“ลวรณ แสงสนิท” ออกมาบอกว่าใครๆ ก็ทำการแจกเงินสู้ไวรัสโควิด 19 เหมือนไทย “ดร.โสภณ พรโชคชัย” โต้ว่าไม่จริง
ในวันนี้ (6 มีนาคม 2562) มีข่าวว่า “แจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ใครก็ทำ ‘ลวรณ’ ชี้เป็นแค่ 1 ใน 10 มาตรการเยียวยาโควิด” <1> โดยบอกว่า “ปัจจุบันในหลายประเทศที่ประสบปัญหาโควิด-19 ระบาด ก็มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีการแจกเงินเช่นกัน เช่น ฮ่องกง แจกเงินประชาชน 7 ล้านคน คนละ 10,000 ดอลลาร์ฮ่องกง หรือ 40,500 บาท ส่วนสิงคโปร์แจกเงินให้กับประชาชนอายุ 21 ปีขึ้นไป ระหว่าง 100-300 เหรียญสิงคโปร์ ตามระดับรายได้ หรือ 3,000-7,000 บาท ดังนั้น หากไทยจะใช้แนวทางนี้ก็สามารถทำได้”
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์
เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ให้ข้อมูลพร้อมความเห็น ดังนี้:
1. ผู้ที่ร่วมโครงการจะต้องลงทะเบียน ขณะนี้มีข้อมูลผู้มีรายได้น้อยที่เข้าข่ายจากกองทุน กอช. และกองทุน สปสช. . . .คาดว่าจะมีผู้รับประโยชน์ 14 ล้านคน . . .จำนวนเงินกำลังพิจารณาว่าจะแจกเท่าไร ระหว่าง 1,000-2,000 บาท กรณีนี้ผู้ที่ตกสำรวจหรือไม่ได้อยู่ในระบบก็ไม่ได้
2. สำหรับการช่วยเหลือคนมีรายได้ระดับกลาง ช่วยภาระหนี้บัตรเครดิต. . . กรณีนี้คงเป็นการช่วยเจ้าหนี้บัตรเครดิตเป็นสำคัญหรือไม่
3. การแจกเงินนั้นเป็นมาตรการที่ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ตามพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2541 ที่ว่า “เราไม่ควรให้ปลาแก่เขา แต่ควรจะให้เบ็ดตกปลาและสอนให้รู้จักวิธีตกปลาจะดีกว่า” <2>
อย่างไรก็ตามทางราชการอาจเลียนแบบฮ่องกงที่เมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2563 มีมาตรการฮ่องกงแจกเงินประชาชนราว 7 ล้านคน (อายุ 18 ปีขึ้นไป) คนละ 4 หมื่นบาท (10,000 ฮ่องกงดอลลาร์) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวม 71,000 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง จากงบกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมด 120,000 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (490,528 ล้านบาท) โดยรัฐบาลนำเงินทุนสำรองทางการคลังมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ฮ่องกงที่สะสมมาตั้งแต่ช่วงเศรษฐกิจรุ่งเรือง <3> แสดงว่าที่แจกไปยังเล็กน้อย ถือว่า “ขนหน้าแข้งไม่ร่วง” การแจกเงินและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของฮ่องกง จะทำให้เงินในคลังของรัฐบาลติดลบถึง 139,100 ล้านดอลลาร์ฮ่องกงในปีงบประมาณหน้า ซึ่งเป็นงบประมาณขาดดุลครั้งแรกของฮ่องกงในรอบ 15 ปี
แต่ในกรณีประเทศไทยสถานการณ์ต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยในช่วง 2 ปีแรกตั้งแต่ปี 2557-2558 รัฐบาลขาดดุลงบประมาณรวม 500,000 ล้านบาทจากวงเงินงบประมาณ 5,100,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 9.8% ของวงเงินงบประมาณทั้งหมด. . .ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2559-2563 รัฐบาลขาดดุลงบประมาณไป 2,412,280 ล้านบาท จากวงเงินงบประมาณทั้งหมด 14,969,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 16.12% ของวงเงินงบประมาณทั้งหมด โดยช่วง 3 ปีแรกมีการตั้งงบประมาณเพิ่มกลางในช่วงกลางปีงบประมาณอย่างต่อเนื่อง <4>
ดังนั้นการที่รัฐบาลไทยไป “ตามก้น” ฮ่องกงหรือประเทศอื่นใดที่แจกเงิน จึงเป็นนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับกรณีประเทศไทย และจะสร้างปัญหาแก่ประชาชนในการเป็น “ทาสเงินกู้” ในระยะยาวต่อไป
อ้างอิง
<1> ไทยรัฐ. 6 มีนาคม 2563. แจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ใครก็ทำ “ลวรณ” ชี้เป็นแค่ 1 ใน 10 มาตรการเยียวยาโควิด. https://www.thairath.co.th/news/business/1788253
<2> เดลินิวส์ 6 ตุลาคม 2560. พระราชาผู้สอนให้คนดอยจับปลา. https://www.dailynews.co.th/article/602493
<3> ไทยโพสต์ 26 กุมภาพันธ์ 2563. ฮ่องกงแจกเงินประชาชนรายละ 4 หมื่นกระตุ้นเศรษฐกิจ. https://www.thaipost.net/main/detail/58282
<4> Thai Publica. 6 สิงหาคม 2562. เศรษฐกิจดีขึ้นแล้ว ทำไมต้อง “ขาดดุลงบประมาณ” ต่อเนื่องอีก?
https://bit.ly/39uRem9