ใครๆ ก็อยากเรียนเก่ง แต่ไม่รู้ต้องทำอย่างไรจึงจะเก่งได้ บางคนบอกพอรู้วิธี แต่หัวไม่ไป บางคนบอกหัวไปได้ แต่ใจไม่ไป ก็เลยเรียนไม่เก่งสักที เราต้องทำอย่างไรจึงจะตื่นรู้มาเรียนเก่ง เรียนเก่งทั้งในยามเป็นนักเรียน และในยามที่เราทำงานกันแล้วก็ตาม
ถ้าเราจะเรียนให้เก่ง เราต้องเข้าใจก่อนว่า
1. คนทั่วไปที่ไม่ได้เรียนเก่งมาแต่เด็ก ก็เก่งได้ พัฒนาตนเองได้ ไม่ใช่อยู่ที่ “พรสวรรค์” ในการเรียนเก่งแต่อย่างไร ดังนั้นเราต้องไม่ท้อ ถ้าเรายังเรียนไม่เก่งในขณะนี้
2. เราจะเก่งได้ต้องตั้งเป้าหมาย ผมเคยไปเรียนภาษาอังกฤษ สัมฤทธิผลของคนเราย่อมแตกต่างกันที่เป้าหมาย คนที่มาเรียนเพราะว่างบ้าง อยากพอพูดภาษาอังกฤษได้บ้าง จะประสบความสำเร็จได้น้อยกว่าคนที่เรียนเพื่อจะไปใช้ศึกษาต่อต่างประเทศเพราะเป็นเป้าหมายที่สูงกว่านั้นเอง
3. บางวิชาเราต้องท่องจำ ผมอ่านตำราจนจำได้ว่าข้อสอบ 100 ข้อ คำตอบอยู่ที่หน้าไหนบ้าง แต่บางวิชา เราต้องทำความเข้าใจ อย่างเรขาคณิต ผมเคยเรียนได้แค่สิบเต็มร้อย แต่เมื่อเข้าใจแล้วก็ได้ร้อยเต็มร้อยเสมอ เป็นต้น
คราวนี้มาดูวิธีการทำให้ตนเองเป็นคนเรียนเก่งนั้น เราจะต้อง
1. ทุ่มเทเวลา เช่น วันหนึ่งนอน 7 ชั่วโมง ทำธุระส่วนตัว-เดินทางอีก 5 ชั่วโมง เวลาที่เหลืออีก 12 ชั่วโมงต้องทุ่มเทให้กับการเรียน ถ้าเราให้เวลากับการเรียนน้อย เราก็ไม่เก่ง
2. ก่อนเรียนต้องอ่านหนังสือหรือศึกษาไปก่อนล่วงหน้า จะได้เข้าใจตอนเรียนมากขึ้น
3. ในห้องเรียน ต้องตั้งใจเรียน อย่าวอกแวก
4. เวลามีคำถามต้องกล้าถามในห้อง หรือเดินไปถามอาจารย์ถึงห้องพักครู
5. ต้องจด short note ในประเด็นสำคัญๆ จากตำราเรียน
6. เมื่อเรียนจบ ก็ต้องอ่านทบทวน
7. ศึกษาเพิ่มเติม เช่น ในกรณีภาษาอังกฤษอาจดูภาพยนตร์ที่ไม่พูดไทย ดูเป็นร้อยๆ รอบ จะจำได้ทั้งคำพูด สำนวน สำเนียง ภาษาท่าทาง หรือในกรณีความรู้ ก็อาจต้องอ่านตำราเปรียบเทียบ ซึ่งจะทำได้ ก็ต้องทุ่มเทเวลานั่นเอง
8. ต้องติวหรือแลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนๆ ในสมัยผมเรียนมัธยมเมื่อ 50 ปีก่อน บางคนจด short note เป็นภาษาจีน กลัวคนอื่นลอก อย่างนี้ไม่ไหว เราต้องตระหนักว่า ความรู้ ยิ่งให้ ยิ่งได้ และ Knowledge is not private property.
ยิ่งกว่านั้น สิ่งที่พึงสังวรก็คือ
1. แม้เราไม่ชอบในบางวิชา ไม่ชอบครูที่สอน ไม่ชอบบรรยากาศในห้องเรียน แต่เราก็ต้องเรียนวิชานั้นให้ได้คะแนนสูงสุดเพื่อให้ได้คะแนนรวมสูงสุด เราอย่ายึดติดกับความชอบหรือไม่ชอบ เราต้องมองผ่านเลยไป
2. อย่าลืมนอนให้พอ ตอนสมัยผมเรียนหนังสือ หรือแม้จนถึงทุกวันนี้ ถ้าผมนอนตอน 3 ทุ่ม ก็จะตื่นตี 4 ขึ้นมาอ่านหนังสือหรือทำงาน นอนวันละ 7 ชั่วโมงก็พอ อย่านอนน้อยกว่านี้ อย่านอนมากจนเกินไป แรกๆ ตอนฝึกทำนั้น แทบจะคลานลุกขึ้นมาจากเตียง แต่ด้วยความมุ่งมั่นจึงฝึกฝนตนเองได้จนถึงทุกวันนี้
3. อย่าไปตกเป็นทาสของยาบำรุง เช่น ซุบไก่ รังนก สมุนไพร เครื่องดื่มชูกำลัง ฯลฯ เราเพียงแต่ทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะ พักผ่อนเพียงพอ ก็ใช้ได้แล้ว ที่สำคัญสิ้นเปลืองไปเปล่าๆ เอาเงินไปทำบุญ ไปช่วยเหลือสังคม หรือไปซื้อความสุขทางด้านอื่นดีกว่า
4. ไม่ต้องไปติวหรือเรียนพิเศษ เพราะนอกจากสอนซ้ำๆ กับที่เราเรียนแล้ว บางทีติวเตอร์ก็พาออกทะเล พูดนอกเรื่อง เสียเวลาไปเสียอีก แต่ในบางเงื่อนไข เราอาจต้องเรียนบ้าง เพราะครูที่สอนๆ ได้ “ห่วย” มาก หรือเป็นการติวเพื่อการสอบบางอย่าง จะได้ทดลองสอบหรือรู้เคล็ดลับในการสอบ เป็นต้น
5. อย่าไปใส่ใจกับแรงกดดันจากการแข่งขัน ในบางครั้งมักมีการท้าทายแข่งขัน ประกวดประชันต่างๆ คนหนุ่มสาวอาจทนไม่ได้ จนทำให้เสียสมาธิในการเรียน ผมยังจำได้ว่าเคยสอบเข้าเทพศิรินทร์ได้ที่หนึ่งของห้อง ทำให้มีแรงกดดันมาก สุดท้ายตกมาเหลือที่ 35 แต่ยังได้คะแนนเกือบ 80% (เพราะเก่งๆ กันทั้งห้อง) เราต้องรู้จักปล่อยวาง และรู้จักยินดีกับผู้อื่น อย่าไปอิจฉาใคร แต่เราต้องมุ่งมั่นเรียนให้ดีที่สุดเป็นสำคัญ
พูดถึงตรงนี้ บางคนก็เลยสงสัยว่า แล้วผมเรียนเก่งแค่ไหน สมัยเรียนมัธยมที่เทพศิรินทร์ ผมเคยได้ที่หนึ่งสาขาวิทยาศาสตร์ เพื่อนๆ ที่สอบเข้าหมอจุฬาฯ อันดับต้นๆ ได้ ก็ยังเคยแพ้-ชนะกันมา ผมเป็นตัวแทนโรงเรียนตอบปัญหาวิทยาศาสตร์ สอบแข่งขันคณิตศาสตร์ ตอนเรียน ม.ศ.4 ก็สอบเทียบเข้าธรรมศาสตร์โดยสอบเข้าได้คะแนนสูงสุดคนหนึ่ง จบปริญญาโทด้วยวิทยานิพนธ์ระดับดีเลิศ รวมทั้งวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ได้ทำงานในโครงการขององค์การสหประชาชาติหลายแห่ง เป็นที่ปรึกษากระทรวงการคลังหลายประเทศ
ถ้าเราเรียนให้เก่ง เราก็จะมีเกียรติประวัติที่มาจากความสามารถ ไม่ใช่การไต่เต้าตามลำดับขั้น ไม่ใช่ได้การ “เลีย” หรือจากการ “เส้น” ใดๆ เปรียบเสมือนดาวฤกษ์ที่มีแสงสว่างในตัวเอง ไม่ใช่ดาวเคราะห์ เราจึงภูมิใจและมีศักดิ์ศรีในตัวเองไปตลอดชีวิต