อีอีซี “เจ๊ง” แน่นอน!?!
  AREA แถลง ฉบับที่ 144/2563: วันพฤหัสบดีที่ 05 มีนาคม 2563

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            อีอีซีหรือระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก “เจ๊ง” แน่นอน  อันนี้ไม่ได้แช่ง ผู้เขียนเองก็ไม่อยากให้ “เจ๊ง” อยากให้ผลักดันให้ดีเพื่ออนาคตของประเทศชาติ แต่ดูจากรูปการแล้ว น่าห่วงและน่ากลัวเหลือเกินว่าจะ “เจ๊ง” หวังว่าข้อเขียนนี้คงไปถึงหูรัฐบาล เผื่อจะหาทางแก้ไขได้ทันท่วงที

            โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Eastern Economic Corridor หรือย่อว่า EEC หรือเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า “อีอีซี” นั้นเป็นโครงการที่รัฐบาลประยุทธ์โดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ตั้งความหวังไว้มาก ว่าจะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้มั่นคงแข็งแรง  ผู้เขียนก็เชียร์อยู่เช่นกัน แต่ก็ได้วิพากษ์โครงการนี้ในหลายจุดต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง เพราะสร้างผลร้ายต่อประเทศชาติในระยะยาว

            เป็นที่รู้กันว่า อีอีซี “มีเป้าหมายหลักในการเติมเต็มภาพรวมในการส่งเสริมการลงทุนซึ่งจะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน. . .ฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง. . .10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย : กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต. . .5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ และการเติม 5 อุตสาหกรรมในอนาคต ซึ่งในตัวโครงการได้มีการออกแบบการขนส่งและการคมนาคมไว้อย่างครอบคลุม. . .รวมถึงให้สิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดให้บรรษัทข้ามชาติจากทั่วทุกมุมโลก. . .แผนการลงทุนของรัฐบาลตามกรอบการลงทุนรวมของภาครัฐและเอกชน ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2560-2564) รวมเม็ดเงินลงทุนกว่า 1.5 ล้านล้านบาท” <1>  ในความเป็นจริง เงินลงทุน 1.5 ล้านล้านบาทนี้ น้อยเกินไป! เพราะเป็นการลงทุนจริงเพียง 6 แสนล้าน อีก 3 แสนล้านหวังว่าภาคเอกชนจะมาลงทุนต่อเนื่องและอีก 6 แสนล้านเป็น “อื่นๆ”

              เรามาดูการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศในเชิงเปรียบเทียบ โครงการแรกคือเมืองปุตราจายาที่มีขนาดแค่ 45.8 ตารางกิโลเมตร (พอๆ กับเขตบางแคของกรุงเทพมหานคร) กลับมีเงินลงทุนถึง 8.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ <2> หรือ 250,000 ล้านบาท  รัฐบาลขาดทุนบักโกรกหรือขาดเงินทุนหมุนเวียนในการพัฒนาโครงการนี้จนกระทั่งต้องออกพันธบัตรรัฐบาลมูลค่าสูงถึง 81,000 ล้านริงกิต <3> (610,000 ล้านบาท)  ยิ่งกว่านั้นนครไซเบอร์จายาที่หวังเป็นศูนย์ไอทีสำคัญของมาเลเซียและของภูมิภาคเอเชียก็ได้ข่าวว่า “เจ๊ง” เหมือนกัน ถึงขนาดออกข่าวว่า “Cyberjaya a failure, think tank study finds” <4>  อีกโครงการหนึ่งที่ยัง “ลูกผีลูกคน” ก็คือโครงการ Iskandar Malaysia ที่รัฐ Jahor Bahru ทางเหนือของสิงคโปร์ที่มีท่าเรือน้ำลึกที่คิดแข่งกับสิงคโปร์ และเมืองใหม่ต่างๆ <5>

            โครงการที่เชิดหน้าชูตาของรัฐบาลมาเลเซียที่มีข่าวว่าไม่ค่อยประสบความสำเร็จเหล่านี้ ทำให้เรานึกถึง “ฝันหวาน” อีอีซีที่ครอบคลุมพื้นที่ถึง 3 จังหวัด ไม่ใช่ใหญ่แค่เขตบางแค และแลดูวางแผนเปะปะ จะประสบความสำเร็จได้จริงหรือ จะเป็นฝันลมๆ แล้งๆ หรือไม่ ยิ่งเมื่อเทียบกับเงินลงทุนในอีอีซีนั้น เม็ดเงินก็น้อยมาก มีเพียงโครงการไม่กี่โครงการที่ทำอยู่แล้วยังล่าช้าอยู่มากเช่นกัน  คนไทยต่างหวังให้โครงการนี้สำเร็จ  แต่ถ้าเกิด “เจ๊ง” ขึ้นมา เราต้องเตรียมทางหนีทีไล่ไว้เหมือนกัน ไม่ใช่หลับหูหลับตาเชื่อข้อมูลด้านเดียวว่าจะภาคตะวันออก “โชติช่วงชัชวาล” ระลอกสอง

            ในปี 2561 ประมาณการว่าเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ในอาเซียนราว 155 พันล้านเหรียญสหรัฐ (4.8 ล้านล้านบาท) โดยราวครึ่งหนึ่ง หรือ 77.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ไปอยู่ที่สิงคโปร์ รองลงมาคืออินโดนีเซีย เวียดนาม ส่วนไทยเป็นอันดับที่ 4 ฟิลิปปินส์เป็นอันดับที่ 5 ใน 10 ประเทศอาเซียน <6>   ขนาดว่าไทยลงทุน “ขายชาติ” ให้ต่างชาติมีสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุนมากมาย ให้เช่าที่ได้ 99 ปี ให้ซื้อห้องชุดได้ 100% ในเขตอีอีซี ก็ยังดึงต่างชาติมาลงทุนได้ยาก แล้วอย่างนี้อีอีซีจะเป็นอย่างไร

            จากข้อมูลล่าสุด (มกราคม-กันยายน 2562) ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (ฺBOI) ของไทยเราเอง ก็ระบุว่าการลงทุนต่างๆ น้อยมากกว่าที่คาดคิดและวางแผนกันไว้  โดยภาวะการส่งเสริมการลงทุนในเดือนมกราคม-กันยายน 2562 มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนมีมูลค่าเงินลงทุน 314,130 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11% การอนุมัติให้การส่งเสริม มีมูลค่าเงินลงทุน 274,340 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 41% ส่วนการออกบัตรส่งเสริม มีมูลค่าเงินลงทุน 271,730 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 36% <7>

            มีข่าวดีและข่าวร้าย ข่าวดีก็คือมีการลงทุนในอีอีซีในมูลค่าสูงสุด โดยในเดือนมกราคม-กันยายน 2562 มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคกลางมากที่สุดจำนวน 539 โครงการ เงินลงทุน 72,870 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23 ของเงินลงทุนทั้งหมด  การลงทุนในภาคตะวันออกมีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากเป็นอันดับ 2 โดยมีคำขอรับการส่งเสริม 389 โครงการ คิดเป็น 33% ของจำนวนโครงการทั้งหมด แต่มีเงินลงทุนมากที่สุด โดยมี

เงินลงทุน 175,180 ล้านบาท คิดเป็น 56% ของเงินลงทุนทั้งหมด  นี่แสดงว่าข่าวร้ายก็คือในพื้นที่อื่นๆ ของทั้งประเทศมีเม็ดเงินไปลงทุนน้อยมาก เครื่องจักรเศรษฐกิจตัวเดียวที่ฝากไว้ก็คืออีอีซี <8>

            BOI รายงานว่า การขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีมีจำนวน 360 โครงการ เงินลงทุน 167,930 ล้านบาท อยู่ในจังหวัดชลบุรี จำนวน 163 โครงการ เงินลงทุน 92,110 ล้านบาท อยู่ในจังหวัดระยอง จำนวน 157 โครงการ เงินลงทุน 57,930 ล้านบาท และอยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 40 โครงการ เงินลงทุน 17,890 ล้านบาท แต่อย่าเพิ่งดีใจเพราะเมื่อเทียบกับปี 2561 ในห้วงเวลาเดียวกันกลับปรากฏว่า มูลค่าการลงทุนในอีอีซีลดลงถึง 23% <9>  นี่แสดงว่า “มนต์เสน่ห์” ของอีอีซีไม่ได้มีอยู่จริงเท่าที่ควร การลงทุนจึงถดถอยลงเป็นอย่างมาก อาการของอีอีซีจึงน่าเป็นห่วง

            อย่างในประเทศญี่ปุ่น การย้ายฐานการผลิตต่าง ๆ ออกจากประเทศญี่ปุ่นไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศไทยในภูมิภาคอาเซียนในช่วงปี พ.ศ.2529-2533 การที่ผลิตภาพด้านอุตสาหกรรมในประเทศลดลง อุตสาหกรรมบริการก็ลดลงเป็นเงาตามตัว กิจกรรมทางเศรษฐกิจในเมืองต่าง ๆ ก็ค่อย ๆ “เหือดแห้ง” ไป  ในอนาคตที่ฐานการผลิตต่าง ๆ ของไทยย้ายออกนอกประเทศ รวมทั้งอุตสาหกรรมจากต่างประเทศก็ย้ายออกไปอยู่เวียดนาม กัมพูชา พม่า ลาว และอินโดนีเซียแล้ว เศรษฐกิจที่เคยเฟื่องฟูในประเทศไทย ก็อาจจะถดถอยลงตามลำดับ

            อาการน่าห่วงของอีอีซีออกมาจากปากของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์เอง <10> ว่าในสถานการณ์บาทแข็งก็ยังไม่มีใครลงทุนหรือซื้อเครื่องจักรเข้ามาจากต่างประเทศ ต่างกำเงินไว้เพราะยังไม่มั่นใจในการลงทุน นี่คืออาการที่สุดจะน่าเป็นห่วงของอีอีซี  เราควรลงทุนแต่ต้องคิดให้รอบคอบ

อ้างอิง
<1> โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) https://pmdu.soc.go.th/eec-2/3986
<2> The journey of Putrajaya — Malaysia’s jewel capital city. The Malaysian Reserve. 31 มกราคม 2562   https://bit.ly/3astaBl
<3>  Putrajaya issues RM81 billion bonds in 1H2019. The Edge Markets. 19 ตุลาคม 2562. https://bit.ly/38tQIUr
<4> Free Malaysia Today (FMT News). 13 กรกฎาคม 2561. https://bit.ly/2un8bz9
<5> Iskandar Malaysia. https://en.wikipedia.org/wiki/Iskandar_Malaysia
<6> ASEAN FDI inflows at record $155B in 2018; PHL fifth. Business World. 9 พฤศจิกายน 2562. https://bit.ly/36cXNqU
<7> สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน. รายงานภาวะส่งเสริมการลงทุนตามนโยบายส่งเสริมการลงทุน มกราคม-กันยายน 2562. https://bit.ly/2RyIKmd
<8> ตามข้อ 7
<9> ตามข้อ 7
<10> “สมคิด” ปลด 3 ชนวนระเบิดเศรษฐกิจ จี้รัฐ-เอกชนลงทุน สู้พิษบาทแข็ง ประชาชาติธุรกิจ 15 มกราคม 2563. https://www.prachachat.net/economy/news-410776

อ่าน 32,547 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved