ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาควรเป็นแบบไหนดี ดร.โสภณฟันธง เสนอเป็นแบบถนนเลียบแม่น้ำฮัน แห่งกรุโซล ประเทศเกาหลีใต้
สองฝั่งแม่น้ำในกรุงโซล มีการก่อสร้างถนนขนาดใหญ่ เป็นถนนยกระดับขนาดใหญ่ขนาด 3-4 ช่องทางจราจรในแต่ละทิศทางหรือ 6-8 ช่องทางจราจรในแต่ละฝั่งของแม่น้ำ เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่ถนน ระบายการจราจรที่คับคั่งในเขตกรุงเทพมหานครได้เป็นอย่างดี เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวม โดยอาจทำเป็นถนนแบบเสียค่าธรรมเนียมผ่านทาง (Tollway) หรือไม่ก็ได้
หากมีความจำเป็นในบริเวณบางส่วนของถนนอาจสร้างล้ำเข้าไปในแน่น้ำเจ้าพระยาบ้าง (โปรดดูตัวอย่างในกรุงโซล) ซึ่งแม่น้ำก็มีขนาดกว้างประมาณ 300-500 เมตรอยู่แล้ว การล้ำเข้าไปในแม่น้ำบ้าง ก็เพื่อความสะดวกในการก่อสร้าง ไม่ได้ทำให้เสียหายต่อสิ่งแวดล้อมของแม่น้ำแต่อย่างใด ในข้อนี้ อย่าไปมองว่าแม่น้ำเป็น “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ที่แตะต้องไม่ได้เลย ต้องดัดแปลงแม่น้ำมารับใช้ผลประโยชน์ของชาติและประชาชน
ประโยชน์ของถนนนี้ยังสามารถเป็นเสมือนเขื่อนไว้ป้องกันน้ำท่วมได้อีกด้วย เพราะมีโอกาสที่น้ำท่วมขังได้แทบทุกปีในเขตกรุงเทพมหานคร การสร้างถนนที่เสมือนเขื่อนนี้ จึงจะเป็นประโยชน์เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามในพื้นที่ส่วนใหญ่อาจเป็นการก่อสร้างแบบยกระดับเช่นเดียวกับทางด่วนทั่วไป นอกจากนี้ในบริเวณใต้ทางด่วน ยังอาจจัดประโยชน์เป็นสวนสาธารณะขนาดเล็กๆ เป็นช่วงๆ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ด้วย