ดร.โสภณ แนะรัฐบาลประยุทธ์ 10 ข้อ กระตุ้นเศรษฐกิจ
  AREA แถลง ฉบับที่ 573/2562: วันศุกร์ที่ 08 พฤศจิกายน 2562

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ถ้ารัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจจริง มีทางออกหลายทางที่ทำได้ผลเมื่อทำทันที อยู่ที่ว่ารัฐบาลต้องการให้ประชาชนอยู่ดีกินดีจริงหรือไม่

            1. การให้สัมปทานรถไฟฟ้าใจกลางเมือง ทั้งนี้รัฐบาลไม่ต้องออกเงินก่อสร้างเอง จะทำให้เกิดรายได้สูง เพราะเป็นเส้นทางที่มีความเป็นไปได้ทางการเงิน มีผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่าการก่อสร้างออกไปนอกเมือง ทั้งนี้สามารถดำเนินการได้หลายพื้นที่ในใจกลางเมือง คล้ายการให้สัมปทานรถประจำทาง เป็นต้น  การทำรถไฟฟ้าในราคาที่ไม่สูงจนเกินไป จะทำให้มีเอกชนสามารถเข้าร่วมประมูลได้มากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันเสรี โดยไม่ต้องถูกผูกขาดโดยรายใหญ่ และรัฐบาลแทบไม่ต้องเสียงบประมาณแผ่นดินใด ๆ เพียงแต่ควบคุมและตรวจสอบการจัดทำสัญญาที่ไม่เสียเปรียบภาคเอกชน อย่างไรก็ตามสิ่งที่รัฐบาลทำก็คือทำไม่กี่สาย ทำในเส้นทางที่ไม่เหมาะสม ค่าโดยสารแพง และทำให้เกิดการผูกขาดโดยบริษัทบางแห่ง ซึ่งทำให้มาตรการนี้ไม่ได้ผล

            2. การอนุญาตให้ก่อสร้างอย่างหนาแน่นสูง (High Density) แต่ไม่แออัด (Overcrowdedness) โดยกำหนดผังเมืองใหม่โดยให้การก่อสร้างในเขตใจกลางเมือง สามารถสร้างสูงได้ถึงประมาณ 15-20 เท่าของขนาดแปลงที่ดิน (Floor Area Ratio: FAR) โดยให้เว้นพื้นที่โดยรอบให้เป็นพื้นที่สีเขียว ส่งเสริมการก่อสร้างอาคารอัจฉริยะ อาคารเขียว เพื่อไม่ก่อมลภาวะ  การอนุญาตให้สร้างได้มากกว่าผังเมืองปัจจุบัน จะทำให้เกิดการก่อสร้างในใจกลางเมืองอีกมหาศาล (http://goo.gl/aBukys) โดยสมมติให้พื้นที่พาณิชยกรรมเพิ่มขึ้น 2 ล้านตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่ๆ ขายได้ประมาณ 70% หรือ 1.4 ล้านตารางเมตร และสมมติให้ตารางเมตรละ 60,000 บาท ก็เป็นเงิน 84,000 ล้านบาทที่เพิ่มขึ้นหากส่วนที่เพิ่มจากกฎหมายเดิม เก็บภาษี 10% ก็จะได้ภาษีนำมาพัฒนาท้องถิ่นเพิ่มเติมอีก 8,400 ล้านบาท

          การอยู่อาศัยในใจกลางเมือง ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการขยายไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ระบบคมนาคมและขนส่งมวลชนออกไปชานเมืองอย่างไม่สิ้นสุดได้อีก เท่ากับประหยัดงบประมาณแผ่นดินไว้พัฒนาทางด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป ยิ่งกว่านั้นเมืองก็ไม่ขยายตัวอย่างไร้ขอบเขต คุณภาพชีวิตของประชาชนก็จะดีขึ้น แทนที่จะเสียเงิน เสียเวลาเดินทางไกลบนท้องถนน และเป็นการลดมลภาวะอีกด้วย

            3. การนำที่ดินของรัฐใจกลางเมืองมาพัฒนาเชิงพาณิชย์  ไม่ใช่เอามาสร้าง "บ้านคนจน" ที่ดินของรัฐใจกลางเมืองสามารถนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์เพื่อหารายได้ได้อย่างยั่งยืน เช่น นำมาใช้ก่อสร้างเป็นศูนย์ธุรกิจใจกลางเมือง (Central Business District: CBD) แห่งใหม่ซ้อนอยู่ใน CBD เดิม โดยให้มีอาคารสำนักงานขนาดใหญ่รวมกันในที่เดียว ทำให้เกิดพลังเกื้อหนุนกัน คล้ายบริเวณสีลม-สุรวงศ์-สาทร ซึ่งทำให้การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพ ไม่เสียเวลาเดินทาง ราคาค่าเช่าก็จะไม่ตกต่ำเช่นอาคารที่ตั้งอยู่โดด ๆ เช่น

          3.1 ที่ดินกรมทหาร เขตดุสิต ซึ่งมีพื้นที่กว้างขวางหลายพันไร่

          3.2 พื้นที่กรมทหาร ถ.โยธี พญาไท ซึ่งมีขนาดใหญ่และมีทั้งทางด่วนและรถไฟฟ้าผ่านเช่นกัน

          3.3 สนามม้าในกรุงเทพมหานคร

          3.4 โรงซ่อมรถไฟ บึงมักกะสัน ซึ่งมีทั้งทางด่วนและรถไฟฟ้าผ่านเช่นกัน

          3.5 โรงงานยาสูบเดิม ถ.พระรามที่ 4 ซึ่งมีรถไฟฟ้าและทางด่วนผ่านบริเวณใกล้เคียง

          3.6 ที่ดินคลังน้ำมัน ถ.พระราม 3 ติดแม่น้ำเจ้าพระยา

          3.7 ที่ดินการรถไฟฯ ถ.เชื้อเพลิง ติดแม่น้ำเจ้าพระยา

          3.8 ท่าเรือคลองเตยและที่ดินการท่าเรือแห่งประเทศไทยที่ตลาดคลองเตยและโดยรอบ เป็นต้น

          ที่ดินเหล่านี้หากสามารถนำมาพัฒนาได้จริง ย่อมทำให้เกิดมูลค่าการพัฒนาไม่ต่ำกว่า 4 ล้านล้านบาท หรือมากกว่างบประมาณแผ่นดินไทย ที่ผ่านมาประเทศเพื่อนบ้านก็ได้ทำการย้ายส่วนราชการออกนอกเมืองเป็นจำนวนมากทั้งในกรุงมะนิลาและนครโฮชิมินห์ซิตี้ เป็นต้น

            4. การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในประเทศตะวันตก จัดเก็บประมาณ 1-2% ของมูลค่าทรัพย์สินตามราคาตลาด แต่ในกรณีประเทศไทย อาจเริ่มต้นที่ 0.5% สำหรับอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท จะได้ไม่เกิดความลักลั่น ยกเว้นที่ดินเปล่า ซึ่งควรเร่งรัดให้พัฒนาเพื่อเพิ่มอุปทานที่ดิน ราคาที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์จึงจะไม่แพงจนเกินไป โดยควรให้จัดเก็บประมาณ 1-2% ทั้งนี้ควรให้ท้องถิ่นเป็นผู้ประเมินภาษีกันเอง และจำกัดวงเงินการพัฒนาสาธารณูปโภคท้องถิ่นตามภาษีที่จัดเก็บได้ เพื่อส่งเสริมให้มีการจัดเก็บได้มากขึ้น และควรกำหนดให้ยกเลิกภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดิน ภาษีค่าโอนที่สูงถึงประมาณ 3% ของราคาขาย เป็นต้น

            อย่างไรก็ตามสิ่งที่รัฐบาลทำก็คือ การเก็บภาษีที่ไม่สอดคล้องกับหลักสากล ให้เสียภาษีเฉพาะบ้านที่มีราคาเกิน 50 ล้านบาท  ภาษีที่จะเก็บได้ในอนาคต อาจน้อยกว่าเดิมและทำให้นายทุนกลับเสียภาษีน้อยลงกว่าแต่ก่อน  รัฐบาลควรจัดเก็บภาษีที่ 0.1% ของราคาทรัพย์สินโดยทั่วหน้ากัน

            5. การจัดเก็บภาษีมรดก ในปัจจุบันจัดเก็บภาษีมรดกเฉพาะทรัพย์สินที่มีราคาเกิน 100 ล้านบาท และค่อยๆ ทยอยโอนให้ลูกหลานในอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์อย่างละไม่เกิน 20 ล้านบาทในแต่ละปีได้  ทำให้มาตรการนี้ไม่ได้นำมาใช้จริง นอกจากนี้ยังมีการลดหย่อนอีกมากมาย  รัฐบาลจึงควรกำหนดให้เก็บภาษีมรดกโดยไม่มีข้อยกเว้น และให้เก็บที่อัตรา 10% ของกองมรดกในทุกระดับราคา จะทำให้มีเงินมาพัฒนาประเทศอีกมาก  ผู้ที่บอกว่าตนเองเป็นผู้รักชาติ ก็ควรเสียภาษีเพื่อนำมาพัฒนาประเทศ

            6. การสร้างนิคมอุตสาหกรรมและคาสิโนในบริเวณริมชายแดน โดยจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมและแหล่งพักพิงของแรงงานเพื่อแรงงานจะได้ไม่ต้องเดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานครหรือในพื้นที่ที่ลึกเข้ามาจากชายแดน โดยให้วิสาหกิจเสียค่าใช้จ่ายในด้านสาธารณูปโภคเป็นหลัก  และในพื้นที่กันดารในชนบท ก็อาจพิจารณาสร้างเมืองใหม่โดยมีคาสิโนเป็นตัวนำ เช่นที่ดำเนินการในสิงคโปร์ และมาเลเซีย โดยจะเห็นได้ว่าในประเทศที่มีคาสิโน ก็ไม่ได้มีสถิติของการเกิดอาชญากรรมมากกว่าประเทศที่ไม่มีคาสิโนแต่อย่างใด  นอกจากนี้ยังสามารถจัดเก็บภาษีจากการประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ต้องติดสินบนอันเป็นบ่อเกิดการทุจริตในวงราชการอีกด้วย

            อย่างไรก็ตามรัฐบาลกลับมุ่งแต่จะพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี จนขณะนี้พับการพัฒนาริมชายแดนไปแล้ว ในขณะเดียวกันเขตอีอีซีกลับกลายเป็นการขายชาติไปในที่สุด (https://bit.ly/2UWql3m)

            7. การมี "หวยบนดิน" ทำให้มีรายได้เพิ่ม เช่น ปีงบประมาณ 2547 มีรายได้รวม 76,429 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเมื่อก่อน 108% ปี 2548 รายได้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 82,718 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2549 มีรายได้รวม 92,764 ล้านบาท" (https://goo.gl/VRNDSc) ยิ่งกว่านั้นหวยบนดินยังทำให้ประชากรมีงานทำ "แน่นอนว่า การยกเลิกหวยบนดินให้หมดไปเลยทีเดียวนั้นเป็นเรื่องที่ยาก เพราะจะทำให้คนขายหวยบนดินและคนเดินโพยกว่า 4 แสนคนต้องตกงานและขาดรายได้ อีกทั้งยังทำให้หวยใต้ดินกลับมาแพร่หลายอีกด้วย!!" (https://goo.gl/RG8jdp) จะเห็นได้ว่าการมีคนทำงานเพิ่มขึ้นถึง 4 แสนคนนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่าการแจกเงินของรัฐบาลที่ทำอยู่ทุกวันนี้ (https://goo.gl/8nWcxE)

            8. การลดดอกเบี้ยเงินกู้แค่ 1% ก็ทำให้อัตราเงินผ่อนต่อปีลดลงถึงเกือบ 9% ต่อปี การผ่อนเบาภาระแก่ประชาชนนี้ จะทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ยิ่งถ้าลดได้ 2% ก็จะทำให้อัตราเงินผ่อนลดลงถึง 18% เลยทีเดียว  การลดดอกเบี้ยเงินกู้นี้ จะทำให้สถาบันการเงินได้ลูกค้าและค่าธรรมเนียมมากขึ้นจากการข้อกู้มากขึ้น เลือกลูกค้าได้มากขึ้น ระบบสถาบันการเงินแข็งแกร่งขึ้น การเอาใจประชาชนเช่นนี้ จะทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในรัฐบาลมากขึ้น ประชาชนและเศรษฐกิจชาติจะได้รับการกระตุ้นจริง (https://bit.ly/2dm96oL)

            9. ลดราคาน้ำมันลง จากโครงสร้างราคาน้ำมันในปัจจุบัน 8 พฤศจิกายน 2562 (https://bit.ly/2NQb9m2) หากรัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็สามารถที่จะลดราคาลงมา 5 บาท โดยลดลงจากราคาขายตามปกติ  หากสามารถลดราคาลงได้เป็นเวลา 1 ปี ก็จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้มหาศาลในระยะเวลาอันสั้น

            10. หยุดแจกเงิน เพราะเงินที่แจกก็คือภาษีของทุกคนนั่นเอง  การแจกเงิน 300 บาทต่อเดือนนั้น หากถือเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% แสดงว่าคนๆ หนึ่งมีรายได้ประมาณ 4,286 บาท  สำหรับประชาชนทั่วไปที่บริโภคสินค้าเป็นรายสุดท้าย แต่ละคนคงเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมากว่า 300 บาทต่อคนอยู่แล้ว  การแจกนี้จึงเป็นการนำเงินของประชาชนมาจ่ายเท่านั้น  ที่สำคัญยังไม่สามารถใช้เงินนี้ไปซื้อสินค้าและบริการจากประชาชนกันเองได้ด้วย  นับเป็นความอัปยศเป็นอย่างยิ่ง

            มาตรการเหล่านี้จะทำให้ประเทศไทยมีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น ประชาชนมีความกินดีอยู่ดีมากขึ้นนั่นเอง


 

Live • ข้อเสนอกระตุ้นเศรษฐกิจ
https://youtu.be/Qx0GcjJTjto
อ่าน 1,998 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved