิน 9,125 ล้านบาท จะเห็นได้ว่างบประมาณปีละ 730 ล้านบาทนี้ยังมีเพียงสัดส่วนเพียง 1% ของงบประมาณแผ่นดินของกรุงเทพมหานคร ดังนั้นถ้ากรุงเทพมหานคร "เจียด" เงินมาดูแลสังคมมากกว่านี้ ปัญหาคนเร่ร่อนก็จะหมดไปได้อย่างง่ายดาย
โดยสรุปแล้วการแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนที่มีอยู่จำนวนไม่มากนักในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่น สามารถทำได้ไม่ยากนัก เพราะยังมีจำนวนไม่มากนัก หากรัฐบาลจัดงานประมาณเพื่อการนี้ และได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน ปัญหานี้ก็สามารถได้รับการแก้ไขเพื่อจรรโลงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนเร่ร่อนหรือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ อย่าให้เกิดการบีบคั้นจนสังคมมีคนเร่ร่อนเต็มไปหมด
ข้อเสนอพิเศษ:
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานมูลนิธิอิสรชน ขอรับบริจาค เช่าระยะสั้น หรือยืมใช้ที่ดินใจกลางเมืองที่เจ้าของยังไม่ได้ใช้ประโยชน์เพื่อเป็นที่พักอาศัยสำหรับผู้ไร้บ้าน โดยที่ดินดังกล่าวมีลักษณะดังต่อไปนี้
1. มีขนาดเท่าไหร่ก็ได้ หรืออาจเป็นอาคาร เช่น ทาวน์เฮาส์ ตึกแถวหรือบ้านเดี่ยวที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์
2. ในกรณีที่ดินเปล่า มูลนิธิอิสรชน อาจจัดเป็นเตนท์โดยไม่มีการก่อสร้างอาคารใด ๆ ไม่สร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สิน หรืออาจขอตั้งตู้คอนเทนเนอร์เพื่อเป็นที่พักอาศัยของคนเร่ร่อนในยามค่ำคืนโดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับชุนชนโดยรอบ
3. อาคารหรือที่ดินควรตั้งอยู่ในเขตพระนคร เขตสัมพันธวงศ์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตปทุมวัน หรือเขตบางรัก ในระยะแรกนี้
ทั้งนี้เจ้าของทรัพย์อาจอนุญาตให้ใช้ในระยะเวลาประมาณ 1-3 ปี หรืออาจจะมากกว่านี้ก็ได้ โดยหากเกิน 3 ปี มูลนิธิจะขอเช่าในราคาถูก แต่หากเจ้าของที่ดินต้องการจะใช้ที่ดินเมื่อใด มูลนิธิยินดีย้ายออกก่อนกำหนดเวลาโดยไม่ขอรับค่าขนย้ายใด ๆ เพียงแต่แจ้งล่วงหน้า 2-3 เดือน
สำหรับการจัดที่พักพิงชั่วคราวนี้ มูลนิธิจะจัดที่สำหรับการหลับนอนที่ปลอดภัยในยามค่ำคืน (ตั้งแต่เวลา 19:00 - 07:00 น. ของวันรุ่งขึ้น) แก่คนเร่ร่อนหรือประชาชนทั่วไปที่ขาดที่พักพิงชั่วคราว เช่น เพิ่งเดินทางมาจากต่างจังหวัดแต่ไม่พบญาติมิตร เป็นต้น มีพื้นที่สำหรับการอาบน้ำ มีอาหารในมื้อเช้าและมื้อค่ำ และมียารักษาโรคสำหรับการปฐมพยาบาลในเบื้องต้น
อนึ่งขณะนี้มีผู้แสดงความจำนงบริจาคตู้คอนเทนเนอร์เก่าแล้ว แต่ท่านใดประสงค์จะให้การช่วยเหลือคอนเทนเนอร์เพิ่มเติม เวชภัณฑ์ เครื่องนอนหมอนมุ้ง อาหาร หรืออื่น ๆ ก็สามารถแสดงความจำนงได้เช่นกัน
เปลี่ยน Mindset คนเร่ร่อนมีค่ามากกว่าหมาแมว
บางคนเห็นคนเร่ร่อนมีค่าน้อยกว่าหมาแมวแมวนั้น ดร.โสภณเห็นจากคนรู้จัก อดีตนักศึกษาเดือนตุลาที่เคยคิดสละชีพและอนาคตเพื่อความเป็นธรรมในสังคมและเพื่อผู้ยากไร้เมื่อ 40 ปีก่อน รายหนึ่งหมาที่เลี้ยงไว้แก่ตายไป ยังความเศร้าโศกแก่สหายท่านนี้นานนับเดือน แต่สุดท้ายก็ได้หมาตัวใหม่มาปลอบโยน หมาของสหายอีกรายหนึ่งป่วยเป็นมะเร็ง (ระยะสุดท้าย) ยังความกังวลยิ่งแก่คนทั้งครอบครัว ลูกสาวถึงขนาดลาพักร้อนออกมาดูแลเพื่อส่งหมาขึ้นสวรรค์หรือไปสู่ภพภูมิที่ดีกว่า
อันที่จริงเรื่องความรักความผูกพันที่อยู่ร่วมกันมาระหว่างคนกับสัตว์เลี้ยงที่ช่วยบำบัดความเหงาให้เราที่ต่างก็ให้ความรักแก่กันและกัน ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ แม้แต่แมงมุม งูหรือสารพัดสัตว์เดรัจฉานที่คนเลี้ยงไว้ คนเลี้ยงก็ยังมีความผูกพัน อีกอย่างยังถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่เราไม่พึงไปก้าวล่วง แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นหมาข้างถนน และยิ่งเป็นหมาขี้เรื้อนด้วยแล้ว คนเราคงเมิน คนจนที่อาศัยหลับนอนอยู่ข้างถนน บางครั้งก็ถูกมองไร้ค่า ปล่อยให้ตายอย่างอนาถเหมือนหมาข้างถนนเหมือนกัน
บางคนอาจเข้าใจผิดว่าคนเร่ร่อนเป็นคนขี้เกียจ มีมือเท้าแต่มาเร่ร่อนในเมืองแล้วขอทานเขากิน อันที่จริงขอทานกับคนเร่ร่อนไม่เหมือนกัน ขอทานเป็นอาชีพที่ทำกันทุกวันเช่นอาชีพอื่นแต่เป็นอาชีพที่ผิดกฎหมาย บ้างก็นั่งสามล้อแท็กซี่จากที่พักมาขอทาน บ้างก็ทำเป็นขบวนการ แถมด้วยขอทานจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่ร้ายกว่านั้นคือเป็นการค้ามนุษย์ อาชญากรรมตัดแขนขาเด็กให้พิการ ทรมานเด็กและทารกโดยอุ้มมานั่งขอทานทั้งที่เคยมีการตรวจดีเอ็นเอแล้ว พบว่าไม่ใช่แม่ลูกกัน
คนเร่ร่อนก็เป็นคนมีศักดิ์ศรีเป็นมนุษย์เหมือนเราท่าน คนเร่ร่อนไม่ใช่ขอทานมืออาชีพที่ลวงเราด้วยความน่าสงสาร แทบทุกคนก็พยายามประกอบอาชีพหาของเก่ามาขายจากถังขยะ พวกเขาถูกผลักออกจากสังคมปกติจนต้องมานอนอย่างหมาข้างถนน เราท่านคนปกติคงนอนอยู่ข้างถนนแบบนี้ไม่ได้แม้สักคืนหนึ่ง บางคนที่นอนข้างถนนนานวันเข้า ก็เลยเพี้ยนหรือบ้าไปบ้างแหละ บ้างก็นั่งพูดพึมพำ บ้างก็อาจดูน่ากลัว จึงยิ่งถูกสังคมตั้งข้อรังเกียจไปอีก
คนเรามีความรักต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์อยู่แล้ว แต่หลายคนไม่เคยสัมผัสเลย ไม่เข้าใจคนเร่ร่อนว่าเขาก็เหมือนอย่างเราๆ ท่านๆ นี่แหละ เพียงแต่มีวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ที่แตกต่างจากคนส่วนใหญ่ในสังคม ผมจึงขอเชิญชวนท่านแบ่งปันความรักจากสัตว์เลี้ยงมาสู่คนเร่ร่อนบ้าง เช่น การช่วยแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและระยะยาว ได้แก่
1. การเลี้ยงอาหารให้คนเร่ร่อนได้ทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะและอร่อยสักมื้อ
2. ให้ปัจจัยการยังชีพเป็นถุงยังชีพ รวมทั้งการช่วยรักษาพยาบาลเบื้องต้น
3. การช่วยเหลือส่งไปรับการรักษาพยาบาล ถ้าเป็นกรณีจำเป็น ก็อาจส่งไปสถานสงเคราะห์คนชรา สงเคราะห์เด็ก หรือสงเคราะห์ผู้ค้าบริการทางเพศ
4. การจัดหาที่อยู่ชั่วคราวหรืองานเพื่อเตรียมให้พวกเขากลับสู่สังคมปกติ
5. การส่งกลับไปหาครอบครัวในชนบท เป็นต้น
6. การส่งเสริมบ่มเพาะให้เขามีอาชีพเพื่อให้เขารู้สึกว่ามีคุณค่าไม่เป็นภาระของสังคมและกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
มูลนิธิอิสรชนได้พยายามช่วยเหลือคนเร่ร่อนมานับสิบปี เรายังทำการสำรวจวิจัย จัดทำสถิติ ให้ข้อมูลเผยแพร่ความรู้ต่อสังคมเพื่อแก้ปัญหานี้อีกด้วย เราเชื่อว่าถ้าทุกคนได้รับการดูแล ก็น่าจะทำให้สังคมเป็นสุข ประเภทที่ "เพี้ยน" ไปจนทำร้ายตนเอง และทำร้ายสังคมก็คงไม่เกิดขึ้น ยิ่งในสังคมขณะนี้ บางทีเจอคนดีๆ ทำร้ายคนอื่น เช่น กรณี รปภ.เอาไม้ตีนิสิตสาวมหาวิทยาลัยเกษตรฯ ก็ถูกเข้าใจว่าเป็นฝีมือคนเร่ร่อน เป็นต้น (https://goo.gl/mcG9fC)
การเลี้ยงอาหารคนเร่ร่อน
ดร.โสภณ ขอเชิญชวนท่านผู้มีจิตอันเป็นกุศล ร่วมเลี้ยงอาหารค่ำแก่ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ (คนเร่ร่อน) บริเวณตรอกสาเก ใกล้ท้องสนามหลวง (บริเวณด้านหลังของโรงแรมรัตนโกสินทร์) เพื่อให้พวกเขาได้มีอาหารที่ถูกอนามัยรับประทานสักมื้อหนึ่ง โดยมูลนิธิจัดงานเลี้ยงนี้ในทุกวันอังคาร เวลา 18:00 น. ผู้มีจิตอันเป็นกุศลสามารถร่วมเป็นเจ้าภาพครั้งละประมาณ 4,000-5,000 บาท เป็นค่าอาหาร ค่าจาน ช้อน และอื่นๆ หรือท่านอาจบริจาคเพิ่มเติมเพื่อเป็นทุนในการทำความดีร่วมกับมูลนิธิอิสรชนก็ย่อมทำได้เช่นกัน โดยเฉพาะท่านที่ฝันร้าย (Nightmare) แทนที่จะไปทำบุญกับนักบวชที่ยืนอยู่หน้าตลาด (ซึ่งไม่ทราบว่าพระจริงหรือปลอม) หรือไปทำสังฆทาน การมาเลี้ยงอาหารนี้ น่าจะเป็นกุศลไม่น้อย
บางท่านคิดว่าการเลี้ยงอาหารนี้เป็นการช่วยแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งก็จริง แต่พวกเขาก็ควรมีโอกาสรับประทานอาหารที่ถูกอนามัยบ้าง แต่การเลี้ยงนี้คงไม่ทำให้พวกเขา "งอมืองอเท้า" ไม่ทำมาหากิน รอรับแต่อาหาร เพราะมูลนิธิเลี้ยงเพียงสัปดาห์ละ 1 มื้อเท่านั้น ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะยังต้องออกไปทำมาหากินตามปกติ เช่น ไปเก็บขยะ หรือรับจ้างทั่วไป เพื่อหาเงินมาประทังชีวิตอิสระตามลำพัง
ติดต่อมูลนิธิ
สำหรับผู้ที่ให้การสนับสนุน มูลนิธิจะตอบแทนด้วยการประชาสัมพันธ์การทำความดีนี้ผ่านสิ่งพิมพ์ หรือเว็บไซต์ของมูลนิธิ ตั้งชื่อบ้านตามชื่อที่ผู้ให้การสนับสนุนต้องการ เป็นต้น
ผู้สนใจสามารถติดต่อ ดร.โสภณ ในฐานะประธานมูลนิธิอิสรชน ได้ที่ โทร.02.295.3905 Email: sopon@area.co.th หรือคุณอัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิ โทร.092.865.6651