ทำอย่างไร ดร.โสภณ จึงกลายร่างจากนักสังคมสงเคราะห์สู่นักอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะในวงการประเมินค่าทรัพย์สิน นักวิจัยและนักวางแผนพัฒนาเมืองและเป็นที่ปรึกษาขององค์การระหว่างประเทศและรัฐบาลหลายประเทศ
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะศิษย์เก่าคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในระหว่างปี 2519-2522 ได้รับเชิญให้ไปกล่าวในงานชุมนุมศิษย์เก่าสังคมสงเคราะห์ ในวันศุกร์ที่ 24 มกราคม 2563 ต่อไปนี้เป็นคำกล่าวของ ดร.โสภณ ที่ทำอย่างไรจึงกลายร่างจากนักสังคมสงเคราะห์สู่นักอสังหาริมทรัพย์
กราบเรียน ท่านประธาน ท่านอาจารย์และเพื่อนๆ ศิษย์เก่าสังคมสงเคราะห์ ธรรมศาสตร์ ทุกท่าน ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติให้พูดเกี่ยวกับคณะสังคมสงเคราะห์ในฐานะศิษย์เก่าคนหนึ่ง ผมภูมิใจในความเป็นศิษย์เก่าที่นี่เป็นอย่างยิ่ง หลังจากสอบเทียบมาจากชั้น ม.ศ.4 โรงเรียนเทพศิรินทร์ ผมก็เข้าเรียนธรรมศาสตร์ ผมสอบได้คะแนนอันดับต้นๆ พอถึงปีที่ 2 ที่ให้เลือกแยกเข้าคณะ ผมเลือกเรียนคณะสังคมสงเคราะห์ทั้งที่เคยได้ระดับ A+ วิชาเศรษฐศาสตร์ เพราะอยากทำงานรับใช้ประชาชน ผมทราบว่าคณะของเราจัดตั้งขึ้นในสมัยจอมพล.ป. ที่เริ่มเน้นการจัดสวัสดิการสังคมเพื่อประชาชน นี่ถ้าจอมพล ป. ยังอยู่ป่านนี้เรามีการสอบใบอนุญาตนักสังคมสงเคราะห์ระดับต่างๆ เช่นในต่างประเทศมานานแล้ว เริ่มต้น ผมได้ทำงานด้านสังคมสงเคราะห์เช่นกัน โดยเป็นเจ้าหน้าที่ของโครงการอาสาสมัครเพื่อสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ทำหน้าที่คล้ายบัณฑิตอาสา ธรรมศาสตร์ และไปทำงานเป็นลูกจ้างที่การเคหะแห่งชาติด้านชุมชนแออัด จนได้ไปเรียนปริญญาโทที่ AIT โดยทำวิทยานิพนธ์ด้านชุมชนแออัด เคยสำรวจชุมชนแออัดได้มากที่สุด มากว่าส่วนราชการหลายแห่งที่ใช้คนนับร้อยทำเสียอีก แต่ในวงการ NGOs ก็มีเจ้าพ่อ เจ้าแม่ ธรรมศาสตร์สอนให้หยิ่งในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ยอมค้อมหัวให้ความไม่ถูกต้อง ผมก็เลยหมดอนาคต แต่บังเอิญอสังหาริมทรัพย์ไทยกำลังบูมในยุคน้าชาติ ผมก็เลยได้ทำงานทางด้านนี้และเรียนต่อทางด้านการวางแผนพัฒนาเมืองทั้งที่ AIT และมหาวิทยาลัยคาธอลิกลูแวง เบลเยียม ผมทำงานเป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน นักวิจัย อาจารย์ทั้งที่คณะพาณิชย์ คณะสถาปัตย์ธรรมศาสตร์และอื่นๆ เป็นที่ปรึกษากระทรวงการคลังหลายประเทศ รวมทั้งงานที่ปรึกษาของ UNHabitat ESCAP ILO และอื่นๆ แต่ไม่รับทำงานที่เกี่ยวข้องกับการไล่รื้อสลัม ผมอาศัยความเป็นนักสังคมสงเคราะห์ที่ชอบทำงานภาคสนาม ผมจึงเลิกทำงานเป็นลูกจ้าง มาตั้งบริษัทของตัวเองในปี 2534 จากคน 5 คนสู่ 120 คนในปัจจุบัน ผมก็ยังจัดสวัสดิการแรงงานที่ดีกว่ามาตรฐานแรงงานทั่วไป เช่น เงินสะสม เงินกู้ยืม ผมให้คำปรึกษา ผมตบเท้าอวยพรวันเกิดเพื่อนร่วมงานทุกคน ในทุกวันที่ผมเจอหน้าเพื่อนร่วมงานใหม่คราวหลาน ผมจะยกมือไหว้สวัสดีเขาก่อนเสมอ ถือเป็นการทักทายโดยไม่ถือสา เป็นการให้เกียรติผู้น้อย ผมดีใจที่ได้สนับสนุนการพัฒนาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ไม่ว่าจะเป็นการออกเงิน ออกแรง หรือใช้ความรู้ เช่น งานเดินวิ่งการกุศลเพื่อหาเงินให้กับสมาคมนักสังคมสงเคราะห์ การพิมพ์หนังสือด้านสังคมสงเคราะห์แจกจ่าย ผมไม่ได้มาหาผลประโยชน์ ผมหวังเพียงว่าถ้าเราผลิตนักวิชาชีพด้านนี้ได้มากเท่าไหร่ ก็จะช่วยสังคมได้มากขึ้น เสียดายที่งบจัดสวัสดิการสังคม เช่น ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เงินเพียงปีละ 1 หมื่นล้านหรือ 0.4% ของงบประมาณแผ่นดินไทยเท่านั้น ผมและพวกเราอีกหลายท่านอาจไม่ได้ทำงานด้านสังคมสงเคราะห์โดยตรง อาจเกษียณไปแล้ว แต่พวกเราก็ควรช่วยกันสนับสนุนผู้ประกอบวิชาชีพนี้เพื่อผลประโยชน์ของชาติและประชาชนนะครับ ถ้าสมาคมต้องการใช้เงินพัฒนาวิชาชีพ เป็นหมื่นเป็นแสน ก็บอกผมบ้างนะครับ ขอบพระคุณครับ |