ผมมั่นใจว่า ศ.ดร.ธงชัยวิเคราะห์ผิดๆ เรื่องอำนาจของรัฐเหนือประชาชน และเป็นการส่งเสริมแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับกฎหมู่มากกว่าผลประโยชน์ของชาติและประชาชน
เมื่อเช้านี้ (17 มีนาคม2563) ผมเพิ่งได้ฟังเทปปาฐกถาของ ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูลแห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกาที่แสดงเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 ท่านเป็นรุ่นพี่ของผมที่ธรรมศาสตร์เมื่อ 44 ปีก่อน (พ.ศ.2519) ท่านพูดว่า “ผู้ปกป้องคุ้มครองประเทศชาติ ("ส่วนรวม") จึงต้องพิทักษ์ ปกป้องป้องสมบัติสาธารณะหรือผลประโยชน์ของส่วนรวมซึ่งเหนือกว่าส่วนบุคคล แม้ว่าการกระทำของรัฐจะกระทบกระเทือนสิทธิ เสรีภาพและทรัพย์สินของเอกชนก็ตาม และทั้งๆ ที่เป็นสิทธิที่ติดตัวมาแต่กำเนิดหรือเป็นทรัพย์สินของบุคคลผู้นั้นมานานแล้วก็ตาม ตัวอย่างชัดเจนที่สุดคือการใช้อำนาจรัฐเข้าจัดการป่าสงวน. . .รัฐบาล สามารถควบคุมป่าและขับไล่ประชาชนได้” ท่านยังพูดถึงว่าสิงคโปร์เข้าไปละเมิดสิทธิ์ของประชาชนทั่วไปในลักษณะต่างๆ
ผมไม่ใช่ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์หรือกฎหมาย แต่ผมขอมองต่างมุมกับ อ.ธงชัย ขอทุกท่านโปรดเปิดใจพิจารณาด้วยปัญญา ดังนี้:
1. รัฐต้องมีสิทธิในการทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของปัจเจกบุคคล ทั้งนี้อาจเป็นแนวคิดที่แตกต่างกันระหว่างแบบฝรั่งเศสที่เน้นปัจเจกบุคคลกับแบบอังกฤษที่เน้นสังคมส่วนรวม อย่างเรื่องป่าไม้ ป่าเป็นสมบัติของแผ่นดินหรือของประชาชนทุกคน ดอยสุเทพก็เป็นของชาวเบตงเช่นกัน อุทยานแห่งชาติตารุเตาก็เป็นของคนหนองคายเช่นกัน แผ่นดินไทยเป็นของคนไทยทุกคนที่ต้องช่วยกันรักษาโดยไม่แบ่งแยก ไม่ใช่ให้พวกที่อยู่ใกล้ๆ เอาไปใช้ประโยชน์แบบมือใครยาว สาวได้สาวเอาโดยไม่ละอายใจ
2. ผมทราบดีว่าถ้าไม่มีการสร้างเขื่อนรัชชประภา (เชี่ยวหลาน) ไม่มีการประกาศอุทยานแห่งชาติเขาสก ป่านนี้ป่าไม้แถวนั้นถูกทำลายโดยการบุกรุกของประชาชนไปหมดแล้ว ไม่เหลือสัตว์ป่า ป่าไม้ให้ลูกหลานไทยจนถึงทุกวันนี้
3. ในการแก้ไขความยากจน ไม่ใช่ว่าเราต้องให้ประชาชนอยู่ตรงนั้นไปชั่วนาตาปี แตะต้องไม่ได้ พวกเขาต้องโยกย้ายออกจากพื้นที่ป่าบ้าง ไม่ใช่ว่าจะต้องปล่อยให้พวกเขาครองป่ากันสบายแฮ เอาสมบัติของแผ่นดินไปแบ่งกัน ทุกวันนี้ชาวบ้านบุกรุกเอาที่ป่าไปทำไร่ข้าวโพด ฯลฯ ปีละนับล้านไร่ (ใหญ่เท่าขนาดของกรุงเทพมหานคร) ทุกปี เรากลับวางเฉย แต่พอจะเอาที่ป่าเสื่อมโทรม 13,000 ไร่ไปสร้างเขื่อนแม่วงก์เพื่อประชาชนส่วนรวม พวกเอ็นจีโอกลับชักดิ้นชักงอกันใหญ่
4. ถ้าเป็นรัฐเผด็จการทรราชสั่งประชาชนโน่นนี่ก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่รัฐที่ อ.ธงชัยคุ้นเคยมาค่อนชีวิตที่ย้ายไปอยู่สหรัฐอเมริกา ควรทำให้อาจารย์ได้ตระหนักรู้บ้างว่า รัฐที่ประชาชนเลือกผู้ว่าการรัฐ นายกเทศมนตรี หัวหน้าตำรวจ ผู้พิพากษา ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินเพื่อการเก็บภาษี ฯลฯ เป็นรัฐที่ต้องมีอำนาจในการจัดการกับสิทธิของปัจเจกบุคคล ถ้า อ.ธงชัยไม่เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (Property Tax) ทรัพย์ของท่านก็อาจถูกขายเพื่อนำเงินมาเสียภาษี และนำเงินส่วนใหญ่ที่ขายได้คืนท่านในฐานะเจ้าของ เจ้าของจะอ้างไม่มีเงินเสียภาษีแต่มีบ้านหลังเบ้อเริ่มตั้งอยู่ในชุมชนไม่ได้
5. อ.ธงชัยอ้างถึงสิงคโปร์ สิงคโปร์เป็นประเทศประชาธิปไตยที่สุดประเทศหนึ่ง อาจารย์เคยได้ยินเรื่องการซื้อเสียงในสิงคโปร์หรือ ถ้าลีเซียนลุงทำรัฐประหาร ประชาชนสิงคโปร์จะยอมหรือ แต่เขาจำกัดสิทธิบางอย่าง เช่น ในอาคารชุดหนึ่งๆ จะให้ชาวบ้านเลือกห้องกันเองไม่ได้ ต้องจับฉลาก ซึ่งจะทำให้คนเชื้อสายจีน อินเดีย และมาเลย์ ต้องอยู่ปะปนกัน ถ้าขืนให้อยู่เป็นกลุ่มๆ ตามใจชอบ ก็คงเกิดความแตกแยกภายในชาติขึ้นมาได้ สิงคโปร์จึงทำถูกต้องแล้ว ความคิดประชาธิปไตยไร้รากจึงไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แท้ที่ทำเพื่อความผาสุกของประชาชน
6. ในมาเลเซีย รัฐบาลสามารถเวนคืนที่สวนยางมาทำนิคมอุตสาหกรรม ให้เอกชนไปเข้าทำประโยชน์ นี่ก็เพื่อชาติเห็นๆ กล่าวคือ การทำสวนยางได้ผลตอบแทนต่ำ การทำนิคมอุตสาหกรรมให้ผลตอบแทนสูงกว่าต่อสังคม สร้างงานได้ด้วย แต่ประเด็นก็คือ เราต้องจ่ายค่าทดแทนการเวนคืนให้เท่ากับราคาตลาดและรวมค่าเสียโอกาสต่างๆ ตามมาตรฐานสากล ไม่ใช่จ่ายแบบต่ำ-ช้า (จ่ายต่ำๆ จ่ายช้าๆ) แบบประเทศไทยในสมัยก่อน
การสอนให้คนเราเน้นความสำคัญของปัจเจกบุคคล โดยไม่สนใจผลประโยชน์ของส่วนรวม เป็นสิ่งที่ดูดีแต่แท้จริงแล้วเป็นการนับถือกฎหมู่ เป็นการทำลายสังคมทางหนึ่ง ทำให้สังคมไม่พัฒนา แคระแกร็นอยู่อย่างนั้น