ช่วยคนเร่ร่อนให้รอดพ้นจากโควิด-19 ด้วย
  AREA แถลง ฉบับที่ 202/2563: วันพฤหัสบดีที่ 09 เมษายน 2563

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

 

            คนเร่ร่อนเป็นกลุ่มคนที่อ่อนไหวที่สุดกลุ่มหนึ่งต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ถ้าไม่ดูแลให้ดี อาจเสี่ยงติดเชื้อไปถึงคนอื่นในกรุงเทพมหานครด้วย

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะประธานมูลนิธิอิสรชนที่ให้การช่วยเหลือคนเร่ร่อนกล่าวว่า ณ ปี 2562 พบผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะหรือคนเร่ร่อน 4,392 คน คาดว่าอาจมีผู้ติดเชื้อ 0.66% หรือประมาณ 29 ราย  อย่างไรก็ตามยังไม่มีการพบผู้ติดเชื้อเลย ทั้งนี้คงเพราะไม่มีการตรวจที่แน่ชัด  อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่พบผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะที่แสดงอาการป่วยหรือเสียชีวิตจากโควิด-19 ในเวลานี้

            การประมาณการนี้มาจากผลการตรวจไวรัสโควิด-19 ของประเทศไทย ปรากฏว่ามีการตรวจแล้ว 71,860 ราย พบผู้ติดเชื้อ 2,369 ราย หรือราว 3.3% ของทั้งหมด ตัวเลขนี้อาจดูสูงผิดปกติ เนื่องจากผู้ที่ไปตรวจอาจมีอาการหรือต้องสงสัย ดังนั้นในกรณีประชาชนทั่วไป อาจประมาณที่เพียง 10% ของอัตราผู้ติดเชื้อ ที่ 3.3% หรือเพียง 0.33%  อย่างไรก็ตามในกรณีคนเร่ร่อน อาจอนุมานให้มากกว่าอัตราปกติของบุคคลทั่วไป 1 เท่า หรือประมาณ 0.66% ของทั้งหมด

            กรุงเทพมหานครและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ควรจัดทำเต็นท์ให้คนเร่ร่อนพักอยู่บริเวณสนามหลวงเป็นการชั่วคราว เพื่อคัดกรอง ตรวจเชื้อ จนกว่ากระแสข่าวเรื่องโรคไวรัสนี้จะทะเลาลง  สำหรับคาใช้จ่ายนั้น คาดว่าจะเป็นเงินคนละ 100 บาทต่อวัน รวมค่าดำเนินการอีก 100 บาทต่อวัน รวมเป็นเงิน 200 บาทต่อวัน สำหรับคนเร่ร่อนในบริเวณดังกล่าวจำนวนประมาณ 800 คน เป็นระยะเวลา 3 เดือน รวมเป็นเงิน 14.4 ล้าน หากรวมค่าเต็นท์และอุปกรณ์ต่างๆ ก็คงไม่เกิน 20 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณเพียงเท่านี้

            มูลนิธิอิสรชนจัดกิจกรรมเลี้ยงอาหารผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะทุกวันอังคารเวลา 18:00 น. ท่านผู้มีจิตศรัทธา สามารถร่วมบริจาคได้ที่ คุณนงลักษณ์ โทร. 02.295.3905 ต่อ 109

 

สถานการณ์คนเร่ร่อนในเขตกรุงเทพมหานคร
            จำนวนคนเร่ร่อนอยู่ทั้งหมด 4,392 คนเฉพาะในกรุงเทพมหานครในปี 2562 นี้ เพิ่มขึ้นกว่าปี  2561 ประมาณ 10%  อันที่จริง  อัตราเพิ่มของจำนวนคนเร่ร่อนค่อนข้างน้อยในช่วงปี 2556-2559 คือเพิ่มขึ้นประมาณ 2.8% - 3.5% เท่านั้น  แต่หลังจากปี 2560 เป็นต้นมา ปรากฏว่าอัตราเพิ่มของคนเร่ร่อน เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากเป็น 5.1%, 10% และ 10% โดยตลอด  กรณีนี้แสดงว่าในช่วง 3 ปีหลังที่ผ่านมา  เศรษฐกิจของประเทศไทยถดถอยลง ไม่ได้ดีตามตัวเลขที่เป็นทางการ  จึงทำให้คนเร่ร่อนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นเด่นชัด



            รายได้ต่อครัวเรือนต่อเดือนในกรุงเทพมหานครในปี 2556 อยู่ที่ 49,191 บาท เทียบกับรายได้ในปี 2561 ที่ 45,779 บาทนั้น ปรากฏว่าลดลงประมาณ 7% ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจที่รายได้ของครัวเรือนแทนที่จะเพิ่มขึ้น แต่กลับลดต่ำลงไปกว่าเดิมอีก และยิ่งเมื่อนำตัวเลขเงินเฟ้อของกรุงเทพมหานครมาปรับค่าเงิน จะพบว่า รายได้ต่อครัวเรือนต่อเดือนในปี 2561 ลดลงเป็นเงิน 33,060 บาท ในขณะที่รายได้ปี 2556 เป็นเงิน 36,549 บาท ตามราคาคงที่ปี 2545 ซึ่งเท่ากับรายได้สุทธิลดลงถึง 10% (เมื่อหักเงินเฟ้อแล้ว) (https://bit.ly/2WCX2n3)
            อย่างไรก็ตามจำนวนคนเร่ร่อนในกรุงเทพมหานครยังน้อยกว่าอีกหลายประเทศ เช่น นครนิวยอร์ก มีประชากร 8.5 ล้านคน แต่มีคนเร่ร่อนถึง 63,000 คน หรืออาจากล่าวได้ว่ามีคนเร่ร่อน 1 คนในจำนวนประชากร 135 คน (https://bit.ly/2J7lAkh)  แต่สำหรับในกรุงเทพมหานคร มีประชากร 5.7 ล้านคน (https://bit.ly/2gKl52e) มีคนเร่ร่อน 4,392 คน หรือจะพบคนเร่ร่อน 1 คนจากประชากร 1,298 คน ซึ่งยังนับว่าน้อยมาก
            ในขณะที่ ณ ปี 2562 มีคนเร่ร่อนอยู่ 4,392 คน ในช่วงปี 2556-2562 อัตราเพิ่มของประชากรคนเร่ร่อนอยู่ที่ 5.75% โดยเฉลี่ย หากใช้อัตรานี้เป็นเกณฑ์ พอถึงปี 2575 หรือในอีก 13 ปีข้างหน้าซึ่งเป็นปีแห่งการครบรอบร้อยปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย จำนวนคนเร่ร่อนน่าจะสูงถึง 9,085 คน หรือเท่ากับเพิ่มขึ้น 2.07 เท่าจากตัวเลขปัจจุบัน  แม้ตัวเลขจะไม่มากนัก  แต่สิ่งที่พึงตระหนักก็คือ จำนวนการเพิ่มขึ้นของคนเร่ร่อนน่าจะสูงกว่านี้ แต่อัตราเพิ่มสุทธิอาจไม่เปลี่ยนมาก เพราะอายุขัยของคนเร่ร่อนค่อนข้างสั้น จึงมีจำนวนคนเร่ร่อนตายจากไปมากเป็นพิเศษ
           อย่างไรก็ตาม โดยที่จำนวนคนเร่ร่อนเพิ่มสูงขึ้นมากในรอบ 3 ปีล่าสุดที่ผ่านมาโดยเฉพาะในช่วง 2 ปีหลังเพิ่มขึ้นถึง 10% ต่อปี  มีความเป็นไปได้ที่ปี 2563 อัตราเพิ่มของคนเร่ร่อนอาจมากกว่า 10% ก็เป็นได้โดยเฉพาะหากเศรษฐกิจของประเทศยังไม่ดีเท่าที่ควร  และก็มีแนวโน้มว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะต่ำมากในปี 2562 และ 2563 ดังนั้นจำนวนคนเร่ร่อนจึงน่าจะเพิ่มขึ้น
            หากใช้ค่าเฉลี่ยของอัตราเพิ่มในรอบ 3 ปีหลัง ณ ค่าเฉลี่ย 8.33% มาปรับใช้กับสำหรับในอีก 13 ปีข้างหน้า คือปี 2575 ซึ่งเป็นปีครบรอยปีคณะราษฎร  จำนวนคนเร่ร่อนก็น่าจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 12,420 คน ในขณะนั้นจำนวนประชากรกรุงเทพมหานครอาจเพิ่มขึ้นเป็น 6.45 ล้านคน (ณ อัตราเพิ่มที่ 1% ต่อปี) ก็จะทำให้สัดส่วนคนเร่ร่อนเป็นทุก 1 คนต่อประชากรกรุงเทพมหานคร 519 คน แทนที่จะเป็น 1 ต่อ 1,298 คนเช่นในปี 2562

อ่าน 1,610 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved