AREA แถลง ฉบับที่ 51/2555: 30 เมษายน 2555
การมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางผังเมือง
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
การวางผังเมืองควรให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยการระดมความเห็นจากประชาชนที่เกี่ยวข้องและการเปิดเผยข้อมูลอย่างทั่วถึง และสร้างบรรยากาศการระดมความเห็นที่มีประสิทธิผล
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้ให้ข้อเสนอแนะต่อการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะนี้ได้ขยายเวลาการสิ้นสุดออกไปถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2556 ดังต่อไปนี้:
1. ก่อนการที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วม ควรมีการแสดงร่างผังเมืองรวมที่ถูกต้อง ครบถ้วน พร้อมข้อมูลที่ทันสมัยไว้ ณ เว็บไซต์หรือสื่อต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานครไว้ล่วงหน้า เพื่อให้ประชาชนที่สนใจสามารถพิมพ์หรืออ่านดูข้อมูลได้ครบถ้วน เช่น ในเว็บไซต์ http://cpd.bangkok.go.th เว็บไซต์ http://www.bangkokplan.org และเว็บไซต์ จะแทบหาทางไปสู่หน้า http://www.bangkokplan.org/website/index.php?option=com_content&view=article&id=63%3A-3&catid=1%3Alatest-news&lang=th ซึ่งแสดงร่างผังเมืองที่กำลังร่างกันอยู่นี้ไม่ได้ จึงทำให้ประชาชนไม่สามารถได้รับรู้ข้อมูลได้ทั่วไปเกี่ยวกับร่างผังเมืองรวมฉบับนี้
2. สำหรับกลุ่มประชาชนที่เข้าร่วมประชุมนั้น ไม่พึงเน้นเชิญ กลุ่มหรือองค์กรชุมชนที่ “จัดตั้ง” ไว้ในชุมชนแออัดต่าง ๆ เพราะเป็นกลุ่มที่อาจไม่ได้มีผลกระทบเกี่ยวข้องโดยตรง แต่ควรเน้นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่โดยตรง โดยการประกาศเชิญชวนผ่านสื่อต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง
3. ในการรับฟังความเห็นของประชาชน ควรประกาศกำหนดการ วันเวลา สถานที่ให้ชัดเจน และโดยที่ผังเมืองมีผลกระทบต่อประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครโดยรวม จึงควรลงโฆษณาประกาศเชิญชวนในหนังสือพิมพ์ยอดนิยมจำนวนอย่างน้อย 3 ฉบับ เป็นเวลา 2 วันเป็นอย่างน้อย รวมทั้งการโฆษณาผ่านสถานีโทรทัศน์ โดยประกาศเชิญชวนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน และให้ลงทะเบียนล่วงหน้าส่วนหนึ่งเพื่อทราบจำนวนผู้เข้าร่วมสำหรับจัดสถานที่ในแต่ละพื้นที่ที่ไปรับฟังความเห็น หากดำเนินการตามนี้ ก็เชื่อว่าจะมีประชาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
4. ควรประสานงานให้มีการถ่ายทอดสดการประชุมผ่านสถานีโทรทัศน์ของทางราชการ รวมทั้งการถ่ายทอดผ่านสถานีดาวเทียมและเว็บไซต์ต่าง ๆ โดยแจ้งล่วงหน้าให้ทราบกันทั่วหน้าผ่านหนังสือพิมพ์หรือสื่อสำคัญอื่น ๆ
5. ในระหว่างการชี้แจง ควรแจกแจงให้เห็นถึงข้อดี ข้อเสียที่กระทบต่อผลประโยชน์ของประชาชนให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนเข้าใจถึงความจำเป็นในการวางผังเมือง ซึ่งส่งผลบวกและลบต่อเจ้าของที่ดินในพื้นที่นั้น ๆ
6. หลังจากการรับฟังความคิดเห็น ทางราชการควรรวบรวมประเด็นสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้อง และทำการชี้แจงให้กระจ่างผ่านเว็บไซต์หรือสื่อต่างๆ ของกรุงเทพมหานครและสื่อมวลชน เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ และแสดงถึงการให้ความสำคัญต่อการแสดงความเห็นของประชาชนโดยรวม
และนอกจากการมีส่วนรวมของประชาชนแล้ว การร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ก็มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เช่น
1. หน่วยงานข้อมูล ได้แก่ กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย (ระบบเอกสารสิทธิ์) และกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง (ประเมินค่าทรัพย์สิน)
2. หน่วยงานการปกครอง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
3. หน่วยงานสาธารณูปโภค ได้แก่ การประปานครหลวง การไฟฟ้านครหลวง ฯลฯ และหน่วยงานด้านสาธารณูปการ เช่น สถานศึกษา โรงพยาบาล ต้องประสานแผนให้สอดคล้องกับผังเมือง
4. หน่วยงานคมนาคม ได้แก่ กรมเจ้าท่า กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การทางพิเศษแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เป็นต้น
5. หน่วยงานการวางแผนพัฒนาเมือง เช่น กรมการพัฒนาชุมชน กรมโรงงานอุตสาหกรรม และการเคหะแห่งชาติ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงควรมีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาพื้นที่ของเมืองให้สอดคล้องกับความเป็นจริง และให้ผังเมืองมีผลต่อการปฏิบัติ
6. หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม โดยการประสานงานกับกรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการจัดทำแผนสิ่งแวดล้อมในผังเมืองรวมของกรุงเทพมหานคร
การให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และการประสานหน่วยงานต่าง ๆ ในการจัดทำผังเมือง โดยให้กระทรวงมหาดไทยที่ควบคุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแทบทั้งหมดโดยตรงเป็น ‘เจ้าภาพ’ จึงจะทำให้ผังเมืองรวมสอดคล้องกับความเป็นจริงและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน |