หมอทำงานหนัก แต่อย่าคุยว่าสาธารณสุขไทยดีกว่าชาติอื่น
  AREA แถลง ฉบับที่ 238/2563: วันจันทร์ที่ 27 เมษายน 2563

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            เรามักได้ยินอยู่เนืองๆ ว่าระบบสาธารณสุขไทยได้รับการยกย่องดีกว่าประเทศอื่นในการจัดการกับปัญหาไวรัสโควิด-19  เรื่องนี้ไม่เป็นความจริง  เรายังต้องพัฒนาอีกมาก  แต่บุคลากรทางการแพทย์ไทยทำงานหนัก ต้องยอมรับ ชื่นชมและให้กำลังใจ

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) กล่าวว่าคนไทยควรชื่นชมบุคลากรทางการแพทย์ไทยว่าทำงานหนัก และให้กำลังใจท่านเหล่านี้ แต่เราไม่อาจกล่าวได้ว่าระบบสาธารณสุขไทยดีกว่าเพื่อนอย่างแน่นอน ไทยเรายังต้องพัฒนาอีกมาก เพื่อให้บริการสาธารณสุขที่ดียิ่งๆ ขึ้น


            มักมีการกล่าวอ้างว่าเมื่อเทียบกับสิงคโปร์และมาเลเซีย ประเทศไทยติดเชื้อน้อยกว่ามหาศาล ณ วันที่ 27 เมษายน 2563 ไทยติดเชื้อ 2,931 ราย ขณะที่มาเลเซียติดเชื้อมากกว่าเกือบเท่าตัวคือ 5,780 ราย แลสิงคโปร์ติดเชื้อถึง 13,624 ราย  แต่ความจริงที่ไม่ค่อยมีคนรู้ก็คือ เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2563 มาเลเซียยังติดเชื้อน้อยกว่าไทย  แต่เนื่องจากมีการชุมนุมทางศาสนาที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิดนับหมื่นคนในเดือนมีนาคม ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก  ส่วนสิงคโปร์นั้น 80% ของผู้ติดเชื้อก็คือคนงานต่างชาติในบ้านพักคนงานซึ่งมักเป็นห้องพักปรับอากาศ จึงทำให้การติดเชื้อแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว <2>

            ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราจะ “คุย” ตามแนวนี้ ก็ต้องดูว่า กัมพูชา เมียนมา ลาว และเวียดนามมีผู้ติดเชื้อน้อยกว่าเรามาก  แต่บางท่านก็อาจจะ “แก้ตัว” ว่าประเทศเหล่านี้ติดเชื้อน้อยกว่า แต่ถ้าพิจารณาเฉพาะเวียดนามประเทศเดียว เขาตรวจหาเชื้อพอๆ กับเรา ไทยตรวจหาเชื้อประมาณ 2,551 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ในขณะที่เวียดนามตรวจอยู่ที่ 2,188 คน  แต่ปรากฏว่าเวียดนามมีผู้ติดเชื้อเพียง 270 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเลย  แต่บางท่านอาจจะ “แก้เกี้ยว” บอกได้อีกว่าข้อมูลของเขา “โกหก” ซึ่งก็คงจะเป็นเรื่อง “นานาจิตตัง” ไปแล้ว


            ตัวชี้วัดประกันสุขภาพภาครัฐดูได้จากจำนวนเตียงคนไข้ต่อจำนวนประชากร 1,000 คน สำนักข่าว HFocus กล่าวว่า “จำนวนเตียงใน รพ.ของไทย ยังห่างจากค่าเฉลี่ยสากล” <3>  ประเทศไทยที่มีจำนวนเตียงคนไข้เพียง 1.9 เตียงต่อประชากร 1,000 คน แสดงว่าเรายังต้องปรับปรุงอีกมาก  ดูอย่างญี่ปุ่นที่ติดเชื้อสูงถึง 13,441 คน แต่เขามีจำนวนเตียงถึง 13.21 สูงกว่าไทย 7 เท่าตัว  จากตารางที่ 2 จะเห็นได้ว่าแทบทุกประเทศตะวันตกที่ติดเชื้อมากมายนั้น เขามีระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพดี แต่ไม่ใช่ว่าเอะอะอะไรจะนอนโรงพยาบาลสถานเดียว  แม้แต่สหรัฐอเมริกา อังกฤษ อิตาลี จีน ก็ล้วนมีจำนวนเตียงคนไข้มากกว่าไทยทั้งสิ้น 

            ในทางตรงกันข้าม อินเดียที่มีอัตราการตายจากโควิด-19 เพียง 0.6 คนต่อล้านคน ต่ำกว่าไทยเสียอีก แต่มีเตียงคนไข้เพียง 0.53 คนต่อประชากร 1,000 คน ระบบสาธารณสุขของเขาแย่กว่าไทยมาก แต่ก็ยังมีอัตราการตายต่ำ  ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งคงเป็นไปตามสภาพภูมิอากาศ เพราะในประเทศยุโรปอากาศหนาวเย็นเพราะติดโรคมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 และผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยโดยเฉพาะที่มีโรคประจำตัว  ส่วนในกรณีประเทศไทยและประเทศในแถบร้อน การแพร่ของเชื้อโรคอาจอยู่ในวงจำกัดกว่า จะเห็นได้ว่าไม่ปรากฏข่าวคนเก็บขยะเทศบาล คนเร่ร่อน มอเตอร์ไซค์รับจ้างติดเชื้อหรือเสียชีวิตจากโควิด-19 เลย

            เราต้องเลิกปิดเมืองได้แล้ว การแพร่กระจายของเชื้อโรค (ถ้ามี) คงแทบไม่มี  และหากเราป้องกันด้วยการมีผ้าปิดจมูก พกเยลล้างมือ มีสุขนิสัยที่ดี โอกาสจะติดเชื้อก็คงน้อยมาก ที่ติดเชื้อแล้วก็มีอาการป่วยเล็กน้อยถึง 97% ที่เสียชีวิตก็น้อยมาก  แต่นับวันจำนวนคนจะฆ่าตัวตายเพราะพิษเศรษฐกิจจากโควิด-19 มากกว่าเพราะเชื้อไวรัสนี้



อ้างอิง
<1> Worldmeters. https://www.worldometers.info/coronavirus/
<2> Singapore races to build beds for Covid-19 patients as cases surge. Bangkok Post. 26 APR 2020 AT 14:09. https://bit.ly/2VZCQgm
<3> https://www.hfocus.org/content/2017/04/13730

อ่าน 2,435 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved