ตามที่อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 3 ท่านสนับสนุน พ.ร.ก.4 แสนล้านพยุงตลาดหุ้นกู้ 4 แสนล้านบาทนั้น แสดงว่าตลาดนี้คงกำลังจะเจ๊ง จึงต้องช่วยอุ้ม ซึ่งแทนที่จะอุ้มคนจนกลับอุ้มคนรวยที่ปกติก็เสียดอกเบี้ยต่ำอยู่แล้ว ไม่น่าจะถูกต้อง ดร.โสภณ จึงขอมองต่างมุม
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ขอวิพากษ์ความคิดของอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 3 ท่านที่สนับสนุน พ.ร.ก.4 แสนล้านพยุงตลาดหุ้นกู้ ดร.โสภณ คุณกล้าเอาหัวเป็นประกันไหม คุณซื้อหุ้นกู้ไว้บ้างไหม ดร.โสภณ กล่าวว่าไม่แปลกที่ทั้ง 3 ท่านเห็นด้วยกับรัฐบาล เพราะทั้ง 3 ท่านก็ช่วยงานรัฐบาลทหารมาก่อน
1. ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ก็ได้เป็นรัฐมนตรีในสมัยรัฐประหาร ตั้งแต่ รบ. พล.อ.สุจินดา พล.อ.สุรยุทธ์ และ พล.อ.ประยุทธ์ มาอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นในช่วงประชาธิปไตยเท่านั้น
2. ดร.ธาริษา วัฒนเกส ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 หลังรัฐประหารปี 2549
3. ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ก็ปรากฏว่าหลังรัฐประหาร 2557 ก็ยังดำรงตำแหน่งมากมายใน ค.ส.ช. จึงถือว่า “เข้าขา” ทำงานด้วยกันมาตลอด
ในทีนี้เป็นคำสัมภาษณ์จากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ <1>
1.
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร: การจัดตั้งกองทุน BSF ของ ธปท. ถือเป็นผลดีต่อระบบการเงินและตลาดหุ้นกู้ เพราะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุนได้อย่างมาก
ดร.โสภณ: ปกติเขาก็กล้าลงทุนอยู่แล้ว ทำไมยังต้องไปช่วยพวกนี้ซึ่งไม่ใช่คนจนอีก
2.
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร: เนื่องจากปัจจุบันหุ้นกู้ถือเป็นตลาดค่อนข้างใหญ่ มีสัดส่วน ถึง 20% ของจีดีพี หากเกิดปัญหาขึ้นมาจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมได้ การจัดตั้งกองทุนดังกล่าวจึงถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดเงิน
ดร.โสภณ: คุณจำไม่ได้หรือ “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน” จะให้รัฐไปอุ้มได้อย่างไร รัฐบาลปล่อยให้ตลาดใหญ่ถึงขนาด 20% แสดงว่าขาดการควบคุมที่ดีใช่ไหม
3.
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร: การที่ ธปท. ออกมาสร้างความมั่นใจให้กับตลาดผ่านการตั้งกองทุนดังกล่าว ถึงที่สุดอาจทำให้ ธปท. ไม่ต้องใช้เงินในการเข้าไปซื้อหุ้นกู้ด้วยซ้ำ เพราะเมื่อตลาดมีความมั่นใจว่ามีคนดูแล ประชาชนก็กล้าที่จะลงทุน ธปท. ก็อาจไม่จำเป็นต้องเข้าไปรับซื้อ
ดร.โสภณ: แล้วถ้าตอนนี้เจ๊งขึ้นมา เพราะดูท่าทางจะไม่ดีตามความกลัวโควิด คุณกล้าเอาหัวเป็นประกันไหม
4.
ดร.ประสาร: “ในภาวะที่ตลาดตราสารหนี้ผันผวนภายใต้วิกฤตโควิด ผมคิดว่า แบงก์ชาติได้ประเมินและพิจารณาแล้วว่า เที่ยวนี้ปัญหามีขนาดใหญ่มากและแบงก์ชาติคงเห็นสัญญาณแล้ว จำเป็นต้องหามาตรการมารองรับให้รวดเร็ว. . .”
ดร.โสภณ: นี่คุณกำลังจะบอกว่าหุ้นกู้กำลังจะเจ๊งใช่ไหม แสดงว่า คุณหวังจะอุ้มนักลงทุนกลุ่มนี้และผู้ปล่อยหุ้นกู้ใช่ไหม คุณเองก็ซื้อหุ้นไว้บ้างไหม
5.
ดร.ประสาร: หลายฝ่ายกังวลว่าอาจไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของธนาคารกลางในอดีต รวมทั้งอาจจะไม่ใช่ภารกิจที่ธนาคารกลางมีความชำนาญ
ดร.โสภณ: โปรดสังวรให้ดี
6.
ดร.ประสาร: “จำกัดการใช้อำนาจไว้เฉพาะช่วงวิกฤตโควิด เท่านั้น และจำกัดวงเงินความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งมีการกำหนดเงื่อนไขเชิงคุณภาพของตราสารหนี้ที่กองทุนจะเข้าไปซื้อ สำหรับข้อห่วงใยเกี่ยวกับความเสี่ยงที่อาจมีการเลือกปฏิบัติ ก็อาศัยหลักความโปร่งใส เปิดเผยข้อมูล รวมทั้งมีการกำหนดหลักเกณฑ์แนวปฏิบัติที่ชัดเจน การดำเนินการก็จะมีมืออาชีพเข้ามาช่วย”
ดร.โสภณ: ทำไมเราต้องไปรับความเสียหายให้นักลงทุนด้วย ช่วยคนจนไม่ดีกว่าเหรอ คุณกะจะทำให้โปร่งใส คุณและเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือได้แค่ไหน กล้าเอาหัวหรือกล้าให้ถูกยึดทรัพย์ถ้าผิดพลาดหรือไม่
7.
ดร.ธาริษา: การสนับสนุนสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ในครั้งนี้ เป็นมาตรการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงิน เป็นมาตรการป้องกันซึ่งจะทำได้ง่ายกว่าและถูกกว่าการปล่อยให้เกิดปัญหาแล้วค่อยเข้าไปแก้ไขในภายหลังมาก
ดร.โสภณ: คุณกำลังจะช่วยนักลงทุน เจ้าของ บมจ. หรือโครงการที่ออกหุ้นกู้ต่างหาก ถ้าสถาบันการเงินหรือบริษัทใหญ่ๆ เจ๊ง แบบปี 2540 ก็ไม่ได้กระทบประชาชนเลย แต่ตอนนี้ประชาชนทั่วไปกำลังจะเจ๊งมากกว่า
8.
ดร.ธาริษา: มีการตั้งคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้เชี่ยวชาญเข้ามาทำงานและกำกับดูแลการทำงาน ต้องกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง การมีกฏเกณฑ์และเงื่อนไขขั้นต่ำที่ชัดเจนโปร่งใสจะเป็นเกราะป้องกัน ธปท.ได้
ดร.โสภณ: ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล้าประกาศให้ยึดทรัพย์หรือไม่หากดำเนินการผิดพลาด อย่ามาพูดถึงความโปร่งใสลอยๆ หรือแบบแค่ลูบหน้าปะจมูกเลย
9.
ดร.ธาริษา: ธปท.จะกำหนดให้ผู้ออกตราสารหนี้ที่จะขอรับการสนับสนุนหาแหล่งเงินจากที่อื่นก่อนอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ซึ่งธนาคารพาณิชย์ผู้ให้สินเชื่อก็จะต้องพิจารณาความเป็นไปได้ของบริษัทผู้ขอกู้อยู่แล้ว
ดร.โสภณ: ถ้าธนาคารยังสนับสนุนครึ่งหนึ่ง แล้ว บมจ.นั้นๆ ออกหุ้นกู้แล้วเจ๊ง ทั้งธนาคารและ บมจ.นั้นๆ ก็ต้องรับผิดชอบเอง จะเอาเงินประชาชนไปอุดหนุนนายทุนอย่างนี้ไม่ได้
10.
ดร.ธาริษา: บริษัทผู้ออกตราสารหนี้ไม่ได้เป็นลูกค้าของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ จึงไม่น่าจะมีความถนัด หรือความรวดเร็วที่จะให้พิจารณาสินเชื่อแก่ลูกค้ากลุ่มนี้
ดร.โสภณ: ดีแล้วที่ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐไม่ควรไปเกี่ยวข้องธนาคารพาณิชย์และ บมจ.ที่ออกหุ้นกู้ต้องรับผิดชอบเอง ไม่ใช่ใช้เงินกู้มาอุดหนุน
11.
ดร.ธาริษา: ประเด็นความกังวลว่า ธปท. จะสูญเสียความเป็นกลาง อาจจะถูกสั่งให้เข้าไปช่วยรายโน้นนี้ หรือเลือกที่รักมักที่ชัง ดิฉันเชื่อว่าคนทำงานในคณะกรรมการไม่ว่าจะมาจาก ธปท. หรือตัวแทนอื่นหรือผู้เชี่ยวชาญเขากลัวติดคุกเพราะเห็นตัวอย่างจากกรณีอดีตผู้บริหารธนาคารของรัฐแห่งหนึ่งที่มีพฤติกรรมปล่อยสินเชื่อตามใบสั่ง นอกจากนี้รัฐจะชดเชยความเสียหายให้ ธปท.ในวงเงินหนึ่ง ซึ่งก็ต้องมีการตรวจสอบก่อนจะชดเชยอยู่แล้ว ถ้าไม่ทำให้ชัดเจนโปร่งใสจะเป็นงานที่เสี่ยงมาก จึงคิดว่าคณะกรรมการต้องป้องกันตัวเองโดยวางกฎเกณฑ์กติกาที่ชัดเจนมีความโปร่งใสอยู่แล้ว”
ดร.โสภณ: ที่ติดคุกเพราะเลือกข้างผิด ไม่ใช่เลือกข้างผู้มีอำนาจล้มล้างระบอบประชาธิปไตยต่างหาก ผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะมาเป็นคณะกรรมการกล้ายอมรับการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายโดยไม่มีการนิรโทษกรรมฝ่ายเดียวอย่างที่เป็นอยู่หรือไม่
อ้างอิง
<1> พ.ร.ก. 4 แสนล.พยุงตลาดหุ้นกู้ สะเทือน “วังบางขุนพรหม” 3อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติชักแถวหนุน โต้ทุกประเด็นดร.โกร่ง. ประชาชาติธุรกิจ 12 เมษายน 2563 https://www.prachachat.net/finance/news-448202