ขณะที่ไทยเรากำลังเพลินๆ อยู่กับการแตกแยกไม่สิ้นสุดมา 15 ปีเข้าแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านกำลังคึกคักใกล้จะแซงเราไปหลายขุมแล้ว ลูกหลานไทยเราจะเป็นอย่างไรในวันหน้า น่ากลัวจริงๆ
ผมในฐานะประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) เดินทางไปกรุงมะนิลาเพื่อบรรยายในงาน Real Estate Expo Manila (5-7 กันยายน 2562) และไปยังกรุงจาการ์ตาเพื่อประชุม the Asia Pacific Real Estate Congress (10 - 15 กันยายน) ผมยังเคยเป็นที่ปรึกษาและช่วยงานในกระทรวงการคลังในเวียดนาม บรูไน เมียนมา ลาว อินโดนีเซีย จึงพอเห็นทิศทางในอนาคตบ้าง
ในช่วง 10 วัน 2 ประเทศนี้ ผมได้พบปะกับผู้บริหารด้านอสังหาริมทรัพย์จากประเทศต่างๆ ในอาเซียนและทั่วโลก ดูๆ ไปแล้ว ประเทศไทยของเรากำลังถูกแซงไปอย่างน่าใจหายจริงๆ ถ้าเมืองไทยเราถดถอยหรือเติบโตช้ากว่าชาติอื่น อนาคตของคนไทยโดยเฉพาะลูกหลานไทยคงต้องเผชิญชะตากรรมที่น่าห่วงใยเป็นแน่แท้ ผมจึงต้องขอเล่าสู่กันฟังเพื่อการเตรียมพร้อม เตรียมใจ และเตรียมรับสถานการณ์ในอนาคต
ประเทศไทยเมื่อ 60 ปีก่อนถือว่ามีความเจริญแบบโลกตะวันตกต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ที่เคยเป็นอาณานิคมของสหรัฐอเมริกา มีนักพัฒนาที่ดินรายใหญ่รายหนึ่งที่เป็นเชื้อสายจีนต้องตัดสินใจว่าจะไปลงทุนที่เมียนมาหรืออยู่ในไทยดี สุดท้ายก็เลือกเมียนมา ในยุคนั้นกรุงพนมเปญถือเป็น “ปารีสแห่งตะวันออก” ก็ว่าได้ ส่วนนครโฮจิมินห์ซิตี้ก็เติบโตเติบอย่างมากมาย ยังเคยมีคนไทยไปเรียนต่อปริญญาโทในนครแห่งนี้
แต่พอเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น เกิดการทุจริตโกงกินของเผด็จการทรราชในประเทศเหล่านี้ ก็เลยทำให้นครที่เคยเจริญทัดเทียมหรือเจริญกว่าไทยกลับถดถอยลงอย่างน่าเสียดาย กรุงจาการ์ตาที่เคยใหญ่โตโอ่โถงก็สู้ไทยไม่ได้ กรุงพนมเปญก็เคยเป็นเมืองร้างในยุคเขมรแดง อสังหาริมทรัพย์ในนครโฮจิมินห์ในช่วง “สิ้นชาติ” ก็แทบไม่มีราคาค่างวดอะไรเลย กรุงย่างกุ้งที่ถูก “ปิดประเทศ” ก็ถดถอยลงมาโดยตลอด ในขณะที่กรุงเทพมหานครของเรามีทางด่วนในสายแรกในปี 2524 ในขณะที่ประเทศในอินโดจีนยัง “เละเป็นโจ๊ก” เรามีรถไฟฟ้าสายแรกในปี 2542 ในขณะที่ประเทศในอินโดจีนยังเพิ่ง “เปิดประเทศ” หมาดๆ และในปี 2547 ไทยก็มีรถไฟฟ้าใต้ดินแห่งแรก
เป็นที่แน่นอนว่าประเทศในอินโดจีน เมียนมา ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียยังไม่ได้แซงไทย แต่ก็ไม่รู้ว่าจะอีกนานแค่ไหนที่ไทยเรายังเป็นผู้นำ เพราะมาเลเซียก็แซงไทยไปไม่เห็นฝุ่นแล้วโดยมีรายได้ประชาชาติต่อหัวสูงกว่าไทยถึงเกือบเท่าตัวเข้าไปแล้ว ประเทศอื่นที่เพิ่งกล่าวถึงข้างต้น ก็มีรายได้ประชาชาติต่อหัวขยับเข้าใกล้ไทยเข้ามาทุกที โดยเฉพาะอินโดนีเซียที่เป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน แต่เดิมมีรายได้ประชาชาติต่อหัวเพียงครึ่งหนึ่งของไทย เดี๋ยวนี้ขยับมาเป็น 69% แล้ว
อย่างไรก็ตามอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาปรากฏว่าไทยเราเติบโตช้า อันเป็นผลจากการเมืองภายในประเทศ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน อันได้แก่ กัมพูชา ฟิลิปปินส์ เมียนมา ลาว เวียดนาม อินโดนีเซีย ต่างเติบโตอย่างก้าวกระโดดปีละเฉลี่ย 7% กันยกใหญ่ แสดงว่าเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้เติบโตราว 1 เท่าตัวในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ไทยเติบโตเพียง 34% ในรอบ 10 ปี ณ อัตราเติบโตเฉลี่ยที่ 3% บางคนบอกว่าประเทศในอินโดจีนเติบโตเร็วเพราะเขาเพิ่งฟื้นและเศรษฐกิจมีขนาดเล็ก แต่อันที่จริงประเทศที่เจริญใกล้เคียงกับไทย เช่น ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียก็มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าไทย รวมทั้งมาเลเซียที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าไทย ก็มีอัตราการเจริญเติบโตที่เร็วกว่าเช่นกัน
สิ่งละอันพันละน้อยที่พบเห็นมาและเป็นสิ่งที่น่าสนใจต่อการเติบโตของประเทศ “คู่แข่ง” ของเราก็เช่น
1. ที่กัมพูชา ญี่ปุ่นให้ “วิศวกร” เขมรไปทำงานในญี่ปุ่นปีละ 200 คน โดยสามารถนำครอบครัวไปอยู่ได้ด้วย ขณะนี้ชาวเขมรนิยมเรียนวิศวกรกันใหญ่
2. เกาหลีให้สิทธิพิเศษแก่คนงานชาวเวียดนามและกัมพูชาให้ไปทำงานในประเทศมากกว่าที่ให้กับไทยด้วยซ้ำไป ดูท่าเขาปลื้มคนงาน 2 ประเทศนี้มากกว่าไทย
3. ญี่ปุ่นนิยมไปอยู่บ้านผู้สูงวัยในมาเลเซีย เพราะมาเลเซียพูดภาษาอังกฤษได้มากกว่าไทย ประเทศสงบสุขกว่า แม้มาเลเซียจะเป็นประเทศมุสลิมที่ค่อนข้างเคร่งครัด และอาจรู้สึกอึดอัดกว่าการอยู่ในไทย
4. กระแสจีนโหมไปลงทุนในเวียดนาม กัมพูชา เมียนมา และฟิลิปปินส์กันอย่างมหาศาล อาจมากกว่ามาลงทุนในไทยด้วยซ้ำไป
5. การลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ที่ไปลงทุนในเวียดนามมีมูลค่าสูงกว่าที่เข้ามาลงทุนไทยแล้ว
6. แม้กัมพูชาและเวียดนามจะไม่มีรถไฟฟ้า (ใต้ดิน) และคงอีกนาน แต่กรุงจาการ์ตามีรถไฟใต้ดินแล้ว และกำลังสร้างรถไฟฟ้ามวลเบา และรถเมล์แบบบีอาร์ทีรุ่นใหม่ที่ยกระดับโดยไม่กินช่องทางจราจรไปแบบบีอาร์ทีบ้านเรา
7. แม้ไทยจะเป็นศูนย์กลางการแพทย์ของโลก (Medical Hub) แห่งหนึ่ง แต่ค่ารักษาพยาบาลของไทยแพงมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่มาเลเซียได้ก้าวเข้ามาเป็น Medical Hub แทนไทยเพราะรัฐบาลเขามีการควบคุมอัตราค่ารักษาพยาบาล ไม่ปล่อยให้โรงพยาบาลไทยฆ่าตัวตายด้วยการเรียกค่ารักษาพยาบาลส่งเดชตามอำเภอใจ
8. ในขณะที่นายกฯ ไทยบ่นว่าเมืองไทยทำอะไรก็ยาก เพราะพวกเอ็นจีโอมัวแต่มาเต้นเหยงๆ แต่มาเลเซีย เวียดนามไม่มีปัญหา เขาสามารถสร้างรีสอร์ตล้ำเข้าไปในทะเลเป็นกิโล เพื่อนำธรรมชาติมารับใช้มนุษยชาติให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ สร้างกระเช้าลอยฟ้ามากมายหลายแห่ง เอาพื้นที่ป่าดงดิบมาสร้างโรงแรมเชนดังๆ ของโลก โดยมีค่าสัมปทานที่คุ้มค่ามาพัฒนาประเทศ พัฒนาท้องถิ่น
9. เรื่องภาษาอังกฤษ นับว่าน่าหนักใจมาก ผมเองเคยไปสำรวจตลาดอสังหาริมทรัพย์ในนครต่างๆ พบว่า วัยรุ่นหรือชาวบ้านในพนมเปญ โฮจิมินห์ซิตี้ ย่างกุ้ง ต่างสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดี ดีกว่าคนไทยด้วยซ้ำไป แบบนี้ต่อไปไทยจะเป็นอย่างไร คิดแล้วหนาว
10. ราคาห้องชุดและพื้นที่สำนักงานในกรุงจาการ์ตา พุ่งขึ้นเกินเท่าตัวในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับในกรุงมะนิลา แต่ไทยเติบโตช้ากว่ามาก
ขณะนี้เรามีดีกว่าประเทศอื่นตรงที่มีรถไฟฟ้า ทางด่วน มีสาธารณูปโภคที่ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้เพื่อนบ้านของไทยทั้งกัมพูชา ลาว เมียนมา “อิจฉา” และอยากมาซื้อบ้านในประเทศไทยมากกว่าไปซื้อประเทศอื่น หลายคนอยากไปซื้อที่สิงคโปร์และมาเลเซีย แต่ห้องชุดในสิงคโปร์ก็มีราคาสุดแพง ส่วนที่มาเลเซียก็กำหนดให้ซื้อได้ในราคาไม่ต่ำกว่า 8 ล้านบาท ในขณะที่ไทยเราไม่มีข้อจำกัดในราคาที่ซื้อ
เราต้องก้าวกระโดดบ้างแล้ว หาไม่ไทยจะมีปัญหาใหญ่ในอนาคต