ดร.โสภณค้านแหลกโครงการสนับสนุนเงินเพื่อลดภาระการผ่อนดาวน์ (Cash Back) ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน 2562 ว่าเป็นมาตรการผิดๆ หวังเพียงช่วยส่งเสริมการระบายสินค้าของบริษัทรายใหญ่
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ กล่าวถึงโครงการ “บ้านดีมีดาวน์” สนับสนุนเงินเพื่อลดภาระการผ่อนดาวน์ (Cash Back) ว่าเป็นมาตรการอีกอย่างหนึ่งที่จะไม่ประสบความสำเร็จอีกเช่นกัน สำหรับโครงการนี้มีรายละเอียดที่น่าสนใจหลายประการ
มาตรการลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัย “บ้านดีมีดาวน์” มีรายละเอียดดังนี้: {1}
1) วัตถุประสงค์ : เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนที่มีรายได้ปานกลางและอยู่ในระบบฐานภาษีของกรมสรรพากรมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยภาครัฐสนับสนุนเงินเพื่อลดภาระการผ่อนดาวน์ (Cash Back) รวมถึงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ และลดภาระของประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง
2) กลุ่มเป้าหมาย : ประชาชนทั่วไปที่มีความต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองโดยมุ่งเน้นผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อเดือน หรือ ไม่เกิน 1,200,000 บาทต่อปี และเป็นผู้ที่อยู่ในระบบฐานภาษีอากรของกรมสรรพากร จำนวน 100,000 ราย
3) ประเภทที่อยู่อาศัย : ที่อยู่อาศัย ได้แก่ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว ห้องชุด และอาคารพาณิชย์ สำหรับที่อยู่อาศัยที่สร้างเสร็จแล้ว ทั้งนี้ ไม่รวมที่อยู่อาศัยมือสองและทรัพย์สินรอการขาย (Non-Performing Assets: NPA) ของสถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ และไม่รวมทรัพย์รอการขายของกรมบังคับคดี
4) วิธีดำเนินโครงการ : ผู้เข้าร่วมมาตรการต้องเป็นผู้ที่อยู่ในระบบฐานภาษีของกรมสรรพากร และมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อเดือน หรือไม่เกิน 1,200,000 บาทต่อปี และผ่านเกณฑ์ตามแนวทางที่กระทรวงการคลังกำหนด ซึ่งจะได้รับสิทธิผ่านธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) โดย ธอส. จะโอนเงิน จำนวน 50,000 บาท เข้าบัญชีของผู้ได้รับสิทธิ เพื่อลดภาระการผ่อนดาวน์ (Cash Back)
5) งบประมาณ : ธอส. ขอรับจัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 5,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ธอส. จะทำความตกลงกับสำนักงบประมาณในรายละเอียดต่อไป
สำหรับข้อวิพากษ์ของ ดร.โสภณ ที่ชี้ว่ามาตรการนี้เป็นการคิดแบบผิดๆ ได้แก่:
1. การช่วยผู้ซื้อบ้านที่มีรายได้ถึงเดือนละ 100,000 บาทนั้น ไม่ได้เป็นการช่วยผู้มีรายได้น้อย ในขณะนี้ผู้ซื้อบ้านในปัจจุบันก็คือผู้มีรายได้ปานกลางและค่อนข้างสูงเป็นหลัก ผู้มีรายได้น้อยมีรายได้ลดลงหรือต่ำมาก ไม่สามารถซื้อบ้านได้ จะเห็นได้ว่าที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ผลิตน้อยลงมากเพราะผู้ซื้อขาดกำลังซื้อ
2. การไม่กำหนดวงเงินราคาบ้านเท่ากับเป็นการเอื้อครัวเรือนผู้มีรายได้สูงที่มีความสามารถในการซื้ออยู่แล้ว แต่กลับไปช่วยเหลือพวกเขา
3. มาตรการนี้เอื้อประโยชน์เฉพาะผู้ซื้อบ้านในโครงการจัดสรรเป็นหลัก ไม่เอื้อให้ประชาชนซื้อขายบ้านกันเอง บ้านมือสองที่ประชาชนซื้อขายกันเอง ไม่ได้ประโยชน์ด้วย ข้อนี้เป็นการคิดที่ผิดมหันต์ การที่ชาวบ้านซื้อบ้านกันเองได้ จะทำให้สามารถนำเงินไปใช้หนี้ ลงทุน ฯลฯ ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนโดยตรงกว่าการผ่านผู้ประกอบการ
4. การที่โฆษณาว่า “บ้านดีมีดาวน์” นั้นเป็นการบิดเบือนความจริง ปกติผู้ที่ขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน ก็คงวางเงินดาวน์จนครบแล้ว รอผ่อนธนาคารเท่านั้น การที่ยังโอนเงินไปให้อีกทั้งที่ลูกค้าผ่อนดาวน์หมดแล้ว ก็เพียงให้เงินแก่ลูกค้านำไปใช้สอยฟรีๆ โดยไม่ใช่กลุ่มประชาชนที่ยากจนที่จำเป็นต้องช่วยเหลือแต่อย่างใด
ภาวะขณะนี้ตลาดที่อยู่อาศัยไม่ได้วิกฤติจนน่าวิตกว่าจะพังครืนลงมา มาตรการนี้จึงไม่ได้ช่วยผู้ที่จำเป็นต้องให้การช่วยเหลือ แต่เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อการระบายสินค้าที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายใหญ่ๆ ในตลาดหลักทรัพย์มากกว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไป มาตรการเช่นนี้จึงเป็นนโยบายที่ผิดพลาด ไม่ควรดำเนินการ
อ้างอิง
{1} ตามมติคณะรัฐมนตรี 26 พฤศจิกายน 2562 ข้อที่ 15 มาตรการที่ 4 https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/24831