ประเทศไทยทุจริตมากขึ้น รัฐบาลต้องรับผิดชอบ
  AREA แถลง ฉบับที่ 89/2563: วันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

 

            มีบางท่านอนุโมทนาสาธุที่ ค.ส.ช.เข้ามา “ปราบโกง” เมื่อปี 2557 แม้จะเข้ามาอย่างไม่ถูกต้องตามครรลองก็ตาม  แต่เวลาผ่านไป 6 ปี ปรากฏว่าการโกงในประเทศไทยกลับหนักข้อขึ้นกว่าเก่า  บางประเทศก็มีความโปร่งใสมากขึ้นจนแซงไทยไปแล้ว  รัฐบาลจึงต้องรับผิดชอบต่อการถอยหลังเข้าคลองของการปราบทุจริต
            เมื่อเร็วๆ นี้ Transparency International ได้เผยแพร่ผลการสำรวจความโปร่งใสของแต่ละประเทศ โดยใช้ Corruption Perception Index (CPI) <1> ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ได้นำข้อมูลมาพิจารณาพบว่า
            1. สำหรับประเทศไทย ในระหว่างปี 2557-2562 คะแนน CPI ในแต่ละปีเป็น  38, 38, 35, 37, 36 และ 36 ตามลำดับ หรืออาจกล่าวได้ว่าลดลงจาก 38 เต็ม 100 เป็น 36 แสดงว่าแย่ลงหรือไม่ได้ดีขึ้นเลย  แสดงว่า ค.ส.ช.หรือรัฐบาลที่ตั้งใจจะเข้ามา “ปราบโกง” (ถ้ามี) ไมได้ทำอะไรให้ดีขึ้นในการแก้ไขปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างมีนัยสำคัญเลย

            2. เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน ในปี 2557 ไทยอยู่อันดับที่ 4 ร่วม ในปีนั้นไม่มีข้อมูลของบรูไน แต่เชื่อว่าน่าจะดีกว่าไทยตามข้อมูลที่ปรากฏในระหว่างปี 2559-2562 ที่บรูไนได้คะแนน 58-63 แต่ในปี 2562 ไทยกลับหล่นลงมาที่อันดับ 6 โดยมีสิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย อินโดนีเซียและเวียดนามนำไทยอยู่ ไทยชนะแค่ฟิลิปปินส์ เมียนมา ลาวและกัมพูชา
            3. ในบรรดาประเทศต่างๆ 3 อันดับแรกคือสิงคโปร์ บรูไนและมาเลเซีย ไทยคงสู้ไม่ได้ เพราะคะแนนห่างกันหลายขุม แต่ที่น่าตกใจก็คือ อินโดนีเซียและเวียดนาม คู่แข่งทางเศรษฐกิจของไทย ที่เคยได้คะแนน CPI ห่างชั้นจากไทย กลับนำหน้าไทยไปเสียแล้ว  และนี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำไมการลงทุนข้ามชาติ (Foreign Direction Investment: FDI) จึงไปลงที่อินโดนีเซียและเวียดนามมากกว่ามาไทย <2>  ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไทยเป็นฐานการลงทุนข้าม FDI ที่ใหญ่กว่าประเทศทั้งสองอย่างเด่นชัด  ยิ่งกว่านั้นเมียนมาและลาวก็มีคะแนน CPI ดีขึ้นชัดเจน และกำลังก้าวใกล้ไทยมากขึ้น
            ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่า การทุจริตและประพฤติมิชอบนั้น ส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ  ปรากฏการณ์ที่แสดงชัดว่าไทยไม่อาจแก้ไขปัญหาทุจริตได้ชัดเจนก็คือ
            1. ค่าเงินใต้โต๊ะ หรือโอกาสการทุจริตของข้าราชการมีมากขึ้นซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่กัดกร่อนเศรษฐกิจของชาติ <3>
            2. ยาบ้ายังกลับเพิ่มขึ้นกว่ายุคที่ว่า “โกง” เสียอีก
            3. หวยใต้ดินก็มีมากมาย สลากกินแบ่งรัฐบาลก็มีการโก่งราคา เพราะไม่มีหวยบนดิน แสดงว่าทุจริตมากขึ้น เป็นต้น

            ดังนั้น ค.ส.ช.และรัฐบาลที่เกี่ยวข้องจึงต้องรับผิดชอบต่อการที่ทุจริตกลับมีมากขึ้น  ว่ากันว่า “เผด็จการ ปุ๋ยของคอร์รัปชั่น” <4> จะจริงหรือไม่

อ้างอิง
<1> Transparency International. Corruption Perception Index 2019. https://www.transparency.org/cpi2019
<2> ASEAN FDI inflows at record $155B in 2018; PHL fifth. Business World. 9 พฤศจิกายน 2562. https://bit.ly/36cXNqU
<3> แสงไทย เค้าภูไทย. สยามรัฐ. 4 ธันวาคม 2562. นายพลรวยล้นฟ้า. https://siamrath.co.th/n/118880
<4> นิธิ เอียวศรีวงศ์. มติชน. 18 ธันวาคม 2562. เผด็จการ ปุ๋ยของคอร์รัปชั่น. https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_769712

อ่าน 3,508 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved