ต้องระวัง พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอาจทำลายระบบการคลังท้องถิ่น ทำให้ท้องถิ่นขาดอิสรภาพทางการเงิน ถูกส่วนกลางครอบงำ ประชาธิปไตยจะถูกทำลายหนักขึ้น
กิตติโสภโณ ภิกขุ (ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส: www.area.co.th) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีทรัพย์สินที่ได้พาคณะเจ้าหน้าที่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปดูงานภาษีทรัพย์สินในหลายประเทศทั่วโลกให้ความเห็นว่าระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของไทยอาจทำลายระบบการคลังท้องถิ่น
ท้องถิ่นจะมีรายได้น้อยลง “มาตรการบรรเทาภาระภาษี ยกเว้นจัดเก็บภาษีที่ดินบางประเภท จะทำให้ช่วง 3 ปีจากนี้ไป อปท.กว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ 7,852 แห่ง มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง น้อยกว่ารายได้จากการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน กับภาษีบำรุงท้องที่ปีละ 1.3 หมื่นล้านบาท ที่น่าจับตาคือ อปท.หลายแห่งเริ่มเจอปัญหาเจ้าของที่ดินรกร้างปรับสภาพที่ดินมาใช้ประโยชน์ เพื่อเลี่ยงจ่ายภาษีในอัตราที่สูง โดยอาศัยจังหวะช่วง 4 เดือนที่ภาครัฐประกาศขยายระยะเวลาให้ยื่นชำระภาษี” <1>
อย่างกรณีอะพาร์ตเมนต์ที่เสียภาษี 12.5% ของค่าเช่า ห้องเช่าที่ตามราคาประเมิน 1 ล้านบาทหรือราคาตลาด 2 ล้านบาท หากคิดค่าเช่าตลาดได้ 100,000 บาทต่อปี ต้องเสียภาษีตามระบบเดิม 12,500 บาท แต่อาจแสร้งตีเป็นค่าเช่าเฟอร์นิเจอร์และอื่นๆ ครึ่งหนึ่ง จึงอาจเสียค่าเช่าห้องละ 6,250 บาท แต่ถ้าเสีย 0.3% ของราคาประเมินก็อาจเป็นเงินเพียง 3,000 บาทหรือลดลงเกินครึ่งหนึ่ง
ยิ่งในกรณีที่ดินว่างเปล่าแต่ทำเป็นปลูกมะนาวหรือพืชอื่นเต็มพื้นที่ ก็ไม่ต้องเสียภาษีใน 3 ปีแรกและเสียถูกมากในปีที่ 4 ถึงเวลานั้นเจ้าของที่ดินคงขายหรือพัฒนาที่ดินแปลงนั้นแล้ว จึงเท่ากับไม่ต้องเสียภาษีอะไรเลย <2> และยิ่งแสร้งให้ส่วนราชการนำที่ดินไปใช้ประโยชน์สาธารณะชั่วคราว เช่น เป็นสวน (ไม่) สาธารณะแบบ “สวนชูวิทย์” ในอดีต ก็ ไม่ต้องเสียภาษีแม้สักบาท และทางราชการอาจมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้ในฐานะผู้ประโยชน์ต่อสังคมอีกด้วย กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับนี้จึงอาจทำให้สังคมคิดได้ว่าออกมาเพื่อปลดเปลื้องพันธนาการทางภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของอภิมหาเศรษฐีโดยเฉพาะ
ปกติท้องถิ่นมีรายได้เพียง 10% ที่จัดเก็บภายในท้องถิ่นประจำเพียง 10% ที่เหลืออีก 90% มาจากการจัดสรรภาษีจากราชการส่วนกลาง ทำให้ท้องถิ่นขาดอิสรภาพทางการเงินและถูกควบคุมโดยรัฐบาลกลางผ่านงบประมาณที่ไปสู่ท้องถิ่น การที่ท้องถิ่นขาดอิสรภาพทางการเงิน จึงทำให้ระบอบประชาธิปไตยไม่อาจอย่างรากลึกได้ทั่วประเทศ
รัฐบาลส่วนกลางจะไม่เน้นเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อปกป้องประโยชน์ของอภิมหาเศรษฐี ทั้งที่ตามหลักการแล้ว คนที่มีทรัพย์สินมากควรเสียภาษีมาก คนมีทรัพย์สินน้อยควรเสียภาษีน้อย และคนไม่มีทรัพย์สินก็ไม่ควรเสียภาษี เมื่อเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ค่อยได้ รัฐบาลส่วนกลางจึงจะพยายามหันมาเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งทำให้ผู้บริโภคทุกคนโดยเฉพาะชาวบ้านซึ่งถือเป็นมือสุดท้ายต้องรับภาระเสียภาษีเต็มๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นี่แหละถ้าองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นต้องแบมือขอเงินจากส่วนกลางมากเท่าไหร่ก็ยิ่งถูกรัฐบาลส่วนกลางครอบงำมากเท่านั้น โอกาสที่จะมีการพัฒนาท้องถิ่นตามความต้องการของท้องถิ่น ก็จะจำกัดไปด้วย ต้องทำตามนโยบาย “ซ้ายหัน ขวาหัน” จากส่วนกลางเป็นหลัก
ที่มา:
<1> เช็กบิลคอนโด 9 แสนยูนิต บี้ภาษีย้อนหลังแจ้งเท็จปล่อยเช่า. ประชาชาติธุรกิจ 19 ธันวาคม 2562 https://bit.ly/2ZpBQmW
<2> พรบ.ภาษีที่ดินฯ: กฎหมายอัปยศช่วยอภิมหาเศรษฐี https://bit.ly/372IfqN
<3> ปลูกมะนาวเลี่ยงภาษีที่ที่ดิน: จริงๆ เลี่ยงได้เด็ดกว่านี้ https://bit.ly/2PYoSZa