จีนโกหกไทย: เหตุผลไปช่วยอิตาลีสู้โควิด
  AREA แถลง ฉบับที่ 208/2563: วันจันทร์ที่ 13 เมษายน 2563

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            จีนโฆษณาชวนเชื่อว่าช่วยอิตาลีเพราะอิตาลีรับรองสถานะจีนก่อนใคร แถมช่วยจีนก่อนใครคราวแผ่นดินไหวเสฉวน นี่โกหกทั้งเพ จีนไปทำอะไร ยอดตายคนอิตาลีจึงกระฉูด ตอนนี้บางประเทศไม่อยากรับหมอจีนแล้ว จีนปั่นหัวคนไทยแบบนี้เพื่ออะไร น่ากลัวนะ

            หลายคนคงเคยได้รับข้อความนี้ทาง line “ความสัมพันธ์จีนกับอิตาลีอยู่ในระดับที่ดีมาโดยตลอด สมัยที่จีนสิ้นสงครามกลางเมืองใหม่ๆ อิตาลีเป็นชาติแรกๆ ในยุโรปที่รับรองสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นสมาชิก UN แทนที่รัฐบาลพลัดถิ่นบนเกาะไต้หวัน ในช่วงที่จีนประสบเหตุแผ่นดินไหวที่เสฉวนเมื่อปี 2008 อิตาลีก็ส่งบุคลากรไปช่วยฟื้นฟูและสร้างเมืองขึ้นมาใหม่ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องที่กุขึ้นมา จีนจึงต้องตอบแทนอิตาลีในน้ำใจที่แสดงออกมา ตอนนี้ยอดตายรายวันของอิตาลีเริ่มลดลงเรื่อยๆ แล้ว แต่ผู้ติดเชื้อยังต้องใช้เวลา เพราะก่อนหน้าไม่ได้ lockdown อย่างจริงจัง ประกอบกับความไร้วินัย ไม่สวมหน้ากาก กอดจูบ ฯลฯ มันทำให้แพร่กระจายรวดเร็ว แต่ตอนนี้ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเทียบกับสเปนนี่จะชัดว่ายอดการเพิ่มของผู้ป่วยและผู้ตายของอิตาลีแม้จะยังมีแต่ก็เริ่มลดลงเป็นรายวัน

            ข้อความโฆษณาชวนเชื่อข้างต้นเป็นเรื่องเท็จ
            1. เมื่อตรวจสอบข้อมูลประเทศที่รับรอง “สาธารณรัฐประชาชนจีน” ที่จัดตั้งในปี 2492 นั้นพบว่าประเทศตะวันตกที่รับรองจีนเรียกตามลำดับปีคือปี 2593 มีสหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ปี 2497 นอร์เวย์ ปี 2507 ฝรั่งเศส ปี 2513 มีแคนาดาและอิตาลี  นี่แสดงชัดว่าอิตาลีมาหลังประเทศตะวันตกหลายประเทศ <1> และจีนก็เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติสำเร็จในปี 2514 โดยความพยายามอย่างต่อเนื่องของประเทศอัลบาเนียต่างหาก ไม่ใช่อิตาลี <2>

            2. ในกรณีแผ่นดินไหวที่มณฑลเสฉวนเมื่อปี 2551 ปรากฏว่าอิตาลีส่งเงินไปช่วย  2.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ยังน้อยกว่า ไต้หวัน (65.0 ล้าน) ซาอุดิอาระเบีย (60 ล้าน) เยอรมนี (31 ล้าน) ญี่ปุ่น (9.6 ล้าน) ลาว (5 ล้าน) อินเดีย (5 ล้าน) สหรัฐอเมริกา (4.9 ล้าน) ออสเตรเลีย (4.5 ล้าน) นอร์เวย์ (3.9 ล้าน) และไม่มีบันทึกว่าอิตาลีไปช่วย “สร้างเมืองขึ้นมาใหม่” แต่อย่างใด มีแต่เงินบริจาคเท่านั้น  ญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศต่างหากที่ส่งคณะไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากแผ่นดินไหวในครั้งนั้นตั้งแต่แรก

            เป็นสิ่งที่น่าแปลกอย่างหนึ่งก็คือในขณะที่มีข่าวแพทย์ของอิตาลีนับร้อยคนเสียชีวิตในการต่อสู้กับโควิด-19 <4> แต่ไม่เคยมีข่าวแพทย์จีนที่ส่งไปช่วยเสียชีวิตสักรายเดียว ถึงแม้ว่าอัตราการเสียชีวิตจะลดลงบ้างในอิตาลี แต่ก็ยังมากเป็นอันดับที่ 3 โดยมีผู้ติดเชื้อรวม 152,271 คน เสียชีวิตไป 19,468 ราย และขณะนี้ยังมีผู้ป่วยอาการหนักอยู่ 3,381 รายที่มีโอกาสมากที่จะเสียชีวิต <5> จีนช่วยอิตาลีได้มากน้อยแค่ไหนเพราะขนาดแพทย์อิตาลียังตายมากขนาดนี้  ความช่วยเหลือของจีนกำลังได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ เช่น แพทย์ไนจีเรียก็ไม่อยากได้แพทย์จีนมาช่วย <6> โดยตั้งข้อสังเกตว่าทำไมแพทย์จีนไปช่วยอิตาลีแต่ยอดตายกลับพุ่งไม่หยุด

            ในประเทศไทยก็มีสื่อบางฉบับช่วยลงโฆษณาชวนเชื่อคำของจีนที่ทำตัวเป็นพระเอกในการช่วยอิตาลีอยู่บางฉบับเช่นกัน  นี่แสดงถึงความน่ากลัวของการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลจีนในประเทศไทยซึ่งมีพลเมืองที่มีเชื้อสายจีนอยู่เป็นจำนวนมาก  ดูจีนจะแผ่อิทธิพลแบบจักรวรรดินิยมสหรัฐอเมริกา อังกฤษหรือญี่ปุ่นในสมัยเรืองอำนาจในอดีตชอบกล  อันที่จริงทั้งคนไทยและคนไทยเชื้อสายจีนต่างก็ชื่นชมจีน แต่ความสัมพันธ์ต่างๆ ต้องอยู่บนพื้นฐานความเคารพกัน ไม่ใช่การโฆษณาชวนเชื่อ

            คนไทยเชื้อสายจีนบางส่วนพึงแยกแยะระหว่างความรักในเชื้อชาติกับความถูกต้องชอบธรรม  คนจีนรักประเทศจีน แต่ใช่ต้องเห็นด้วยกับผู้ปกครองจีน

อ้างอิง
<1> Wikipedia. Dates of establishment of diplomatic relations with the People's Republic of China. https://bit.ly/2Rs8Rfq
<2> Wikipedia. China and the United Nations. https://bit.ly/3b4aMyH
<3> Wikipedia. Reactions to the 2008 Sichuan earthquake. https://bit.ly/2RwJPf5
<4> โควิด: อิตาลีโศกสลด “หมอ-พยาบาล” สังเวยไวรัสทะลุ 100 ราย ติดเชื้อกว่า 12,000 คน. The Bangkok Insight. 10 เมษายน 2563. https://www.thebangkokinsight.com/331017
<5> สรุปสถานการณ์โควิด-19  ทั่วโลก https://www.worldometers.info/coronavirus
<6> COVID-19: Nigerian doctors oppose Chinese team's visit. สำนักข่าว Anadolu Agency. 6 เมษายน 2563. https://bit.ly/3eeCTNx

อ่าน 8,878 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved