ดร.โสภณได้บวชเป็นเวลา 21 วัน ได้รับประสบการณ์อะไรบ้าง มาลองอ่านดู เผื่อใครที่ไม่เคยบวชจะได้ทราบ เผื่อใครที่บวชแล้วจะได้เห็นว่าแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ได้บวชโดยได้รับฉายาว่า กิตติโสภโณ ภิกขุ ณ วัดทองบน พระรามที่ 3 ในระหว่างวันที่ 16 ธันวาคม 2562 - 5 มกราคม 2563 รวมเวลา 21 วัน โดยบวชข้ามปี 2 พุทธศักราชเลยทีเดียว ประสบการณ์เล็กๆ น้อยๆ ที่ ดร.โสภณ ขอเล่าให้ฟังก็คือ
1. ตามแบบอย่างกุลบุตร แต่อาจช้าไปหน่อย เพราะเพิ่งบวชเมื่ออายุ 61 ปี ทั้งนี้แม้น้องชายของ ดร.โสภณจะบวชแล้ว แต่คุณแม่ก็พยายามรบเร้าให้บวชเพื่ออยากเห็นชายผ้าเหลือง อยากเกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ แรกๆ ดร.โสภณ ก็ไม่คิดบวช เพราะแม้นับถือศาสนาพุทธ แต่แค่เป็นอุบาสกที่ไม่เลวก็คงพอ และการบวชควรเป็นการบวชตลอดชีวิต ซึ่ง ดร.โสภณ ก็คงไม่พร้อมที่จะทำอย่างนั้น ดร.โสภณ จึงแนะนำคุณแม่ว่าถ้าอยากขึ้นสวรรค์ ก็ให้คุณแม่ไปบวชชีแทน แต่พอคุณแม่รบเร้าหนักขึ้น ดร.โสภณ ก็จึงบวชเพื่อทดแทนพระคุณ ไม่ได้ตั้งใจจะศึกษาธรรมะจริงจังเป็นหลัก
2. ในการบวช แต่แรกเพื่อนๆ ที่จบโรงเรียนเทพศิรินทร์ด้วยกันมา ได้พากันไปบวชที่วัดเทพศิรินทราวาส และเป็นโอกาสที่ได้ไปปฏิบัติธรรมที่พุทธคยา แต่ ดร.โสภณ เคยไปพุทธคยามา 2 รอบแล้ว และเห็นว่าในระหว่างปฏิบัติธรรมที่นั่น ก็คงได้เดินทางไปยังสังเวนียสถานต่างๆ เช่นที่เคยไป โอกาสจะปฏิบัติธรรมกับธรรมชาติก็คงมีจำกัด และที่สำคัญโอกาสที่คุณแม่ที่รบเร้าให้บวช จะได้ตักบาตรแทบทุกวันก็คงไม่มี ก็เลยตัดสินใจบวช ณ วัดทองบน ซึ่งอยู่ใกล้ๆ บ้านนั่นเอง และครอบครัวก็รู้จักพระมหาสมชาติ สุวิชาโณ, ดร. ซึ่งเดินบิณฑบาตทุกวัน และเป็นพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจนเป็นที่เคารพในย่านนี้
3. ก่อนบวช ดร.โสภณก็วิตกเช่นกันว่าจะสามารถท่องคำขอบวชที่เป็นภาษาบาลีได้หรือ เนื่องจากค่อนข้างยาว อย่างเช่นเพื่อนๆ ที่ไปบวชที่วัดเทพศิรินทราวาส หากใครไม่สามารถท่องได้ครบถ้วน ก็ไม่สามารถบวชได้เลย ดร.โสภณ จึงพยายามท่องคำขอบวชมาเป็นระยะๆ และในที่สุดก็ท่องได้สำเร็จ แต่ในวันบวชจริง ในที่ประชุมสงฆ์ ที่มีพระจำนวนมาก ในบางช่วง ดร.โสภณ ก็จำไม่ได้ โชคดีที่พระอุปัชฌาย์ คือ เจ้าอาวาสวัดช่องนนทรี พระกรรมวาจาจารย์ (พระมหาสมชาติ สุวิชาโณ, ดร.) และพระอนุสาวนาจารย์ (เจ้าอาวาสวัดทองบน) ให้ความเมตตา จึงผ่านไปด้วยดี
4. ก่อนหน้าวันบวชอากาศในกรุงเทพมหานครหนาวเย็นเป็นพิเศษ โชคดีที่ในเช้ามืดวันที่ 16 ธันวาคม อากาศไม่เย็นแล้ว จึงผ่านพ้นพิธีการโกนผมและอาบน้ำไปได้โดยไม่หนาวจนเกินไป และในการเข้าพิธีบวช คุณแม่ของ ดร.โสภณ ขอให้เป็นการบวชแบบส่วนตัว จึงมีเพียงญาติสนิทและเพื่อนร่วมงานไม่กี่คนเข้าร่วม ไม่มีขบวนกลองยาว ไม่มีดนตรี มีเพียงการเดินรอบโบสถ์ 3 รอบ แต่กลับแห่ไปถึง 5 รอบ ในระหว่างเข้าไปในพระอุโบสถ มีประเพณีการยกนาคไปแตะประตูโบสถ์ด้วย แต่ ดร.โสภณ น้ำหนักมากถึง 85 กิโลกรัม จึงไม่สามารถยกขึ้นไปแตะได้
5. ในระหว่างบวช ก็เป็นโอกาสอันดีเพราะพระอาจารย์ คือพระมหาสมชาติได้พาไปปฏิบัติธรรมที่มหาจุฬาอาศรม ปากช่อง นครราชสีมา ดร.โสภณ จึงได้ฟังธรรมและปฏิบัติวิปัสสนา แต่ก็ได้แค่ในระดับหนึ่ง อย่างการเดินวิปัสสนาที่มีตั้งแต่ 3, 4, 5, และ 6 จังหวะ ดร.โสภณ ก็ทำได้แค่ 4 จังหวะ เพราะน้ำหนักตัวเกิน จึงไม่สามารถยกเท้าได้สูงและได้นานเท่าที่ควร แต่ก็ได้พยายามปฏิบัติเท่าที่จะเป็นไปได้ตามที่อาจารย์ให้คำแนะนำสั่งสอน ทั้งนี้ พระมหาสมชาติ ท่านเป็นศิษย์เก่ามหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย และเป็นผู้บริจาคค่าใช้จ่ายในกิจกรรมปฏิบัติธรรมของพระนิสิต ณ มหาจุฬาอาศรม ดร.โสภณ จึงได้ติดตามท่านไปด้วย
6. การบิณฑบาต ดร.โสภณ ได้เดินตามพระมหาสมชาติไปบิณฑบาต ณ บริเวณตลาดรุ่งเจริญ โดยเดิน (ไม่ได้ยืนให้ชาวบ้านตักบาตร) เป็นระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตรเศษด้วยเท้าเปล่า ปรากฏว่า ดร.โสภณ ไม่เคยชิน จึงเดินช้ากว่าพระรูปอื่นๆ จนตลอดถึงวันสุดท้ายที่บิณฑบาต การเดินบิณฑบาตและการฉันมื้อเดียวหรือบางวันก็สองมื้อจึงเป็นอานิสงส์ให้น้ำหนักตัวลดลงไปบ้าง แต่แรกๆ ไม่ลดเพราะฉัน “น้ำปานะ” ที่เป็นนมกล่องบ้าง น้ำผลไม้กล่องบ้าง ซึ่งล้วนอุดมด้วยนมเนยและน้ำตาล เพิ่งมาฉันแต่น้ำเปล่าในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของการบวช
7. เรื่องตลกในระหว่างการเดินบิณฑบาต ก็คือปกติพระให้มองลงพื้นไม่เกิน 2 เมตรบ้างหรือ 3 ก้าวบ้าง เพื่อจะได้ดูสำรวม แต่ก็เป็นเหตุให้ ดร.โสภณ เดินชนป้ายจราจร โชคดีที่ขอบไม่แหลมคม ในช่วงแรกของการเดินบิณฑบาต ดร.โสภณจะตกใจเมื่อมีผู้มาขอตักบาตรเพราะยังท่องบทสวดให้พรไม่คล่อง แต่ภายหลังก็สามารถเดินไปรูปเดียวในบางช่วงได้ แต่ยังไม่สามารถท่องบทสวดกรวดน้ำได้จนถึงวันลาสิกขาบท การห่มจีวรก็ยังต้องมีหลวงพี่ท่านอื่นคอยช่วยเหลือมาโดยตลอด ดร.โสภณดีใจเป็นพิเศษสำหรับโอเลี้ยงที่ได้รับการถวายเป็นรายสุดท้ายของแต่ละวัน เพราะมีรสอร่อยมาก
8. เงินที่ได้จากการบิณฑบาตวันละประมาณ 700-1,000 บาท ก็นำไปถวายหลวงพ่อเพื่อให้ท่านได้นำไปใช้เพื่อการเผยแพร่ศาสนาตามสมควร อย่างไรก็ตามสำหรับพระเณรทั่วไป เงินจากการบิณฑบาตมีความจำเป็นในการยังชีพ เช่น การไปศึกษาต่อยังมหาวิทยาลัยสงฆ์ ก็ต้องมีค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าลงทะเบียน ฯลฯ แม้แต่ภายในวัดก็ยังมีการเก็บค่าน้ำไฟเช่นกัน การจะให้พระไม่รับปัจจัยเลยจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากในเชิงปฏิบัติ
9. สำหรับความเป็นอยู่นั้น ดร.โสภณอยู่กุฏิธรรมดา ไม่มีแอร์ นอนบนเสื่อผืนเดียว ไม่มีฟูก มีเพียงผ้าห่ม 1 ผืน และผ้าเช็ดตัว 1 ผืน จีวรทั้งหมดก็ใช้ชุดเดียว อันได้แก่ จีวร (ผ้าที่ใช้สำหรับห่มคลุม) สบง (ผ้านุ่งในส่วนล่าง) อังสะ (เสื้อตัวในคล้ายเสื้อกล้าม) และสังฆาฏิ (เป็นผ้าผืนใหญ่เหมือนจีวรแต่ใช้พาดบ่า) ผ้ารัดอก (ผ้าที่ใช้รัดอก เวลาพระเอาสังฆาฏิพาดบ่า เพื่อให้ดูกระชับและเรียบร้อย) รัดประคต (คือเชือกไว้รัดสบง มีหน้าที่เสมือนเข็มขัดของพระ) ดร.โสภณ ไม่ได้ใช้ไตรอาศัยเลย (จีวร สบง อังสะ อีกชุดหนึ่งที่เผื่อไว้ซัก) ดร.โสภณซักจีวรด้วยมือ และนำมาผึ่งให้แห้งในกุฏิ (ห้อง) เพื่อไว้ใส่ในวันรุ่งขึ้น
10. ในระหว่างที่บวช ดร.โสภณ ได้ศึกษาพระไตรปิฎกและได้เขียนบทความที่เกี่ยวข้องบ้าง ได้แก่ “มงคลแห่งชีวิตที่ไม่พึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์/ไสยเวทย์” ซึ่งเกี่ยวข้องกับมลคลสูตร (https://bit.ly/2tGZMGG) พระพุทธเจ้าเป็นนักประชาธิปไตย (https://bit.ly/392mMA6) 15 วันแห่งการผนวชของในหลวง ร.9 (https://bit.ly/2MrYvtE ) ต้องรู้ กรณียเมตตปริตร: คาถาปราบผี? (https://bit.ly/2QkfHCb) ทำไมคนเราชอบทำบุญทำทาน (https://bit.ly/377293Q) การเทศน์โดยพระบวชใหม่ ‘กิตติโสภโณ ภิกขุ’ (https://bit.ly/2QnWIIx) ระวังพระที่สร้างภาพให้ดูดีเกินพุทธแบบเทวทัต (https://bit.ly/2TgrTHq)
11. หลังจากสึกในรุ่งเช้าวันที่ 5 มกราคม 2562 ดร.โสภณ ได้เดินตามขบวนบิณฑบาตเพื่อแจกหนังสือและของที่ระลึกแก่ผู้ที่เคยใส่บาตร โดยใช้เวลาแจกราว 2 วันเพื่อขอบพระคุณท่านที่เคยใส่บาตร และได้เรียนกับผู้ใส่ปัจจัยให้ ดร.โสภณ ทราบว่าปัจจัยเหล่านั้นได้ถวายต่อให้หลวงพ่อไปทำประโยชน์ต่อการเผยแพร่พุทธศาสนาต่อแล้ว เพื่อให้ผู้ทำบุญได้สุขใจไปอีกระดับหนึ่ง สำหรับรายที่ถวายโอเลี้ยง และอีก 2-3 รายที่ถวายให้เป็นพิเศษ ดร.โสภณได้ไปขอบคุณเป็นพิเศษหลังสึกเช่นกัน
นี่เป็นประสบการณ์เล็กๆ น้อยๆ ของการบวชของ ดร.โสภณ ที่แม้ไม่ได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมอย่างลึกซึ้ง แต่ก็ได้ปฏิบัติบ้าง และไม่ได้เดินทางไปโน่นนี่จนไม่มีเวลาศึกษาหาความรู้ ดร.โสภณ ใคร่ขอขอบพระคุณพระอาจารย์ คือ พระมหาสมชาติ สุวิชาโณ, ดร. ที่ให้ความเมตตาเป็นพิเศษ