วิกฤติโควิด-19 จะทำให้ประชากรไทยฆ่าตัวตายประมาณ 1,066 คน มากกว่าการตายเพราะเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยตรง รวมมูลค่าชีวิตประมาณ 7,995 ล้านบาท มาดูวิธีการคิด
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) คาดการณ์ว่าจำนวนผู้ที่ฆ่าตัวตายเพราะพิษสังคม-เศรษฐกิจอันสืบเนื่องมาจากวิกฤติโควิด-19 นั้น น่าจะมีประมาณ 1,066 คน รวมมูลค่า 7,995 ล้านบาท นับว่ามากกว่าการตายเพราะตัวเชื้อไวรัสโควิด-19 เองเสียอีก ทั้งนี้ประมาณการจากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต ในการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นดังนี้:
1. จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต ณ ปี 2562 มีการฆ่าตัวตาย 4,353 คน หรือ ณ อัตรา 6.64 คนต่อประชากร 100,000 คน
2. ในปี 2563 คาดว่าจำนวนประชากรจะเพิ่มเป็น 65,688,168 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 0.2% จากสถิติที่อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรลดลงตามลำดับ
3. อัตราการฆ่าตัวตายของปี 2563 หากไม่มีวิกฤติโควิด-19 ควรจะเป็น 6.97 คนต่อประชากร 100,000 คน ทั้งนี้พิจารณาจากอัตราการเพิ่มขึ้นในระหว่างปี 2560-62 ที่ 6.03 คน 6.32 คน และ 6.64 คนตามลำดับ ดังนั้นจำนวนประชากรที่ฆ่าตัวตายในปี 2563 ณ อัตรา 6.97 คน (เพิ่มขึ้นเฉลี่ย ณ อัตราทบต้นที่ 4.94%) จึงควรจะเป็น 4,577 คน
4. อย่างไรก็ตามโดยที่มีวิกฤติโควิด-19 น่าจะทำให้อัตราการฆ่าตัวตายมากกว่าปกติ โดยเฉพาะในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา มีข่าวคราวการฆ่าตัวตายเพราะเหตุนี้ถี่มาก ในที่นี้จึงใช้อัตรา 8.59 คนต่อประชากร 100,000 คนเช่นในปี 2542 ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ 2540-2543
5. ดังนั้นจำนวนคนฆ่าตัวตายเพราะวิกฤติโควิด-19 อันส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมของประชากร จึงควรเป็นส่วนต่างระหว่าง 5,643 คน (เพราะมีโควิด-19) ลบด้วย 4,577 คน (ในกรณีปกติที่ไม่มีโควิด-19) หรือ 1,066 คน หากค่าชีวิตของคนๆ หนึ่งเท่ากับกรณีเสื้อเหลือง-เสื้อแดง และกรณี “ผู้ก่อความไม่สงบภาคใต้” คนละ 7.5 ล้านบาท ก็จะเป็นเงิน 7,995 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามจำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ณ วันที่ 5 พฤษภาคม 2563 มี 54 ราย หากประมาณการทั้งปีอาจมีไม่เกิน 150 คน แสดงว่าผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 มีน้อยกว่าผู้ที่ฆ่าตัวตายจากพิษเศรษฐกิจและสังคมอันเนื่องมาจากวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นจากการปิดเมืองเป็นเวลานานนั่นเอง บางท่านอาจตั้งคำถามว่าปิดเมืองแค่ 1-3 เดือนจะส่งผลเสียหายร้ายแรงจนฆ่าตัวตายเลยหรือ ข้อนี้แม้ในยามปกติ ผู้มีรายได้น้อยก็อยู่ในภาวะ “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” หรือ “หาเช้ากินค่ำ” อยู่แล้ว ยิ่งมีโควิด-19 และมาตรการปิดเมือง ความเครียดก็คงยิ่งเพิ่มเป็นเท่าทวี การฆ่าตัวตายเพราะโควิด-19 จึงมีมากเป็นพิเศษในปี 2563 นี้