ค.ว.ย. ย่อมาจาก คิด วิเคราะห์ แยกแยะ ไม่ใช่คำที่กล่าวถึงอวัยวะเพศ นักอสังหาริมทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นนักพัฒนาที่ดิน ที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ นักการเงินอสังหาริมทรัพย์ต้อง ค.ว.ย. ให้เป็น เรามาดูกรณีศึกษาของทศกัณฐ์กันว่า เขาเป็นคนเลวหรือคนเลวคือคนที่ทำให้เขาเป็นคนเลวกันแน่ เราจะได้รู้จักตัดสินใจในการลงทุน การตัดสินใจบนพื้นฐานความหลง ความไม่รู้จริง มักผิดพลาดเสมอ
ทศกัณฐ์ในเรื่องรามเกียรตินั้น ในชาติก่อนมีชื่อว่านนทก และก่อนหน้าเป็นนนทกมีชื่อว่าอนันตพรหม คนทั้ง 3 ซึ่งก็คือคนๆ เดียวกันนี้ถูกมองว่าเป็นคนเลว เป็นยักษ์ เป็นมาร แต่ถ้าคิดให้ดีอีกแง่หนึ่ง เขาถูกขนานนามและป้ายสีโดยพวกเทวดาหรือพวกคนดี รวมไปถึงหัวหน้าของเทวดา ก็มีใจไม่เป็นธรรมไปด้วย ยิ่งได้อ่าน ยิ่งรู้สึกว่าพวกเทพหรือเทวดา ยิ่งรู้จัก ยิ่งน่าขยะแขยง เพราะช่างหลอกลวง เต็มไปด้วยเล่ห์เพทุบาย ในสังคมเราคนที่ทำตัวเป็นเทพ เป็นเทวดา หลอกลวงให้เรานับถือมีมากมาย เราต้องมีสติ อย่าหลงนับถือส่งเดช ต้องยึดหลักกาลามสูตร <1>
ความเจ้าเล่ห์เพทุบายและไร้ศักดิ์ศรีของเหล่าเทพในวรรณคดีรามเกียรติ์ มีดังนี้:
1. “นนทก (ก่อนมาเกิดเป็นทศกัณฐ์) เคยเป็นพรหมมาก่อนมีนามว่าอนันตพรหม แม้จะเป็นพรหมแล้วแต่ก็มีใจอิจฉาริษยารู้สึกไม่พอใจที่พระอิศวรแต่งตั้งให้พรหมรุ่นน้ององค์หนึ่งข้ามหัวตนเอง. . .จึงไม่ไปเข้าร่วมเทวะสมาคมกับพรหมองค์อื่นๆ. . .(และไม่ไปแสดงความยินดีเมื่อพระอิศวรปราบตรีบุรัมได้เยี่ยงเหล่าพรหมอื่น) พระอิศวรจึงให้ตามตัวประกาศต่อหน้าพรหมเทวดานางฟ้าทั้งหลายว่า อนันตพรหมผู้นี้เป็นผู้ที่จิตใจอิจฉาริษยาอวดดีไม่มาเคารพเรา. . .สาปให้อนันตพรหมไปเป็นนนทกมีหน้าที่ตักนํ้าล้างเท้าเทวดาที่จะไปเข้าเฝ้าพระอิศวรบนเชิงบันไดเขาไกรลาส. . .” <2> นี่ถ้าเทวดาอันดับ 1 เยี่ยงพระอิศวรไม่ลำเอียง และไม่แกล้งอนันตพรหม ก็คงไม่เกิดเรื่องปานปลายไปใหญ่
2. ตอนที่ทศกัณฐ์เป็นยักษ์ชื่อนนทก ผู้มีหน้าที่ล้างเท้าให้กับเทวดาทั้งหลาย เทวดาเหล่านั้นก็มักจะเขกหัวลูบหัวนนทกจนหัวล้าน นนทกจึงเกิดความแค้น ทำไมราชาแห่งเทพผู้มีญาณวิเศษเห็นไปถึง 3 โลก จึงปล่อยให้มีการทำย่ำยีทำชั่วเช่นนี้อยู่ใต้บัลลังก์โดยไม่ห้ามปราม มหาเทพมีความเที่ยงธรรมแน่หรือแค่ 2 มาตรฐาน
3. ตอนที่พระนารายณ์ฆ่านนทก ก็จำแลงเป็นนางอัปสร ใช่เล่ห์เหลี่ยม ไม่ได้ต่อสู้กันอย่างลูกผู้ชาย นี่แสดงว่าพวกเทวดาชอบเล่นเล่ห์ ขอให้ได้ชัย ก็ไม่ละอายใจ มุ่งเอาชนะโดยไม่เลือกวิธีที่ใช้
4. พอพระนารายณ์ถูกประณามว่าชนะด้วยเล่ห์ก็ (แสร้ง) ประทานพรให้นนทกเกิดชาติหน้าเป็นทศกัณฑ์ มี10 เศียร 20 กร มีฤทธ์เดชมาก ส่วนตนเองจะไปเกิดเป็นพระรามมนุษย์เดินดิน มี 2 กร เดินทางไปปราบ แต่ที่ไหนได้ กลับมีผู้ช่วยตามไปเพียบ นี่คือลมปากของเทพ แต่จริงๆ แล้วไม่ได้ทำตามสัญญาสักหน่อย
5. พอพระนารายณ์มาจุติ พระอิศวรก็กลับส่งพิเภกมาเกิดเป็นน้องชายจอมทรยศของทศกัณฐ์เสียอีก แล้วอย่างนี้ทศกัณฐ์จะรบชนะได้อย่างไร พิเภกคาบเอาความลับไปบอกฝ่ายตรงข้ามเสียนี่ ยิ่งกว่านั้นพิเภกยังสามารถล่วงรู้ได้ถึง 3 โลก น่าจะบอกทศกัณฐ์ว่าสีดาคือลูกสาวแท้ๆ จะได้ไม่ไปช่วงชิงมาเป็นเมีย แต่ไม่บอก เพื่อให้ได้ตายกันมาก ๆ โดยไม่รู้สึกสำนึกชั่วดี หรือคงนึกสนุกที่เห็น “ฝุ่นเมือง” ตายเป็นเบือ
6. ตอนที่จะฆ่าทศกัณฐ์ พระรามก็ไม่ได้รบกันแบบลูกผู้ชาย หนุมานอาสาไปนำกล่องดวงใจโดยทำทีขอให้ฤาษีโคบุตรช่วยพาไปถวายตัวแก่ทศกัณฐ์ระหว่างนั้นได้ลวงถามเรื่องกล่องดวงใจของทศกัณฐ์ ฤาษีตกหลุมพลางเล่าให้ฟังจนหมดสิ้นก่อนที่จะเข้าไปในลงกา หนุมานก็บอกให้ฤาษีฝากดวงใจไว้กับองคตที่นอกเมือง ฤาษีหลงเชื่อ ต่อด้วยการหลอกขอเป็นบุตรทศกัณฐ์ และสุดท้ายทศกัณฐ์ก็ถูกพระรามแผลงศรจนเสียชีวิต เรียกได้ว่าขอให้ชนะโดยไม่เลือกวิธีที่ใช้ว่าจะมีศักดิ์ศรีหรือไม่ก็ตาม
อันที่จริง ความไร้ศักดิ์ศรีของพวกเทวดานั้น มีให้เห็นมาตั้งแต่ยุคแรกๆ ตอนกวนเกษียรสมุทร ในครั้งนั้นพวกเทวดาก็หลอกใช้ยักษ์ช่วยกวน แล้วมหาเทพก็ยังปลอมตัวเป็นหญิงยั่วยวนให้ยักษ์หลงเสน่ห์จนอดดื่มน้ำอมฤต <3> ส่วนยักษ์ตนที่ได้แอบไปร่วมวงดื่มน้ำอมฤตก็กลับถูกตัดเป็นสองท่อนไปอย่างน่าสงสารยิ่ง โชคดีที่ดื่มน้ำอมฤตแล้ว เลยไม่ตาย (แม้ขาดสองท่อน) เป็นต้น ความชั่วของเทวดานั้นเกิดจากหัวหน้าเทวดา ไม่มีความเป็นธรรม เป็นคนที่เห็นแก่ตัวเสียเอง ก็เลยสร้างเรื่องขึ้นมามากมายจนมีคนตายเป็นเบือ
การใช้เล่ห์ลวง การขาดความเป็นธรรมในวงราชการ ก็อาจทำให้เราได้ข้อมูลที่ผิดพลาด ในแง่ของการหาข้อมูลอสังหาริมทรัพย์เพื่อการตัดสินใจ เราก็ต้องศึกษาให้ชัดเจน จะได้ไม่ถูกต้อง มีข้อมูลถูกต้องเพื่อการตัดสินใจที่ไม่ผิดพลาด ถ้าเราเชื่อคนง่ายเกินไป ไปฟังดรามาเรื่องที่ดินผิดๆ เราก็จะซื้อที่ดินดิบมาเพื่อพัฒนาโครงการในราคาที่เกินจริง ทำให้ต้นทุนสูงโอกาสการทำกำไรจึงน้อย หรือเผลอๆ อาจขาดทุนไปได้
ดังนั้นในทางโลก เราจงอย่าหลงกราบไหว้เทวดาเพราะสักแต่ได้ชื่อว่าเป็นเทพ ถ้าเทพไร้ซึ่งความเป็นธรรมก็แย่กว่ายักษ์มารหรือปีศาจเสียอีก
อ้างอิง
<1> กาลามสูตร. https://bit.ly/39ip2Co
<2> โปรดดู https://bit.ly/31EXmFm และ https://www.youtube.com/watch?v=8-6Erf6Agk8
<3> นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์. กวนเกษียรสมุทร. ประชาไท. 8 มิถุนายน 2557. http://bit.ly/XVn7P5