อ่าน 1,160 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 71/2555: 26 มิถุนายน 2555
ฮ่องกงกับการป้องกันการเก็งกำไรที่ได้ผลชะงัด

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
sopon@area.co.th

          ขณะที่ประเทศไทยกำลังสนุกสนานกับการเก็งกำไร โดยสถาบันการเงินอำนวยสินเชื่อกันอย่างขนานใหญ่และ ณ อัตราเงินกู้ที่ประมาณ 100% ซึ่งจะถูกเป่าให้กลายเป็นฟองสบู่ที่รอวันแตกในอนาคต ฮ่องกงกลับพยายามหยุดยั้งการเก็งกำไรกันอย่างสุดเหวี่ยง ประสบการณ์ของฮ่องกงสมควรศึกษายิ่ง
          ฮ่องกงมีขนาดพื้นที่ 1,104 ตารางกิโลเมตร หรือ 70% ของขนาดของกรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่มีประชากร 7,153,519 คน ในขณะที่ประชากรกรุงเทพมหานครมี 5,703,632 คน แสดงว่าประชากรฮ่องกงมีความหนาแน่นสูงกว่า คือประมาณ 6,480 คนต่อตารางกิโลเมตร ในขณะที่ความหนาแน่นของประชากรกรุงเทพมหานครมีเพียง 3,638 คนต่อตารางกิโลเมตร หรือต่างกันเกือบเท่าตัว
          จากข้อมูลของสำนักประเมินค่าทรัพย์สินเพื่อการเก็บภาษีของฮ่องกงพบว่า ตลาดที่อยู่อาศัยฮ่องกงยังมีสุขภาพดี ราคาไม่ได้ตกต่ำลงหรือเกิดอาการฟองสบู่แตก แต่ปริมาณการซื้อขายลดลงอย่างชัดเจน การจดทะเบียนซื้อขายที่อยู่อาศัยในปี พ.ศ. 2554 ลดลงถึง 38% คือต่ำกว่า 85,000 หน่วย ซึ่งพอ ๆ กับการย้อนหลังไปในปี พ.ศ. 2550 การซื้อขายบ้านมือหนึ่งลดลง 20% ส่วนการซื้อขายบ้านมือสองลดลง 40%
          ที่อยู่อาศัยทั้งหมดในฮ่องกงมี 1,110,600 หน่วย เป็นที่อยู่อาศัยที่สร้างใหม่ตั้งแต่ปี 2547-2554 เพียง 7.5% หรือเติบโตปีละเพียง 1% โดยเฉพาะในปีล่าสุด เติบโตน้อยเป็นพิเศษ เพราะมาตรการการควบคุมการเก็งกำไรของรัฐบาล และโดยที่เศรษฐกิจดี ราคาบ้านในฮ่องกงเพิ่มสูงถึง 12% และในไตรมาสสุดท้ายที่รัฐบาลควบคุม ก็ยังพบว่าราคาเพิ่มขึ้น 8% ซึ่งสูงกว่าไทยมาก เพราะในกรณีห้องชุดของไทย ราคาเพิ่มขึ้นเพียง 5% ทั้งนี้จากการสำรวจของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
          สำหรับกฎเหล็กในการปรามการเก็งกำไรซึ่งประกาศวันที่ 19 พฤศจิกายน 2553  รายละเอียดสำคัญของกฎเหล็กที่ควรศึกษา ก็คือ ถ้าใครซื้อบ้านและโอนภายในเวลา 6 เดือน ต้องเสียค่าธรรมเนียมถึง 15% ถ้าถือครองเกิน 6 เดือนแต่โอนภายใน 1 ปี ต้องเสียค่าธรรมเนียม 10% แต่ถ้าถือครองเกิน 1 ปีแต่โอนภายใน 2 ปี ต้องเสียค่าธรรมเนียม 5% ทั้งนี้เพื่อปรามการเก็งกำไรระยะสั้นโดยเฉพาะ ค่าธรรมเนียมนี้เป็นการแบ่งกันจ่ายระหว่างคนซื้อและคนขาย ค่าธรรมเนียมนี้ต้องจ่ายรัฐภายใน 30 วันนับจากวันทำสัญญาซื้อขาย ผู้ฝ่าฝืนต้องเสียค่าปรับ 10 เท่า หรือเท่ากับ 1.5 เท่าของราคาบ้านนั่นเอง การฝ่าฝืนกฎหมายยังถือเป็นการผิดกฎหมายอาญาอีกด้วย
          องค์กรการเงินแห่งฮ่องกงยังประกาศว่า บ้านที่มีราคาเกิน 12 ล้านเหรียญฮ่องกง (47 ล้านบาท) ขึ้นไป จะสามารถได้รับเงินกู้ไม่เกิน 50-60% ของมูลค่า ส่วนบ้านที่มีราคา 8-12 ล้านเหรียญฮ่องกง หรือ 31-47 ล้านบาท จะสามารถกู้เงินได้ไม่เกิน 60-70% แต่ไม่เป็นเงินไม่เกิน 6 ล้านเหรียญฮ่องกง หรือไม่เกิน 23 ล้านบาท  และสำหรับบ้านที่มีราคาต่ำกว่า 31 ล้านบาท ให้กู้ได้ไม่เกิน 70% ของมูลค่าเท่านั้น และสถาบันการเงินไม่อาจอำนวยสินเชื่อเกินกว่า 19 ล้านบาท ยิ่งกว่านั้น สำหรับอสังหาริมทรัพย์อื่นทุกประเภท หรืออสังหาริมทรัพย์ที่ถือครองโดยบริษัทห้างร้านต่าง ๆ ทุกกรณี จะสามารถขอสินเชื่อได้เพียง 50% ของมูลค่าเท่านั้น
          ในขณะที่ฮ่องกงเข้มงวดการอำนวยสินเชื่อมาก แต่ที่ประเทศไทย ยังอำนวยสินเชื่อกันอย่างแทบไม่มีข้อจำกัด หรืออำนวยสินเชื่อถึงราว 100% ของมูลค่า ที่สำคัญมูลค่าที่ประเมินได้ ยังอาจจะสูงกว่ามูลค่าตลาดก็เป็นได้ เพราะมาตรฐานและการควบคุมการประเมินค่าทรัพย์สินในประเทศไทยอาจจะหละหลวมกว่าประเทศไทย แม้ในขณะนี้ราคาบ้านจะเพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 5% ในกรณีกรุงเทพมหานคร ซึ่งต่ำกว่าที่ฮ่องกงมาก แต่ก็แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังตั้งอยู่บนความประมาทเป็นอย่างยิ่งในการควบคุมการอำนวยสินเชื่อ
          การควบคุมการเก็งกำไรนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจของฮ่องกงไม่ถูกกระทบเพราะการลงทุนจากการทำกำไรในระยะสั้น ที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรง และแม้จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรปและสหรัฐอเมริกามาอย่างต่อเนื่อง ตลาดอสังหาริมทรัพย์ฮ่องกงก็ยังมีการเติบโตอย่างเข้มแข็ง

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved