การที่นายกฯ แนะนำให้ชาวบ้านขุดบ่อเพื่อกักเก็บน้ำไว้เองในยามแล้งนั้น แสดงว่านายกฯ และทีมงานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจไม่มีความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์เท่าที่ควร ถือว่าเป็นอันตรายต่อการบริหารประเทศ
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) กล่าวว่าเมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า “. . .การขุดดินแลกน้ำ ขุดดินแลกบ่อก็ให้ทำกันไปด้วย ส่วนดินที่ขุดเจ้าของที่ก็ขายให้คนที่ขุดไป ตนถามแล้วตามกฎหมายทำได้ ก็ขุดกันบ้าง ถ้าเอาที่ดินทั้งหมดเก็บไว้โดยที่ไม่มีแหล่งน้ำ แล้วจะปลูกอะไรได้ หลายคนก็เป็นห่วงว่าที่น้อย น้ำมาไม่ถึง อย่างไรก็ส่งไม่ถึงแล้วจะทำอย่างไรรัฐบาลจะไปทำอะไรให้ทุกอย่างคงไม่ได้ขนาดนั้น พยายามทำให้มากที่สุด ท่านก็ต้องช่วยตัวเองบ้าง เช่น ขุดบ่อ อย่างน้อยก็มีน้ำอุปโภค บริโภค. . .” <1>
การที่นายกฯ กล่าวเช่นนี้ถือว่าอันตรายมาก เพราะขาดความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ ไม่เฉพาะนายกฯ แต่ทีมงานก็คงไม่มีความรู้เพียงพอ จึงปล่อยให้นายกฯ กล่าวออกมาเช่นนี้ สิ่งที่นายกฯ พึงทราบก็คือ
1. ในการขุดบ่อดินขนาด 10 ไร่ ที่มีความลาดเอียง 60 องศา (ปกติ 45 องศาถ้าเป็นดินแข็ง แต่ดินลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาภาคกลางค่อนข้างอ่อน คงต้องมีความลาดเอียดสูง) กำหนดให้ขุดลึกลงไป 25 เมตร (ถ้าเกินกว่านั้นคงจะพบน้ำใต้ดิน) และมีขอบบ่อประมาณ 6 เมตรตามกฎหมาย ก็จะได้ดินประมาณ 93,000 ลูกบาศก์เมตร ปกติดินขายในราคา 343.33 บาทต่อลูกบาศก์เมตร <2> ก็จะได้เงิน 31.93 ล้านบาท ทั้งนี้มีกำไรประมาณ 40% หรือ 12.77 ล้านบาท หรือตกไร่ละ 1.2 ล้านบาท (ทอนมาเป็นเงินปัจจุบันจากระยะเวลาในการขุด คงเหลือน้อยกว่านี้) ในแง่หนึ่งแม้ที่ดินภาคกลางอาจมีราคาประมาณไร่ละ 0.4 ล้านบาท การขุดดินนี้จะมีกำไร แต่การขุดในที่ดินขนาดเล็กเพียง 10 ไร่ย่อมไม่เพียงพอ การทำบ่อดินใช้ที่ดินขนาดนับร้อยๆ ไร่เป็นสำคัญ การให้ประชาชนไปรวมตัวทำกันเองจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก รัฐบาลควรมีส่วนสำคัญในการประสาน
2. ปกติเกษตรกรอาจมีที่ดินเฉลี่ยประมาณ 20 ไร่ การขุดบ่อกักเก็บน้ำให้เพียงพอก็คงเป็นไปไม่ได้ อย่างผลผลิตข้าว 1 ไร่ ต้องใช้น้ำประมาณ 1,000 ลูกบาศก์เมตร <3> หากปลูกข้าว 20 ไร่ ก็ต้องใช้น้ำ 20,000 ลูกบาศก์เมตร เท่ากับต้องขุดบ่อที่มีขนาดประมาณ 2 ไร่เศษ การที่จะให้เกษตรกรแต่ละรายขุดบ่อกันเองแบบนี้จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก จะเอาดินไปขายที่ไหน อย่างไร ต้นทุนค่าดำเนินการเป็นอย่างไร การรวมตัวกันเองก็เป็นสิ่งที่ยากเช่นกัน จะจัดแบ่งแปลงที่ดินกันอย่างไร ควรใช้ระบบการจัดรูปที่ดิน (Land Readjustment) <4> มาดำเนินการ
3. บ่อขนาดจิ๋วของทางราชการ มีค่าใช้จ่ายประมาณ 20,000 บาท ขนาด 20 x 20 x 3 เมตร <5> ถ้าขุดบ่อขนาด 2 ไร่ ก็คงเป็นเงิน 160,000 บาท ชาวบ้านทั่วไปจะไปหาต้นทุนมาได้อย่างไร ยิ่งถ้ารวมกันหลายครอบครัว จะพร้อมใจกันลงเงินขุดบ่อได้มากน้อยเพียงใด
4. ในการขุดบ่อยังมีต้นทุนบางประการ เช่น ต้นทุนในการทำทางเข้าออกในการขุดบ่อ ต้นทุนการชักน้ำเข้าบ่อ (ไม่ใช่รอแต่การเติมด้วยน้ำฝน) ซึ่งในหลายพื้นที่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการนำน้ำจากคลองชลประทานหรือคลองธรรมชาติ เป็นต้น
รัฐบาลต้องมีองค์กรบริหารจัดการน้ำและที่ดินที่มีประสิทธิภาพในการสร้างอ่างเก็บน้ำ-เขื่อนในพื้นที่ต่างๆ แม้ในที่ลุ่มเพื่อการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและฝนแล้งอย่างยั่งยืน
ภาพจาก  https://www.matichon.co.th
อ้างอิง
<1> นายกฯไอเดียบรรเจิด แก้ภัยแล้ง แนะ ขุดบ่อขายดิน ประชาชนได้น้ำไว้บริโภค มติชน 6 มกราคม 2563 https://www.matichon.co.th/politics/news_1868563
<2> ราคาวัสดุก่อสร้าง กรุงเทพมหานคร (ราคาเงินสด ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่รวมค่าขนส่ง) เดือน ธันวาคม ปี 2562 หมวดวัสดุถมหรือรองพื้น จากเว็บไซด์ http://www.indexpr.moc.go.th/PRICE_PRESENT/tablecsi_month_region.asp?DDMonth=12&DDYear=2562&DDProvince=10&B1=%B5%A1%C5%A7
<3> สศก. เปิดผลวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ ข้าว ทุเรียน ปาล์ม เจาะปริมาณน้ำที่ใช้ แนะเกษตรกรต้องวางแผน. สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ 22 ตุลาคม 2560 http://thainews.prd.go.th/th/news/print_news/WNEVN6010220010002 และดูที่ เกษตรพอเพียง http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=67434.0
<4> กรมโยธาธิการและผังเมือง. การจัดรูปที่ดิน http://eservices.dpt.go.th/eservice_2/orw/lr/detail-pdf/ENDU-LR.PDF
<5> ข่าวการส่งมอบบ่อดิน 14 มีนาคม 2562. https://www.opsmoac.go.th/news-preview-411091791304 ที่ผ่านมากรมพัฒนาที่ดินมีโครงการขุดบ่อจิ๋วนี้ให้ฟรี 45,000 บ่อ (https://bit.ly/2tI6Pig) แต่ก็คงไม่เพียงพอ และหากรวมกันสร้างเป็นเขื่อน น่าจะดีกว่า