ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่กำลังจะเก็บในปี 2563 นี้ “โคตร” เพี้ยนสุดๆ กันอย่างไร เอื้อประโยชน์คนรวยๆ กันอย่างไรบ้าง ตกลงไม่พยายามเสียภาษีกันเลยใช่ไหม แล้วจะเอาเงินที่ไหนไปพัฒนาประเทศ
ดร.โสภณ พรโชคชัย ในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเนื่องจากพาคณะข้าราชการไทยตั้งแต่ระดับรัฐมนตรี อธิบดี ผู้อำนวยการ ฯลฯ ไปดูงานนานาประเทศมาทั่วโลก กลับปรากฏว่าระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไทยเราเพี้ยนๆ เหลือกำลังจริงๆ มันเพี้ยนยังไงบ้าง ลองมาดูกันแค่บางตัวอย่างกัน
1. กรณีบ้านหลังแรก
บ้านหลังแรกราคาไม่เกิน 50 ล้านบาทไม่ต้องเสีย กรณีนี้ก็คงยกเว้นกันแทบทั่วประเทศ เพราะบ้านที่มีราคาตลาด 100 ล้านบาท หรือมีราคาประเมินราชการ 50 ล้านบาทโดยประมาณ ไม่ต้องเสียอะไรเลย ยกเว้นคนที่มีบ้านหลังที่ 2 ต้องเสียล้านละ 200 บาท ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าต้นทุนในการจัดเก็บ จะพอๆ กับค่าจัดเก็บหรือไม่ หรือคุ้มค่ากับการจัดเก็บหรือไม่ ในหลักแห่งสากลเขาบอกว่า ใครมีทรัพย์สินก็ต้องเสียภาษีกันทั้งนั้น แม้แต่มีจักรยานยนต์เก่าๆ คันละ 30,000 - 50,000 บาท ก็ต้องภาษี เงินประกันต่างๆ ประมาณ 500 บาทหรือร้อยละ 1 อยู่แล้ว แต่พอมีบ้านกลับไม่ต้องเสีย
2. กรณีอะพาร์ตเมนต์
ปรากฏว่าทางราชการมาตีความในภายหลังว่าเป็นที่อยู่อาศัยซึ่งแม้จะให้เช่า ก็เสียภาษีร้อยละ 2 เหมือนกัน อย่างเช่น ถ้าเรามีอะพาร์ตเมนต์ ให้เช่าห้องละ 10,000 บาท จำนวน 50 ห้อง เป็นเงิน 500,000 บาทต่อเดือนหรือปีละ 6 ล้านบาท ถ้าเป็นในกรณีภาษีโรงเรือนเดิม ต้องเสียประมาณ 12.5% หรือ 750,000 บาท แต่ส่วนมากเจ้าของจะระบุว่าครึ่งหนึ่งเป็นการเช่าอุปกรณ์ โต๊ะ ตู้ เตียง จึงอาจเสียภาษีเพียงปีละ 375,000 บาท
แต่ในกรณีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ ปรากฏว่าอะพาร์ตเมนต์ที่ให้เช่าห้องละ 10,000 บาทต่อเดือนนั้น มีราคาตลาดประมาณ 2 ล้านบาท และมีราคาประเมินราชการประมาณ 1 ล้านบาท หากสมมติว่าหลักจากหักค่าเสื่อมแล้วเป็นเงิน 800,000 บาทต่อหน่วย ก็เป็นเงิน 40 ล้านบาท หากเสียภาษีล้านละ 200 บาท ก็จะเสียภาษีตามอัตราใหม่เพียง 8,000 บาทเท่านั้น เท่ากับได้ลดภาษีไปมหาศาลเลยทีเดียว นี่เท่ากับเป็นการช่วยเจ้าของอะพาร์ตเมนต์ทั้งที่ไม่เคยร้องเรียนเลยว่าภาษีโรงเรือนที่เคยเก็บเดิมไม่เป็นธรรม
3. กรณีสนามกอล์ฟ
ในการเก็บภาษีสนามกอล์ฟตามภาษีโรงเรือนเดิม พบว่า เก็บ 12.5% ของรายได้ หากสนามกอล์ฟแห่งหนึ่งมีรายได้ตามที่แจ้งเดือนละ 5 ล้านบาท หรือปีละ 60 ล้านบาท ก็เสียภาษี 7.5 ล้านบาท หาก “วางแผนภาษี” ให้กลายเป็นว่าเป็นค่าเช่าอุปกรณ์ ฯลฯ สักครึ่งหนึ่ง ก็ยังต้องเสียภาษีโรงเรือนแบบเดิมเป็นเงินถึง 3.75 ล้านบาท ซึ่งก็ถือว่าไม่น้อยสำหรับกิจการสนามกอล์ฟ
อย่างไรก็ตามตามเกณฑ์การคิดใหม่ตามภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สนามกอล์ฟถือเป็นสนามกีฬา จึงได้รับการลดหย่อนภาษี 90% (เพื่อส่งเสริมสุขภาพอนามัยของ “เสี่ย”ๆ) ดังนั้นถ้าสนามกอล์ฟมีขนาด 500 ไร่ ที่ดินตามราคาประเมินราชการตกเป็นเงินไร่ละ 4 ล้านบาท ก็เป็นเงิน 2,000 ล้านบาท ถ้าต้องเสียภาษีที่ 0.6% ก็เป็นเงิน 12 ล้านบาท แต่ได้รับส่วนลด 90% เหลือชำระเพียง 1.2 ล้านบาท สนามกอล์ฟทั้งหลายจึงได้เฮลั่น
การอ้างเรื่องการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ก็ควรมีการแยกแยะ โดยเฉพาะคนรวยๆ ที่เล่นกอล์ฟ และจ่ายค่ากรีนฟีแพงๆ ก็ควรจะให้เสียภาษีสูงๆ จะโมเมคิดแบบเดียวกับลานกีฬา เต้นแอโรบิกตามห้างเทสโกโลตัสคงไม่ได้ นอกเสียจากว่าเราตั้งใจจะหลับตาข้างเดียวช่วยเหลือนายทุนสนามกอล์ฟให้เสียภาษีน้อยลงเป็นหลัก
4. ที่ดินเกษตร
จากที่มีข่าวที่ดินแถวรัชดาภิเษกขนาด 20 ไร่ เพิ่งลงต้นมะนาวได้ไม่กี่วัน ก็ได้รับการประเมินว่าเป็นที่ดินเกษตรกรรม แทนที่จะเสียภาษีแบบที่ดินว่างเปล่าร้อยละ 0.6% ก็กลายเป็นที่เกษตรกรรม เสียภาษีเพียงร้อยละ 0.1% และโดยที่เป็นที่ดินเกษตรกรรม จึงได้รับการยกเว้นภาษี 3 ปีแรก ตกลง ที่ดินตามราคาตลาด 6,000 ล้านบาทแปลงนี้ ไม่ต้องเสียภาษีแม้แต่บาทเดียว นี่คือวิธีการเลี่ยงภาษีขั้นเทพจริงๆ ทางราชการก็ยังออกมาปกป้องเจ้าของที่ดินว่า ทำดีแล้วที่ไม่ปล่อยรกร้างว่างเปล่า เอามาทำประโยชน์ปลูกมะนาวก็ยังดี แต่ในความเป็นจริง กฎหมายนี้ออกมาเพื่อช่วยให้คนรวยๆ รอดพ้นจากภาษีต่างหากเล่า
5. ที่รกร้างว่างเปล่า
มีอีกวิธีหนึ่งในการทำให้ที่ดินรกร้างว่างเปล่าไม่ต้องเสียภาษีสักบาท ก็คือการให้ส่วนราชการใช้ประโยชน์ (ชั่วคราว) ก่อนจะขายหรือนำไปพัฒนา เช่น นำไปทำ “สวนชูวิทย์” ในอดีตที่ให้ประชาชนได้ใช้ในตอนกลางวัน หรือให้เขตนำไปเป็นที่จอดรถ ทำสนามกีฬาประจำชุมชน ฯลฯ การบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมแบบนี้ นอกจากได้เลี่ยงกฎหมายขั้นเทพแบบ “เมพขิง” แล้ว ยังอาจได้โล่ในฐานะ “คนดี” ของสังคมที่บำเพ็ญประโยชน์เป็นตัวอย่างอีกด้วย
นี่แหละครับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ออกมาใหม่นี่ “โคตร” เพี้ยนจริงๆ สนามกอล์ฟถือเป็นกิจการกีฬา ได้บรรเทาภาษี 90% อะพาร์ตเมนต์ก็ได้ส่วนลดเหลือล้านละ 200 บาท แสร้งปลูกพืชผัก แค่มีต้นกล้า ก็ไม่ต้องเสียภาษีโดยเฉพาะใน 3 ปีแรก ต่อไปภาษีคงเก็บได้น้อย นี่คือหนึ่งในกระบวนการขอขึ้น VAT โดยอ้างว่าเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ได้ตามเป้า และเมื่อต้องเสีย VAT ก็คือผู้บริโภคโดยประชาชนทุกระดับชั้นรับไปเต็มๆ ส่วนคนรวยๆ ก็ได้ “วางแผนภาษี” หลบไปทางอื่นๆ ต่อไป
น่าจะเอาคนทำกฎหมายภาษีฉบับสุดเพี้ยนนี้ไปฆ่าจริงๆ